×

นักวิเคราะห์คาด ‘Fed’ เริ่มลด QE เดือน พ.ย. นี้ ห่วงขึ้นดอกเบี้ยช้ากดดันตลาดอยู่ในภาวะ Hang Over

28.08.2021
  • LOADING...
FED

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) แถลงในการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็กสันโฮล รัฐไวโอมิง โดยระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ Fed จะเริ่มลดปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รายเดือนตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ภายในสิ้นปีนี้ แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจต้องใช้เวลาพิจารณาอีกระยะหนึ่ง

  

พาวเวลล์ระบุในถ้อยแถลงดังกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ฟื้นตัวมาถึงจุดที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการสนับสนุนจาก QE มากเท่าเดิมอีกต่อไป ซึ่งหมายความว่า Fed จะเริ่มลดการซื้อคืนพันธบัตรภายในปีนี้ตราบเท่าที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีความคืบหน้า แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยกำลังใกล้เข้ามา

 

“กรอบเวลาและความเร็วในการลดการเข้าซื้อพันธบัตรไม่ใช่การส่งสัญญาณถึงช่วงเวลาที่เราจะปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะขณะที่เงินเฟ้ออยู่ใกล้เคียงระดับเป้าหมายของ Fed ที่ 2% แต่ก็ยังมีช่องว่างเรื่องการจ้างงานที่ยังถูกปิดไม่หมด” พาวเวลล์กล่าว

 

พาวเวลล์กล่าวด้วยว่า การทดสอบของ Fed ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในปัจจุบันเป็นเรื่องชั่วคราว ขณะที่อัตราการจ้างงานก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นชัดเจน ทำให้เขาและเจ้าหน้าที่ Fed คนอื่นๆ เห็นตรงกันว่าจะเริ่มลดความเร็วในการเข้าซื้อพันธบัตรลงตั้งแต่ในการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

 

การส่งสัญญาณของพาวเวลล์แม้ระบุว่าจะเริ่มต้นลดปริมาณ QE ลงก่อนสิ้นปีนี้ แต่จะยังไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ตลาดตีความว่า Fed จะยังใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องต่อไป ซึ่งความชัดเจนในท่าทีของ Fed ช่วยสยบความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับกรอบเวลาในการลดระดับการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ความเคลื่อนไหวของ 3 ดัชนีหลักในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ ในวันศุกร์ (27 สิงหาคม) ส่งท้ายสัปดาห์ขยับพุ่งแรงปิดตลาดในแดนบวกทำสถิติสูงสุดตลอดกาลรอบใหม่

 

โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น 242.68 จุด หรือ 0.69% ปิดที่ 35,455.80 จุด ด้านดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 39.37 จุด หรือ 0.88% ปิดที่ 4,509.37 จุด และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 183.69 จุด หรือ 1.23% ปิดที่ 15,129.50 จุด ซึ่งดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq ได้ขยับทุบสถิติสูงสุดตลอดกาลรอบใหม่เป็นครั้งที่ 4 ในรอบสัปดาห์

 

สำหรับหุ้นที่ร้อนแรงส่งท้ายสัปดาห์คือหุ้นในกลุ่มพลังงาน ยานยนต์ และการเดินทาง แต่สภาวะโดยรวมของตลาดหุ้นอาจจะยังมีความผันผวนเล็กน้อย เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาและเสถียรภาพในตลาดจ้างงาน

 

กระนั้นความเคลื่อนไหวของตลาดที่ปิดท้ายรอบสัปดาห์ในแดนบวก ทำให้ดัชนีหลักของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเตรียมส่งท้ายเดือนสิงหาคมด้วยการขยับปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 1.4% ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 2.6% และดัชนี Nasdaq Composite เพิ่มขึ้น 3.1%

 

ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงจาก 1.34% มาอยู่ที่ 1.30% ส่วนราคาน้ำมันดีดตัวขึ้น 2% ทำสถิติปรับขึ้นมากที่สุดในรอบ 1 ปี โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสงวดส่งมอบเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น 1.32 ดอลลาร์ ปิดที่ 68.74 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้น 1.63 ดอลลาร์ ปิดที่ 72.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

ขณะที่ราคาทองคำในวันศุกร์ (27 สิงหาคม) ขยับแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 4 สัปดาห์ โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 24.30 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,819.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

ปฏิกิริยาตอบรับของตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ส่งผลให้นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักเห็นตรงกันว่าเป็นความสำเร็จเล็กๆ ของพาวเวลล์และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ต้องการคลายความวิตกกังวลของนักลงทุนในตลาด รวมถึงเตรียมความพร้อมของตลาดในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบาย QE ของ Fed

 

เออร์เนสโต รามอส หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนแห่ง BMO Global Asset Management ระบุว่า พาวเวลล์พยายามรับบท ‘สายพิราบ’ ที่ต้องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าบท ‘สายเหยี่ยว’ ที่มุ่งจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบฉับพลันทันที ซึ่งนักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ชอบสายพิราบมากกว่า ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ถ้อยแถลงของพาวเวลล์จะดันให้หุ้นสหรัฐฯ พุ่งปิดบวกทั้งกระดาน

 

อย่างไรก็ตาม รามอสกล่าวว่า แม้ท่าทีของพาวเวลล์และ Fed จะทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตลอดทั้งปีนี้อยู่ในภาวะสดใสคึกคักน่าลงทุน แต่ก็ทำให้มีประเด็นที่น่าวิตกกังวลเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะการยืดเวลาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างไม่มีกำหนดอาจเป็นปัญหาได้ หากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเกิดขึ้นล่าช้าเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการ ‘Hang Over’ (เมาค้าง) ได้

 

ด้าน ไมเคิล อโรนี หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนสำหรับธุรกิจ US SPDR ของ State Street Global Advisors กล่าวชื่นชมพาวเวลล์ที่ทำให้การปรับลด QE เป็นไปอย่างราบรื่น ที่นักลงทุนสามารถเตรียมพร้อมได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปจนสามารถหลีกเลี่ยงภาวะ ‘Tantrum’ (เหตุการณ์ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2013 หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศว่าจะปรับลด QE จนทำให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่)

 

ส่วน อดัม คริสซาฟูลลี ผู้ก่อตั้ง Vital Knowledge กล่าวว่า คำพูดของพาวเวลล์ยังส่งสัญญาณชัดเจนว่า Fed ไม่ได้วิตกกังวลกับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้เพิกเฉยเช่นเดียวกัน สอดคล้องกับความเห็นของ คลิฟฟ์ ฮอดจ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนแห่ง Cornerstone Wealth ที่มองว่าพาวเวลล์ประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าเงินเฟ้อสูงเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นชั่วคราว ทั้งๆ ที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เพิ่งจะเปิดเผยดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล หรือ Personal Consumption Expenditures (PCE) ในเดือนกรกฎาคม ที่เพิ่มขึ้น 4.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และนับเป็นการขยับเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1991

 

แม้ว่าพาวเวลล์จะไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการลด QE แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า Fed จะประกาศกรอบเวลาในการประชุมประจำเดือนกันยายน และเริ่มดำเนินการลดปริมาณการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนในช่วงเดือนพฤศจิกายน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X