เยอรมนีประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อย่างหนัก และวางแผนดึงตัวพยาบาลจากฟิลิปปินส์เพื่ออุดช่องว่างนี้ โดยเยอรมนีอาจเดินตามรอยสหราชอาณาจักรที่พึ่งพิงพยาบาลฟิลิปปินส์เป็นจำนวนมาก
ประเด็นความร่วมมือด้านแรงงานคือหัวข้อสำคัญที่ผู้นำเยอรมนี โอลาฟ โชลซ์ และประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หารือร่วมกัน โดยโชลซ์ย้ำว่าฟิลิปปินส์คือแหล่งบุคลากรที่มีฝีมือ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบสาธารณสุขเยอรมนี และมีความปรารถนาจะเพิ่มความร่วมมือในด้านนี้อย่างเป็นรูปธรรม
ฟิลิปปินส์ถือเป็นแหล่งสำคัญของแรงงานทักษะสูงของเยอรมนี โดยเยอรมนีต้องการตัวเลขพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ขณะที่เงินที่ชาวฟิลิปปินส์ในต่างแดนส่งกลับช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ปัจจุบันมีพยาบาลชาวฟิลิปปินส์ราว 6,000 คนที่ทำงานอยู่ในเยอรมนี ซึ่งจำนวนนี้ราว 2,000 คน มาผ่านโครงการร่วมของรัฐบาลทั้งสองประเทศที่ช่วยเตรียมความพร้อมและหาตำแหน่งงานในเยอรมนีให้
ฟิลิปปินส์คือผู้ส่งออกพยาบาลรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีพยาบาลทำงานอยู่ราว 620,000 คน แต่กว่าครึ่งหนึ่งทำงานอยู่ในต่างประเทศ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีระบุว่า ความร่วมมือนี้จะไม่นำไปสู่ภาวะสมองไหลของฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตาม ฟิลิปปินส์เองก็ขาดแคลนพยาบาลเช่นกัน โดยข้อมูลปี 2022 ชี้ว่า ระบบสาธารณสุขมีตำแหน่งว่างกว่า 106,000 ตำแหน่ง โดยอัตราส่วนพยาบาลต่อคนไข้ที่เหมาะสมคือ 1:12 แต่ในความเป็นจริงกลับอยู่ที่ 1:20 หรือหนักกว่านั้นคือ 1:40
หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเยอรมนีเป็นเพียงหนึ่งในนั้น นอกจากนี้ยังมีสหราชอาณาจักร (มีพยาบาลฟิลิปปินส์ทำงานราว 40,000 คน) สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย และอื่นๆ ที่ต่างแข่งขันกันดึงดูดพยาบาลฟิลิปปินส์ด้วยค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีกว่ามาก
พยาบาลที่ทำงานในระบบของรัฐในฟิลิปปินส์ได้รับค่าตอบแทนราว 36,000 เปโซ (ประมาณ 22,000 บาท) ต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าต่างประเทศมาก ขณะที่ในภาคเอกชนอาจได้ค่าแรงขั้นต่ำเพียง 15,000 เปโซเท่านั้น
นอกจากค่าตอบแทนต่ำแล้ว พยาบาลฟิลิปปินส์ยังต้องทำงานหนักเกินมาตรฐานและดูแลคนไข้จำนวนมากเกินกว่าที่จะปลอดภัย สภาพการทำงานที่ย่ำแย่เช่นนี้ผลักดันให้บุคลากรที่มีฝีมือเลือกไปสร้างอนาคตในต่างประเทศแทน
ภาพ: Basilio H. Sepe / Majority World / Universal Images Group via Getty Images
อ้างอิง: