×

รัก (อย่างเดียว) ไม่ช่วยอะไร เช็กลิสต์เรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ต้องตรวจสอบก่อนตัดสินใจแต่งงาน

โดย MAYBANK KIM ENG
23.08.2020
  • LOADING...
รัก (อย่างเดียว) ไม่ช่วยอะไร เช็กลิสต์เรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ต้องตรวจสอบก่อนตัดสินใจแต่งงาน

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • การเลือกคู่ครอง นอกจากความรักแล้วยังมีอีกหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องครอบครัวของแต่ละฝั่ง ไหนจะเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่กลายเป็นปัญหากวนใจของคู่รักหลายคู่เมื่อตัดสินใจแต่งงานกัน 
  • ฐานะทางการเงินตอนคบหาดูใจกันกับชีวิตหลังแต่งงานมักจะแตกต่างโดยสิ้นเชิง จากว่าที่สามีสายเปย์ ทุกเทศกาลต้องมีเซอร์ไพรส์ แต่พอจบงานอาฟเตอร์ปาร์ตี้แล้ว สิ่งที่ถาโถมเข้ามาอาจกลายเป็นใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต หนี้รถยนต์ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บ้าน ทำให้แทนที่จะร่วมสร้างครอบครัวก็กลับกลายเป็นต้อง ‘ร่วมกันใช้หนี้’ จนเป็นปัญหากัดกร่อนชีวิตรัก
  • ก่อนจะจดทะเบียนสมรสกับใคร สิ่งที่ว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวควรทำคือการตรวจสอบสถานะทางการเงินของคู่สมรส (ภาษาการเงินธุรกิจคือ Due Diligence) นั่นเอง แต่ไม่ใช่แค่ถามว่าเธอมีหนี้อะไรบ้าง ฉันจะได้เตรียมใจช่วยผ่อน เราแนะให้นำหลักการเงินง่ายๆ 2 ข้อนี้มาใช้กันดู

‘รู้งี้’ เป็นคำพูดที่พบได้บ่อยในหลายๆ เรื่องของชีวิต เช่น วงการหุ้น “รู้งี้ซื้อหุ้น ก. ไว้ ป่านนี้เกษียณไปนานแล้ว เป็นมหาเศรษฐีไปเรียบร้อย” หรือ “รู้งี้ Cut Loss (ตัดขาดทุน) หุ้น ข. ตั้งแต่วันนั้นก็คงมีเงินเพียบเลย ไว้ซื้อหุ้นดีๆ ตอน SET Index อยู่ที่ 969 จุด”

 

เช่นเดียวกับเรื่องรักๆ และชีวิตคู่ที่หลายคนอาจเคยคิดว่า ‘รู้งี้’ เพราะการเลือกคู่ครอง นอกจากความรักแล้วยังมีอีกหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องครอบครัวของแต่ละฝั่ง ไหนจะเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่กลายเป็นปัญหากวนใจของคู่รักหลายคู่เมื่อตัดสินใจแต่งงานกัน

 

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าฐานะทางการเงินตอนคบหาดูใจกันกับชีวิตหลังแต่งงานมักจะแตกต่างโดยสิ้นเชิง จากว่าที่สามีสายเปย์ ทุกเทศกาลต้องมีเซอร์ไพรส์ แต่พอจบงานอาฟเตอร์ปาร์ตี้แล้ว สิ่งที่ถาโถมเข้ามาอาจกลายเป็นใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต หนี้รถยนต์ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บ้าน เผลอๆ เจอหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เข้าไปอีก ทำให้แทนที่จะร่วมสร้างครอบครัวกลับกลายเป็นต้อง ‘ร่วมกันใช้หนี้’ จนปัญหากัดกร่อนชีวิตรัก ทำให้คู่รักบางคู่ต้องวางแผนการมีบุตรไว้ลำดับท้ายๆ เนื่องจากภาระหนี้ที่เหนือความคาดหมาย

 

ดังนั้นก่อนจะจดทะเบียนสมรสกับใคร สิ่งที่ว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวควรทำคือการตรวจสอบสถานะทางการเงินของคู่สมรส (ภาษาการเงินธุรกิจคือ Due Diligence) นั่นเอง แต่ไม่ใช่แค่ถามว่าเธอมีหนี้อะไรบ้าง ฉันจะได้เตรียมใจช่วยผ่อน แต่เราแนะให้นำหลักการเงินง่ายๆ 2 ข้อนี้มาใช้กันดู

 

เงื่อนไขแรกจะคล้ายกับสมการพื้นฐานทางบัญชี 101 ที่ว่า ‘สินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน’

 

ตัวอย่างง่ายๆ คือบ้านที่เราอยู่ถือเป็น ‘สินทรัพย์’ เงินกู้ธนาคารเพื่อซื้อบ้านถือเป็น ‘หนี้สิน’ เงินออมเพื่อเกษียณหรือสะสมในเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือว่าเป็น ‘ทุน’

 

โดยหากมูลค่าสินทรัพย์รวมของว่าที่สามีภรรยา เช่น บ้าน รถ หุ้น นาฬิกา ที่ดินเปล่า คอนโดฯ รวมกันแล้วมีมูลค่ามากกว่าภาระหนี้สินโดยรวม อันนี้ถือว่า ‘ผ่าน’ เพราะถ้าหากว่าสินทรัพย์มีมูลค่าน้อยกว่าหนี้รวม แถมเงินเก็บก็คงไม่มี คงหนีไม่พ้นคำว่าหนี้สินล้นพ้นตัว (หนี้มากกว่าสินทรัพย์) แปลว่าคุณว่าที่สามีภรรยากำลังเข้าสู่โหมด ‘ล้มละลาย’ แล้ว กล่าวคือหากนำสินทรัพย์มาขายจนหมดแล้วก็ยังไม่พอใช้หนี้นั่นเอง

 

ยังไม่จบ เพราะแค่ข้อแรกไม่ได้แปลว่าว่าที่คู่ชีวิตของคุณจะมั่นคง เงื่อนไขสำคัญถัดมาของการมีหนี้คือมีกำลังจ่ายแค่ไหน กลายเป็นเงื่อนไขที่สองที่จะต้องพิจารณา

 

โดยอัตราส่วนทางการเงินพื้นฐานที่ใช้วัดคือ Debt Service Coverage (DSCR) ซึ่งเราสามารถนำมาดัดแปลงใช้ได้คือ ‘รายรับประจำต่อเดือนจะต้องมากกว่าภาระหนี้และดอกเบี้ยต่อเดือน’

 

ถ้าในเชิงบริษัท DSCR ต้องมากกว่า 1 เท่าเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจให้หมุนไปได้ แต่ในเชิงครัวเรือน เรามองว่าอย่างน้อยต้องมากกว่า 2.5 เท่าขึ้นไป เพื่อให้เหลือเงินไปออม เที่ยวพักผ่อน เผื่อไว้เจ็บป่วย และใช้จ่ายทั่วไป

 

เช่น หากมีภาระหนี้และดอกเบี้ยเดือนละ 30,000 บาท ก็ควรมีรายได้อย่างน้อย 75,000 บาท แปลว่าหลังชำระหนี้แล้ว คู่รักของคุณจะต้องเหลือเงิน 45,000 บาทเพื่อแบ่งเอาไปออม 20% ของเงินเดือน (15,000 บาท) และยังเหลืออีก 40% (30,000 บาท) สำหรับไปใช้ชีวิตกันสองคน แต่ถ้าหากคุณเจอว่าที่สามีภรรยาที่มี DSCR ระดับ 5-10 เท่าขึ้นไปก็เตรียมตัวสบายได้เลย

 

แต่ขอย้ำว่าอัตราส่วนสำคัญกว่าขนาด เพราะต่อให้ว่าที่สามีภรรยามีเงินเดือน 200,000 บาท แต่ DSCR เท่ากับ 0.7 เท่า อันนี้แปลว่าเขาหรือเธอเริ่มชักหน้าไม่ถึงหลัง อาจต้องใช้ตัวช่วยมาอุดรูรั่ว เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล แต่ต้องแบกอัตราดอกเบี้ยมหาโหด 25% จนการเงินของครอบครัวก็อาจพังได้

 

สุดท้ายอยากบอกว่าการใช้ชีวิตคู่ไม่ใช่การที่เราจะไปเกาะหรือพึ่งพาใคร แต่คือการใช้ชีวิตร่วมกัน ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมสร้างไปด้วยกัน ดังนั้นการเปิดใจ เปิดเผยสถานะการเงินซึ่งกันและกันก่อนแต่งงานถือว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ เพื่อให้กระดุมเม็ดแรกถูกกลัดในจุดเริ่มต้นเดียวกัน แม้ผลลัพธ์ออกมาเป็น ‘ลบ’ ก็ไม่เสียหายอะไร หากจะถอยกลับมาแก้ไขให้พร้อมก่อนจะก้าวเดินเคียงคู่ต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ที่สำคัญต้องดูให้ดี หากเจอแจ็กพ็อต ก้าวผิดไปนิดเดียวก็อาจนำหายนะมาสู่ชีวิตได้ ไม่อยากได้ยินว่า “รู้งี้อยู่เป็นโสดคนเดียว สบายกว่ากันเยอะเลย”

 

คำเตือน: บทความนี้มีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดทุนเท่านั้น มิได้มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนหรือชักชวนให้ผู้อ่านลงทุนในหลักทรัพย์ใดๆ ตามที่ปรากฏในบทความ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

 


 

พิเศษ! เพื่อผู้อ่าน THE STANDARD คลิก https://bit.ly/3gWgAgp รับของที่ระลึก โปรโมชันพิเศษฟรีจากเมย์แบงก์ กิมเอ็ง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising