×

นักวิเคราะห์สถาบันลดคาดการณ์ GDP สหรัฐฯ หวั่นสงครามการค้าฉุดเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยปี 2020 บีบ Fed ลดดอกเบี้ยแตะ 0%: 5 ปัจจัยที่นักลงทุนต้องรู้ (13 ส.ค. 2562)

โดย FINNOMENA
13.08.2019
  • LOADING...
  • จับตาตัวเลขเศรษฐกิจรอบสัปดาห์ โดยสัปดาห์นี้มีกำหนดประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของ 3 ประเทศสำคัญ ประกอบไปด้วย 1. ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก รวมไปถึงความวุ่นวายภายในเกาะฮ่องกง ส่งผลให้ตัวเลขขยายตัวอาจลดลงสู่ระดับ 5.8% จากครั้งก่อนหน้าที่ขยายตัว 6.3% 2. ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจากสถาบัน ZEW เยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) โดยครั้งนี้นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ -27.8 ลดลงจากครั้งก่อนหน้าที่ -24.5 ซึ่งเป็นการติดลบ 17 จาก 18 เดือนหลังสุด และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเยอรมนี (GDP) ที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่าจะหดตัว -0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) โดยลดลงจากครั้งก่อนหน้าที่ ขยายตัว 0.4% (QoQ) ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก และการบริโภคในภูมิภาคยุโรปที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว 3. ดัชนียอดขายปลีกพื้นฐานสหรัฐฯ (Core Retail Sales) ซึ่งสะท้อนการบริโภคของประชาชนที่เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา โดยในครั้งนี้นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัว 0.4% เมื่อเทียบรายเดือน (MoM) ทรงตัวจากครั้งก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนภาคการบริโภคที่ยังแข็งแกร่งจากตลาดแรงงานที่ร้อนแรง

 

  • สหรัฐฯ ห้ามหน่วยงานรัฐทำธุรกิจกับ Huawei และบริษัทเทคโนโลยีของจีน โดยคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม โดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดเส้นตายในเดือนสิงหาคม ปี 2563 ให้ผู้รับช่วงสัญญาของรัฐบาลกลาง เลิกทำธุรกิจกับ Huawei ด้วย นอกจากห้ามหน่วยงานรัฐบาลทำธุรกิจกับ Huawei แล้ว สื่อต่างประเทศรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ทำเนียบขาวได้ชะลอการตัดสินใจเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตให้กับบริษัทสหรัฐฯ ที่จะเริ่มทำธุรกิจกับบริษัท Huawei หลังจากจีนได้ระงับการซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ทั้งทำเนียบขาวและกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับรายงานข่าวดังกล่าว

 

  • วิกฤตตลาดหุ้นอาร์เจนตินา โดยดัชนีตลาดหุ้น S&P Merval Index ปรับตัวลงทันที 48% ขณะที่สกุลเงินท้องถิ่นอาเจนตินา เปโซ ด้อยค่าลงราว 30% หลังจากผลโหวตประธานาธิบดีรอบแรก เมาริซิโอ มาครี พ่ายแพ้ต่อ อัลเบอร์โต เฟอร์นันเดซ 32.1% ต่อ 47.7% ตามลำดับ ผลโหวตดังกล่าวสร้างความกังกลต่อการเปลี่ยนแปลงในนโยบายการเมือง ที่จะตามมาด้วยนโยบายชาตินิยมและการแทรกแซงต่อระบบเศรษฐกิจ จากที่เคยเกิดขึ้นในสมัยของ คริสตินา เฟอร์นันเดซ เดอ เคิร์ชเนอร์ ภรรยาของอัลเบอร์โต เฟอร์นันเดซ 

 

  • ฮ่องกงบานปลาย ท่องเที่ยววูบ หลังการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงยืดเยื้อมานานกว่า 2 เดือน ควบคู่ไปกับการยกระดับการชุมนุมและความรุนแรงที่มากขึ้น ส่งผลให้ทางการจีนเริ่มใช้มาตรการที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งการสลายการชุมนุมและการส่งสัญญาณว่าการชุมนุมดังกล่าวอาจมีการก่อการร้าย ส่งผลให้การท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว และร้านค้า รวมถึงธุรกิจทัวร์ลดลงกว่า 50% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมากในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกลุ่มธุรกิจทัวร์เริ่มมีการพิจารณาให้พนักงานหยุดงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายแล้ว ขณะที่ แคร์รี ลัม ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงเตือนว่า การชุมนุมครั้งนี้อาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่าปี 2003 และ 2008

 

  • นักวิเคราะห์เริ่มกังวล ลดคาดการณ์ GDP สหรัฐฯ พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยแตะ 0% ท่ามกลางสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงอีกครั้ง โดยสำนักข่าว CNBC รายงานว่า นักวิเคราะห์สถาบันจำนวนมากเริ่มปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ และคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยแตะระดับ 0% ในปี 2020 โดย Goldman Sacs ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ไตรมาส 4 ลง 0.2% จากระดับ 2.0% เหลือเพียง 1.8% สืบเนื่องจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายระหว่างประเทศต่อกรณีสงครามการค้าที่อาจฉุดเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยตัวในปี 2020 ขณะที่ Bank of America Merrill Lynch มองว่า โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2020 พุ่งขึ้นแตะระดับ 30% แม้โมเดลการทำนายเศรษฐกิจระบุว่ามีโอกาสเพียง 20% ก็ตาม เพราะการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และจีนแบบ ‘ปิงปอง’ ที่ตอบโต้กันไปมา สร้างความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลให้การลงทุนของบริษัทข้ามชาติมีโอกาสขยายตัวยาก ขณะที่ UBS เชื่อว่า Fed จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเดือนกันยายน ธันวาคม และมีนาคม 2020 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ปลายปี 2020 อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 1% ส่วน Morgan Stanley เชื่อว่า Fed จะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนกันยายน หลังจากนั้นในเดือนธันวาคม ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว กดดันให้ Fed จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว สู่ระดับใกล้เคียง 0% ในปลายปี 2020 หากสงครามการค้ายังทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

 

ภาวะตลาดวานนี้

  • เงินทุนไหลกลับเข้าสะสมตราสารหนี้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 1.66% จากระดับ 1.73% จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่ปัจจัยกระตุ้นทวีตัวขึ้น ทั้งจากความรุนแรงของการประท้วงในฮ่องกง และความโกลาหลของตลาดหุ้นในประเทศอาร์เจนตินา โดยดัชนีตลาดหุ้นดิ่งเหว 48% และค่าเงินเปโซลง 30% หลังเมาริซิโอ มาครี แพ้การเลือกตั้งรอบไพรมารีโหวต ซึ่งสร้างความผิดหวังต่อตลาด ความเคลื่อนไหวดังกล่าว สร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้วย โดยดัชนี Dow 30 ปิดที่ -1.02%, S&P 500 ปิดที่ -0.79% และ Nasdaq ปิดที่ -0.63% ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปและเอเชียปรับตัวในทิศทางผสมผสาน

 

ยุโรป

  • Euro Stoxx 50 ปิดที่ 3326.55 ลดลง -7.19 (-0.22%)
  • DAX ปิดที่ 11679.68 ลดลง -14.12 (-0.12%)
  • FTSE 100 ปิดที่ 7226.72 ลดลง -27.13 (-0.37%)
  • FTSE MIB ปิดที่ 20263.83 ลดลง -60.4 (-0.3%)

 

เอเชีย

  • S&P/ASX 200 ปิดที่ 6590.3 เพิ่มขึ้น 5.9 (0.09%)
  • Shanghai ปิดที่ 2814.99 เพิ่มขึ้น 40.24 (1.45%)
  • Hang Seng ปิดที่ 25824.72 ลดลง -114.58 (-0.44%)
  • KOSPI ปิดที่ 1942.29 เพิ่มขึ้น 4.54 (0.23%)
  • *Nikkei 225 วันหยุด*
  • *SET วันหยุด*
  • *BSE Sensex วันหยุด*

 

อเมริกา

  • Dow 30 ปิดที่ 26020.09 ลดลง -267.35 (-1.02%)
  • S&P 500 ปิดที่ 2895.5 ลดลง -23.15 (-0.79%)
  • Nasdaq ปิดที่ 7909.24 ลดลง -49.91 (-0.63%)

 

Commodity

  • ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ 54.76 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.26 (0.48%)
  • ราคาน้ำมันเบรนท์ ปิดที่ 58.59 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.06 (0.1%)
  • ราคาทองคำ ปิดที่ 1517.35 ดอลลาร์/ออนซ์ เพิ่มขึ้น 8.85 (0.59%)

 

finnomena in partnership

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

  • Infoquest
  • Bloomberg
  • Investing
  • CNBC
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising