สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมและธนาคารสมาชิกได้จัดทำมาตรฐานแนวปฏิบัติขั้นพื้นฐานสำหรับการให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าผู้พิการทางสายตาอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ภาคธนาคารมีแนวทางการให้บริการผ่านช่องทางต่างๆ ที่เหมาะสม และมีมาตรฐานที่เท่าเทียมกันในแต่ละธนาคาร เพื่อส่งเสริมให้ผู้พิการได้รับบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ดังนี้
- การยืนยันตัวตน
- อำนวยความสะดวกให้ผู้พิการทางสายตา ใช้บัตรประชาชนเปิดบัญชีและทำธุรกรรมการเงินได้เช่นเดียวกับลูกค้าทั่วไป เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและความเป็นปัจจุบันของข้อมูล ผ่านการตรวจสอบสถานะบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานภาครัฐ
- ในกรณีที่บัตรประชาชนไม่สามารถ Dip Chip ได้ ลูกค้าสามารถใช้เอกสารอื่นประกอบ เช่น ทะเบียนบ้าน ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวคนพิการ
- การใช้พยานในการเปิดบัญชี
- อำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตา โดยให้พนักงานเป็นพยานให้ กรณีที่ผู้พิการไม่สะดวกนำพยานมาเอง ซึ่งพิจารณาตามความประสงค์ของลูกค้าเป็นหลัก
- หากผู้พิการทางสายตาไม่สามารถเขียนหนังสือหรือลงลายมือชื่อ ธนาคารจะพิจารณาใช้วิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดทดแทนการลงลายมือชื่อ เช่น การพิมพ์ลายนิ้วมือหรือทำแกงได (รอยกากบาทหรือรอยขีดเขียน ซึ่งบุคคลทำลงในเอกสารแทนลายมือชื่อ) หรือใช้ตราประทับ โดยให้พยานฝั่งใดก็ได้เป็นพยานรับรองรวม 2 คน
ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติดังกล่าวธนาคารสมาชิกสามารถพิจารณานำไปปรับใช้ได้กับทุกประเภทบัญชี ธุรกรรม บริการ ที่ธนาคารให้บริการเหมือนบุคคลทั่วไป โดยธนาคารอาจพิจารณามาตรการเสริมเพิ่มเติมตามการพิจารณาของแต่ละธนาคาร รวมถึงการยืนยันตัวตนในรูปแบบอื่นๆ ที่คำนึงถึงความสะดวกของลูกค้า
ธนาคารสมาชิกจะเริ่มนำแนวปฏิบัติของสมาคมฯ ไปพิจารณาเพื่อปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในแต่ละธนาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตา ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 เป็นต้นไป โดยลูกค้าสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ช่องทางสื่อสารต่างๆ ของธนาคารสมาชิก หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คอลเซ็นเตอร์ของธนาคารที่ใช้บริการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารออมสิน เปิดตัวเงินฝากดอกเบี้ยขั้นบันได จ่ายสูงสุด 4.5% และ 10% หวังส่งเสริมการออมระยะยาว
- เปิดสถิติ 9 เดือนแรกปี 65 ธนาคาร ไหนครองแชมป์แอปล่มมากที่สุด
- ไม่ตกขบวน! ไทยพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR และ MOR 0.25% พร้อมขยับดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงสุด 0.50%