- จับตา PMI สหรัฐฯ โดยวันนี้มีกำหนดประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจากสถาบัน ISM ของสหรัฐฯ (ISM Manufacturing PMI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจที่สำคัญ บ่งบอกถึงมุมมองทางเศรษฐกิจในระยะ 6 เดือนข้างหน้า โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะประกาศออกมาที่ 51.1 จุด ซึ่งยังอยู่ในแดนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ลดลงจากครั้งก่อนหน้าเล็กน้อยที่ 51.2 จุด จากความกังวลต่อสถานการณ์สงครามการค้าที่ยังไม่มีทีท่าสิ้นสุด
- จีนเดินหน้าฟ้อง WTO กรณีสงครามการค้า กระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์เตรียมดำเนินการฟ้องร้องสหรัฐฯ ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อหากระบวนการยุติข้อพิพาท หลังจากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าต่อจีนที่อัตรา 15% บนสินค้ามูลค่ากว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงที่ผ่านมา โดยการฟ้องร้องครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่าเป็นไปเพื่อการยืนหยัดรักษาสิทธิและผลประโยชน์ตามกฎหมาย และเพื่อปกป้องการค้าแบบทวิภาคี
- ฮ่องกงยังวุ่นวาย แต่นักลงทุนจีนเข้าซื้ออย่างต่อเนื่อง หลังจากที่การประท้วงยืดเยื้อมานานกว่า 3 เดือน ส่งผลให้มีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจฮ่องกงลงอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลถึงผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งกดดันดัชนี Hang Seng ปรับตัวลงกว่า 15% ในช่วงที่ผ่านมา แต่ถึงอย่างนั้น นักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ ยังคงเข้าซื้อหุ้นในฮ่องกงต่อเนื่อง 32 วันทำการ รวมมูลค่ากว่า 9,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากระดับมูลค่าที่ถูกที่สุดนับตั้งแต่ธันวาคมปี 2017 และการเพิกเฉยต่อการประมาณการผลกำไรที่ย่ำแย่
- ผลสำรวจพบว่า บริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นมีการสำรองเงินสดมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ถึง 506.4 ล้านล้านเยน หรือกว่า 4.8 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นเงินทุนสำรองยามวิกฤต หรือเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ถึงกระนั้น นักลงทุนกลับค่อนข้างผิดหวัง เนื่องจากมองว่าควรที่จะนำเม็ดเงินดังกล่าวไปใช้เพื่อการลงทุนให้ธุรกิจขยายตัวอย่างเต็มความสามารถ มากกว่าที่จะสำรองไว้เฉยๆ เช่นนั้น
- เมื่อวานนี้มีการประกาศตัวเลขดัชนี Manufacturing PMI ที่สำคัญ ประกอบไปด้วย 1) ดัชนี Caixin Manufacturing PMI จีน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.4 จุด ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 49.8 จุด โดยสามารถกลับมายืนอยู่ในแดนขยายตัวได้อีกครั้ง 2) ดัชนี Manufacturing PMI ของเยอรมนีอยู่ที่ 43.5 จุด ต่ำกว่าคาดที่ 43.6 จุด และเป็นการอยู่ในแดนหดตัว 8 เดือนต่อเนื่อง ซึ่งสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนในยุโรป จากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด และมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้
ภาวะตลาดวานนี้
- ทั่วโลกยังคงติดตามความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขณะที่ตลาดหุ้นยังคงผันผวนอยู่ในกรอบ สอดคล้องกับดัชนี VIX Index ที่ทรงตัวอยู่ในระดับ 18-19 จุด ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ก่อน แต่สิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือการกลับมาแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดทำจุดสูงสุดใหม่โดย Dollar Index ปรับตัวขึ้นยืนเหนือ 99.2 จุด ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่สวนกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของ Fed ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าครั้งนี้เป็นการแข็งค่าโดยเทียบกับสกุลเงินทั่วโลก เช่น สกุลเงินยูโร อ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2018 หรือสกุลปอนด์ของอังกฤษก็อ่อนค่าทำจุดต่ำสุดใหม่ในรอบ 5 ปี ขณะที่สกุลเงินหยวนของจีนก็อ่อนค่าสู่ระดับ 7.183 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ
- แต่ถึงกระนั้นค่าเงินบาทไทย ยังสามารถทรงตัวอยู่ที่ระดับ 30.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับสกุลเงินเยนของญี่ปุ่น ซึ่งการกลับมาแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐเกิดขึ้นตั้งแต่สหรัฐฯ เริ่มดำเนินการเก็บภาษี 15% ตามแผนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะส่งผลดีต่อกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอีกครั้ง
- Inverted Yield Curve กับมาอยู่ในระดับสูงกว่าติดลบอีกครั้ง หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ต่ำกว่า 2 ปี ถึง -0.045% ล่าสุดกลับมาให้ผลตอบแทนมากกว่าอีกครั้ง ที่ +0.010% ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ต่างกันไม่มาก ดังนั้นยังคงต้องเฝ้าระวังถึงสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย
สหรัฐฯ
- Dow 30 ปิดที่ 26403.28 เพิ่มขึ้น 41.03 (%)
- S&P 500 ปิดที่ 2926.46 เพิ่มขึ้น 1.88 (%)
- Nasdaq ปิดที่ 7962.88 ลดลง -10.51 (%)
ยุโรป
- DAX ปิดที่ 11953.78 เพิ่มขึ้น 14.5 (0.12%)
- FTSE 100 ปิดที่ 7281.94 เพิ่มขึ้น 74.76 (1.04%)
- Euro Stoxx 50 ปิดที่ 3432.54 เพิ่มขึ้น 5.78 (0.17%)
- FTSE MIB ปิดที่ 21451.98 เพิ่มขึ้น 129.08 (0.61%)
เอเชีย
- Nikkei 225 ปิดที่ 20620.19 ลดลง -84.18 (-0.41%)
- S&P/ASX 200 ปิดที่ 6579.4 ลดลง -24.8 (-0.38%)
- Shanghai ปิดที่ 2924.11 เพิ่มขึ้น 37.87 (1.31%)
- SZSE Component ปิดที่ 9569.47 เพิ่มขึ้น 203.79 (2.18%)
- China A50 ปิดที่ 13603.22 เพิ่มขึ้น 109.16 (0.81%)
- Hang Seng ปิดที่ 25626.55 ลดลง -98.18 (-0.38%)
- Taiwan Weighted ปิดที่ 10634.85 เพิ่มขึ้น 16.8 (0.16%)
- SET ปิดที่ 1654.11 ลดลง -0.81 (-0.05%)
- KOSPI ปิดที่ 1969.19 เพิ่มขึ้น 1.4 (0.07%)
- IDX Composite ปิดที่ 6290.55 ลดลง -37.92 (-0.6%)
- PSEi Composite ปิดที่ 7918.53 ลดลง -61.13 (-0.77%)
- *อินเดีย หยุดทำการ*
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ 54.78 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง -0.32 (-0.58%)
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปิดที่ 58.64 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง -0.61 (-1.03%)
- ราคาทองคำ ปิดที่ 1538.1 ดอลลาร์/ออนซ์ เพิ่มขึ้น 8.7 (0.57%)
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing