- จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ โดยวันนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) มีกำหนดออกแถลงการณ์ และเปิดเผยรายงานการประชุมครั้งที่ผ่านมาเกี่ยวกับมาตรการทางการเงิน ซึ่งคาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยและมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QQE) ต่อ เพื่อหนุนเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไป แต่นักลงทุนยังคงจับตาแถลงการณ์ดังกล่าวต่อมุมมองเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่จะประกาศเพื่อคาดการณ์ท่าทีในอนาคตต่อไป ขณะที่สหรัฐฯ มีกำหนดประกาศจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claim) ประจำสัปดาห์ ซึ่งคาดว่าจะประกาศออกมาที่ 850,000 ตำแหน่ง ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 884,000 ตำแหน่ง
- คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0-0.25% และคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่างๆ รวมไปถึงการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่อเนื่องไป เพื่อรักษากลไกในตลาดและสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่ครัวเรือน เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจนกว่าตลาดแรงงานจะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานสูงสุด และอัตราเงินเฟ้อซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ปรับตัวขึ้นสู่ระดับเหนือ 2% ระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะพิจารณาอีกครั้ง นอกจากนี้ Fed ยังคาดการณ์เศรษฐกิจว่า ปี 2020 GDP จะติดลบ 3.7% หดตัวน้อยลงกว่าการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่ติดลบ 6.5% จากการฟื้นตัวที่ดีกว่าคาดของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม Fed เตือนว่ายังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ปี 2021 เศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 4% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ระดับ 5% ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ว่าปี 2020 จะอยู่ที่ระดับ 1.2% และค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สู่ระดับ 1.7%,1.8% และ 2.0% ในปี 2021, 2022 และ 2023 ตามลำดับ สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับอัตราการว่างงานที่คาดการณ์ว่าปี 2020 จะอยู่ที่ระดับ 7.6% และลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 5.5%, 4.6% และ 4.0% ในปี 2021 2022 และ 2023 ตามลำดับ ขณะที่อัตราการว่างงานในระยะยาวจะอยู่ที่ 4.1% ส่งผลให้นักวิเคราะห์มองว่าสภาวะนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจะยังคงอยู่ต่อไปจนกว่าจะปี 2023 หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคาดการณ์อีกครั้ง
- วานนี้สภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นที่พรรค (LDP ครองเสียงส่วนใหญ่ ได้ลงมติให้โยชิฮิเดะ ซูงะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนที่ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีคนเดิมที่ลาออกด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ โดยซูงะให้คำมั่นว่าจะให้รัฐมนตรีจากรัฐบาลเก่าดำรงตำแหน่งต่อครึ่งหนึ่ง เพื่อสานต่อนโยบายของอาเบะ
- วานนี้สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีก (Retail Sales) ประจำเดือนสิงหาคม ขยายตัว 0.6% (MoM) ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ 0.9% (MoM) แต่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 1.0% (MoM) ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน (Core Retail Sales) ขยายตัว 0.7% (MoM) ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.3% (MoM) แต่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 0.9% (MoM) นำโดยกลุ่มสินค้าปลีก, กลุ่มร้านอาหาร, ยานพาหนะและอุปกรณ์ที่ขยายตัวได้ดี สวนทางสินค้ากลุ่มอุปกรณ์กีฬา, งานอดิเรก และกลุ่มค้าปลีกที่ไม่มีหน้าร้านที่หดตัวลงในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการจ้างงานที่เริ่มฟื้นตัวช้าลง ส่งผลให้การบริโภคเริ่มชะลอลงเช่นเดียวกัน
- วานนี้นายแพทย์โรเบิร์ต เรดฟิลด์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าแม้โครงการ Operation Warp Speed ที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามผลักดันให้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ออกมาได้เร็วกว่ากำหนดการปกติ 4-6 ปี จะช่วยลดเวลาการดำเนินการได้ แต่เขายังคาดการณ์ว่าชาวอเมริกันอาจต้องรอถึงไตรมาส 3 ปี 2021 เพื่อที่จะได้รับวัคซีนดังกล่าวอย่างทั่วถึง ก่อนที่จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แม้จะเริ่มแจกจ่ายวัคซีนอย่างเป็นทางการภายในปลายปี 2020 นี้ก็ตาม เนื่องจากการแจกจ่ายดังกล่าวนั้นจะมีจำนวนจำกัด เพื่อกลุ่มที่มีความจำเป็น เช่น บุคลากรด้านสาธารณสุข ก่อนที่จะแจกจ่ายอย่างทั่วถึงต่อไป
สรุปภาวะตลาดวานนี้
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ เมื่อคืนที่ผ่านมา จากที่นักลงทุนยังคงจับตารอแถลงการณ์ของ FOMC ในช่วงเย็นตามเวลาท้องถิ่น ก่อนที่ดัชนีจะปรับตัวลงในช่วงก่อนตลาดปิด จากความกังวลด้านเศรษฐกิจของ FOMC ที่ระบุว่าแม้เศรษฐกิจจะฟื้นได้ดีกว่าคาด แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยที่ยังไม่มีการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมออกมา ประกอบกับการชะลอตัวลงของการจ้างงาน ซึ่งส่งผลให้ยอดค้าปลีกต่ำกว่าคาดการณ์ ก็สร้างแรงกดดันควบคู่ไปด้วย
สหรัฐฯ
- Dow Jones อยู่ที่ 28032.38 เพิ่มขึ้น 36.78 (0.13%)
- S&P 500 อยู่ที่ 3385.49 ลดลง -15.71 (-0.46%)
- Nasdaq อยู่ที่ 11050.47 ลดลง -139.85 (-1.25%)
ยุโรป
- DAX อยู่ที่ 13255.37 เพิ่มขึ้น 37.7 (0.29%)
- FTSE 100 อยู่ที่ 6078.48 ลดลง -27.06 (-0.44%)
- Euro Stoxx 50 อยู่ที่ 3338.84 เพิ่มขึ้น 6.58 (0.2%)
- FTSE MIB อยู่ที่ 19963.99 เพิ่มขึ้น 7.04 (0.04%)
เอเชีย
- Nikkei 225 อยู่ที่ 23475.53 เพิ่มขึ้น 20.64 (0.09%)
- S&P/ASX 200 อยู่ที่ 5956.1 เพิ่มขึ้น 61.3 (1.04%)
- Shanghai อยู่ที่ 3283.92 ลดลง -11.76 (-0.36%)
- SZSE Component อยู่ที่ 13011.28 ลดลง -132.18 (-1.01%)
- China A50 อยู่ที่ 15446.87 ลดลง -128.83 (-0.83%)
- Hang Seng อยู่ที่ 24725.63 ลดลง -7.13 (-0.03%)
- Taiwan Weighted อยู่ที่ 12976.76 เพิ่มขึ้น 131.11 (1.02%)
- SET อยู่ที่ 1293.48 เพิ่มขึ้น 7.3 (0.57%)
- KOSPI อยู่ที่ 2435.92 ลดลง -7.66 (-0.31%)
- IDX Composite อยู่ที่ 5058.48 ลดลง -42.38 (-0.83%)
- BSE Sensex อยู่ที่ 39302.85 เพิ่มขึ้น 258.5 (0.66%)
- PSEi Composite อยู่ที่ 5946.62 ลดลง -71.59 (-1.19%)
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 40.23 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.71 (4.44%)
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ 42.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.65 (4.06%)
- ราคาทองคำ อยู่ที่ 1959.96 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้น 6.05 (0.31%)
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- InfoQuest
- Bloomberg
- Investing
- CNBC
- Reuters