ชาวฟิลิปปินส์เริ่มควักกระเป๋าเตรียมช้อปปิ้ง หลังอัดอั้นมานาน แบรนด์สินค้าหรู Hermès และ Zara เดินหน้าทำการตลาดสร้างยอดขาย แต่ไม่ใช่ ‘SSI’ รับห่วงเงินเฟ้อ-เศรษฐกิจถดถอย ย้ำปี 2023 ยังเป็นปีที่ต้องระมัดระวัง
Nikkei Asia รายงานว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ชาวฟิลิปปินส์แทบไม่มีการจับจ่ายสินค้ากลุ่มแฟชั่น แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ดูเหมือนทุกคนจะอัดอั้นในการช้อปปิ้ง ทำให้แบรนด์แฟชั่นหรูรายใหญ่อย่าง Hermès และแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น Zara เดินหน้าทำการตลาดอย่างหนัก เพื่อสร้างยอดขายและกำไรในปี 2023 ให้สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เมื่อแบรนด์แฟชั่นชื่อดังลงสนาม NFTs และ Blockchain ไปดูกันว่าราคาจะเป็นเท่าไรกันบ้าง?
- 6 กระเป๋าที่ ‘คุ้มค่าแก่การซื้อ’ เพราะไม่ใช่แค่ถูกใจ แต่ยังเป็นการลงทุนชั้นดีอีกด้วย!
- Louis Vuitton เตรียมเปิดโรงแรมแห่งแรกที่สำนักงานใหญ่ของแบรนด์ในกรุงปารีส
แต่อาจไม่ใช่กลุ่ม SSI Group ที่มีแบรนด์สินค้ากว่า 90 แบรนด์ เช่น Lacoste, Prada และ Gap ที่ยังกังวลว่า ปี 2023 ยังต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูง ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้น รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจส่งผลต่อสินค้าคงคลังของบริษัทในอนาคต
Anthony Huang ประธานบริษัท SSI กล่าวว่า SSI ได้วางแผนลงทุนเปิดร้านใหม่ โดยโฟกัสไปที่แบรนด์หรูอย่าง Balenciaga, Burberry, Cartier และ Givenchy ในปี 2023 พร้อมจะเริ่มทำการตลาดสื่อสารแบรนด์ระดับไฮเอนด์อื่นๆ และกำลังสำรวจกิจการร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ ซึ่งคล้ายกับการเป็นพันธมิตรกับ MUJI ของญี่ปุ่น และผู้ผลิตกระเป๋า Samsonite ของอเมริกา
ประธานบริษัท SSI กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ SSI เชื่อมั่นว่าผลประกอบการจะกลับมาดีกว่าปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิด ขณะที่ผลประกอบการในเดือนมกราคมถึงกันยายนของ มียอดขายสุทธิเพิ่มขึ้น 5.4% อยู่ที่ 285 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 76.2% ในช่วงเวลาเดียวกันจึงมองว่าเป็นอีกปีที่จะสร้างสถิติใหม่ให้กับบริษัท เพราะผู้คนส่วนใหญ่เลือกจับจ่ายในประเทศตัวเอง แม้อาจได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย จากค่าเงินฟิลิปปินส์ที่อ่อนค่าและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีเมื่อเดือนที่ผ่านมา
สำหรับ SSI มีตระกูล Tantoco เป็นเจ้าของซึ่งเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจสินค้าหรู เริ่มวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าสุดหรูใน Rustan และครอบครัวนี้ยังเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ Starbucks ในฟิลิปปินส์
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของภาวะเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภายในประเทศ ในช่วงไตรมาส 3 เติบโต 7.6% โดยได้รับแรงหนุนจากเงินโอนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามา และในเดือนที่ผ่านมาธนาคารโลกรายงานว่าในฟิลิปปินส์มีกลุ่มคนชั้นกลางขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก
แน่นอนว่าได้สร้างอานิสงส์ให้กับตลาดสินค้าหรูในฟิลิปปินส์ ที่คาดว่าตลาดจะสูงถึง 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เห็นได้จากการเติบโตของ Bernard Arnault ผู้ประกอบการแฟชั่นชาวฝรั่งเศสจาก LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton ขึ้นเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าสุทธิ 181 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการจัดอันดับแบบเรียลไทม์ของ Forbes
กระทั่งที่ผ่านมาแบรนด์ต่างประเทศจำนวนมาก สามารถสร้างการเติบโตได้ในฟิลิปปินส์ แม้ในช่วงที่โควิดระบาด เห็นได้ตั้งแต่ IKEA ยักษ์ใหญ่ด้านเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านของสวีเดน ได้เปิดสาขาที่ใหญ่ที่สุดในโลกในกรุงมะนิลา ตามด้วย Louis Vuitton และ Dior ต่างก็เปิดสาขาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามตลาดฟิลิปปินส์ยังต้องการผู้เล่นต่างชาติเข้ามาทำตลาดในประเทศอย่างมาก เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะช่วงต้นปี จึงได้ประกาศผ่อนคลายกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการเข้าประเทศ
อ้างอิง: