×

บอร์ด ‘FETCO’ หารือค้านเก็บภาษีขายหุ้นสัปดาห์หน้า ก่อนส่งหนังสือชี้แจงคลัง พร้อมเผยดัชนีเชื่อมั่น นลท. 3 เดือนข้างหน้ายัง ‘ร้อนแรง’

06.01.2022
  • LOADING...
FETCO

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax ว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะนัดประชุมคณะกรรมการ FETCO เพื่อหารือรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว และหากได้ข้อสรุปจะทำเป็นหนังสือในนาม FETCO ชี้แจงไปยังกระทรวงการคลังว่าในมุมมองของ FETCO นั้นคิดเห็นอย่างไร โดยก่อนหน้านี้ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้กันมาหลายรอบและพบว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว

 

ขณะที่ความคิดเห็นส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าช่วงเวลาในการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในปีนี้คงไม่เหมาะสม แม้จะเข้าใจรัฐบาลที่ขาดดุลงบประมาณ แต่หากมองในระยะยาวแล้ว เชื่อว่าจะเกิดผลกระทบต่อสภาพคล่องในตลาดหุ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นการลดประสิทธิภาพของตลาดทุนไทยให้น้อยลงตามไปด้วย 

 

ทั้งนี้ โดยปกติแล้วสภาพคล่องคือจุดขายหลักของตลาดหุ้น และที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยก็มีสภาพคล่องมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน จึงไม่อยากเห็นการออกมาตรการที่จะส่งกระทบต่อสภาพคล่อง และไม่เห็นด้วยที่จะออกมาในปีนี้

 

ไพบูลย์กล่าวว่า หากมีการเก็บภาษีดังกล่าวในปี 2565 จริง กลุ่มนักลงทุนที่จะกระทบมากที่สุดคือนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากต้นทุนในการซื้อขายหุ้น (เทรด) ของนักลงทุนต่างชาติก็สูงกว่า 1 เท่าตัวอยู่แล้ว ซึ่งหากมีการจัดเก็บภาษีเข้ามาจะทำให้ต้นทุนของนักลงทุนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว และจะทำให้มูลค่าการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติลดลง จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนกว่า 40% ของวอลุ่มตลาดรวม ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบถัดมาคือกลุ่มเทรดเดอร์และ Prop Trade ซึ่งจะมีต้นทุนการซื้อขายเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยสรุปเบื้องต้นประเมินว่าจะทำให้มูลค่าการซื้อขายในตลาดหายไปราว 20-30%

 

ขณะเดียวกัน FETCO ได้เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ซึ่งสำรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2564 พบว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 129.53 ปรับตัวลดลง 4.2% จากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง นักลงทุนคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด 

 

รองมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

 

ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มีนาคม 2565) อยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง (ช่วงค่าดัชนี 120-159) ปรับตัวลดลง 4.2% มาอยู่ที่ระดับ 129.53

 

ความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในระดับร้อนแรง ส่วนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในระดับทรงตัว

 

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK)

 

หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)

 

ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

 

ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน

 

ผลสำรวจ ณ เดือนธันวาคม 2564 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนบุคคลปรับลด 5.8% อยู่ที่ระดับ 127.63 และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 19% อยู่ที่ระดับ 121.43 ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติทรงตัวอยู่ที่ระดับ 100.00 และ 140.00 ตามลำดับ

 

ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 SET Index เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,588.19-1,657.62 จุด โดยมีปัจจัยในประเทศที่กระทบการเคลื่อนไหวของดัชนี ได้แก่ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และกระทรวงการคลังประกาศทบทวนการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax ในอัตรา 0.1% 

 

สำหรับมูลค่าธุรกรรมฝั่งขาย โดย SET Index ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 ปิดที่ 1,657.62 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.7% จากเดือนก่อนหน้า และปรับขึ้น 14.4% จากสิ้นปี 2563 

 

ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ 

 

  1. ผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ 

 

  1. สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ หลังจากสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายแบนสินค้าที่บังคับใช้แรงงานจากจีน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยี อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ สั่งให้บริษัทจีนเปิดเผยข้อมูลให้กับหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯ ส่งผลให้บริษัทจีนมีความเสี่ยงเรื่องการถูกถอดออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ สูงขึ้น  

 

  1. ผลจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เช่น ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.1% เป็น 0.25% ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดขนาดของมาตรการ QE เป็นเดือนละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565 ถึง 3 ครั้ง ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศลดวงเงินซื้อพันธบัตร พร้อมคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 

 

ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ 

  1. การรับมือของภาครัฐต่อสถานการณ์การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศ 

 

  1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐแทนมาตรการเดิมที่หมดไป 

 

  1. การประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising