ตรงตามความคาดหมายของบรรดานักวิเคราะห์หลายสำนัก เมื่อคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ( Fed ) มีมติเป็นเอกฉันท์ 12-0 ในการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 2.25-2.50%
สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในครั้งนี้ นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ Fed ในยุคปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่เข้มงวดที่สุดของ Fed นับตั้งแต่ที่ Fed กำหนดให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นเครื่องมือสำคัญด้านนโยบายการเงินในช่วงทศวรรษที่ 1990 และทำให้อัตราดอกเบี้ยในขณะนี้อยู่ในระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2018
นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1994 ที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 0.75% สองครั้งติดต่อกัน
ทั้งนี้ แถลงการณ์ของ Fed ยังคงส่งสัญญาณที่จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อสกัดเงินเฟ้อไม่ให้ขยับเพิ่มขึ้น รวมทั้งปรับลดขนาดงบดุล พร้อมชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีปัจจัยบวกอยู่ โดยขณะที่การใช้จ่ายและการผลิตได้ชะลอตัวลง แต่การจ้างงานยังคงแข็งแกร่งและอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม Fed เตือนว่า ภาวะเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีแนวโน้มขยับตัวในระดับสูง ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงปัจจัยไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังมีผลต่อเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ราคาอาหารและพลังงานที่ยังพุ่งสูงเนื่องจากสงครามในยูเครน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวลง
ขณะที่ในส่วนของงานแถลงข่าวภายหลังจากการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งประวัติศาสตร์ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ได้ใช้โอกาสนี้แสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed เพื่อสู้กับวิกฤตเงินเฟ้อในขณะนี้
พาวเวลล์กล่าวอย่างชัดเจนว่าตนเองไม่คิดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในเวลานี้จะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างที่นักวิเคราะห์หลายสำนักกังวลกัน เหตุผลเพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในเวลานี้ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ดำเนินการไปได้ด้วยดี เช่น ตลาดแรงงานที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องสมเหตุสมผลแม้แต่น้อยที่ตลาดจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ท่ามกลางปัจจัยบวกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหล่านี้ได้
สำหรับการตัดสินใจเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed อีก 0.75% ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามล่าสุดที่จะบรรเทาแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงขยับขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี
ความเห็นของพาวเวลล์ในครั้งนี้ยังเป็นการตอกย้ำให้บรรดานักลงทุนคลายความกังวลจากผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่อาจฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิดให้เข้าสู่ภาวะถดถอย โดยพาวเวลล์ย้ำว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะจับตาสถานการณ์และข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ก่อนตัดสินใจเดินหน้าดำเนินการใช้มาตรการใดๆ ต่อไปในอนาคต
ขณะเดียวกัน พาวเวลล์กล่าวอย่างชัดเจนว่า แม้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัดส่วนที่สูงอาจจะจำเป็นในอนาคตอีกครั้ง แต่ในท้ายที่สุดแล้วก็ย่อมมีจังหวะเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จำเป็นต้องชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในที่สุด
ในส่วนที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยแน่นอนหรือไม่ สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานว่า บรรดานักลงทุนทั้งหลายจะได้ข้อมูลตัวเลขอีกครั้งในวันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคมนี้ (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ซึ่งจะมีการเปิดเผยรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
จากการสำรวจของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ในตลาด Wall Street พบว่า ส่วนใหญ่ต่างคาดการณ์ให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้นเล็กน้อย หลังจากที่หดตัวลง 1.6% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เลี่ยงภาวะถดถอยได้อย่างหวุดหวิด โดยบรรดานักลงทุนมักจะตัดสินว่าเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ ด้วยการพิจารณาการเติบโตของเศรษฐกิจรายไตรมาส ที่หากปรับตัวติดลบ 2 ไตรมาสติดกัน ก็แปลได้ว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯ ย้ำชัดเจนว่า GDP เป็นแค่ปัจจัยส่วนหนึ่งเท่านั้นในการพิจารณาภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่พาวเวลล์แนะให้บรรดานักลงทุนเปิดรับรายงานรอบแรกของ GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 2 ด้วยความระมัดระวัง อย่างน้อยก็ให้ฟังหูไว้หู และมองปัจจัยด้านอื่นๆ ของเศรษฐกิจด้วย
สำหรับคำถามของบรรดานักวิเคราะห์ในเวลานี้ก็คือการที่ Fed จะสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยที่ไม่ทำให้เศรษฐกิจบาดเจ็บหนักได้หรือไม่ ซึ่ง เดวิด เคลลี หัวหน้านักยุทธศาสตร์ระดับโลกของ J.P. Morgan Asset Management กล่าวว่า เศรษฐกิจจะเปลี่ยนจากจังหวะร้อนแรงเป็นจังหวะนุ่มนวลได้อย่างราบรื่นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับทั้งสถานะปัจจุบันของเศรษฐกิจและวิธีที่ Fed ดำเนินนโยบายอยู่ในเวลานี้
เคลลีมองว่า Fed ต้องดำเนินการรักษาสมดุลที่ละเอียดอ่อน มิฉะนั้นกลยุทธ์ของ Fed อาจชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงเติบโต และอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวอาจนำไปสู่การสูญเสียความเชื่อมั่นว่า Fed จะสามารถตอบสนองต่อเสถียรภาพด้านราคาและการจ้างงานสูงสุดได้
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับจุดยืนของพาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่กล่าวว่าความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจคือภาวะเงินเฟ้อที่คงอยู่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
ทั้งนี้ ในช่วง 11 รอบของการใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงิน Fed สามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้สำเร็จเพียง 3 ครั้งเท่านั้น และในแต่ละครั้งนั้นอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นสถานการณ์ในเวลานี้จึงทำให้นักวิเคราะห์และนักลงทุนในตลาดบางส่วนอดกังวลใจไม่ได้ว่าการดำเนินการของ Fed จะได้ผลตามที่คาดหวังไว้
นักวิเคราะห์ของ BlackRock ระบุว่า ผลลัพธ์แบบ Soft Landing ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันนี้เผชิญหน้ากับสองปัจจัยที่มีน้ำหนักต่อเศรษฐกิจทั้งคู่ คือระหว่างการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อ โดย BlackRock คาดว่า Fed จะเปลี่ยนแนวทางนโยบายการเงินในปีหน้า เมื่อผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมีความชัดเจนมากขึ้น
ในส่วนของความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น Wall Street เมื่อวานนี้ (27 กรกฎาคม) หลังจากที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ล้วนเป็นไปในทิศทางบวก ที่ดัชนีสำคัญของทั้ง 3 ตลาดต่างปิดตลาดปรับตัวเข้ามาอยู่ในแดนบวก
ทั้งนี้ ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones พุ่งขึ้น 436.05 จุด หรือเกือบ 1.4% ปิดที่ 32,197.59 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.62% ปิดที่ 4,023.61 จุด และดัชนี Nasdaq Composite ขยับขึ้นมาถึง 4.06% ปิดที่ 12,032.42 จุด ซึ่งหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด ท่ามกลางการทยอยเปิดเผยผลประกอบการประจำไตรมาสของบรรดาบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น Alphabet, Microsoft และ Meta
โดยดัชนีหุ้นพุ่งแตะระดับสูงสุดในช่วงบ่ายเมื่อพาวเวลล์ ประธาน Fed กล่าวแสดงความเห็นระหว่างการแถลงข่าวเกี่ยวกับขนาดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนกันยายนว่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยและบริบทแวดล้อมของเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ เป็นหลัก พร้อมส่งสัญญาณบอกใบ้อย่างชัดเจนว่า ในที่สุดแล้ว Fed จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เมื่อสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับเงื่อนไขของ Fed
นอกจากนี้การที่นักลงทุนตอบรับไปในทางบวก ยังได้รับอานิสงส์จากความเห็นของพาวเวลล์ที่ออกมายืนยันหนักแน่นในภายหลังว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะนี้ยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยตามที่หลายฝ่ายกังวล
ทั้งนี้ นักลงทุนบางส่วนยังคงวิตกว่าความพยายามอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการลดอัตราเงินเฟ้อ จะผลักดันให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่หลังจากที่พาวเวลล์กล่าวว่าไม่คิดว่าสหรัฐฯ กำลังอยู่ในภาวะถดถอย และมีหลายด้านของเศรษฐกิจที่ทำงานได้ดี บรรยากาศการซื้อขายในตลาดก็กลับมาคึกคัก
Gargi Chaudhuri หัวหน้ากลยุทธ์การลงทุน iShares ของ BlackRock ประจำทวีปอเมริกา กล่าวว่า เหตุผลที่ทำให้ตลาดโล่งใจได้บ้างเพราะ Fed ยอมรับว่าอาจมีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ
สำหรับทิศทางตลาดหุ้นเมื่อวานนี้เป็นไปในแดนบวกตั้งแต่ช่วงเช้าที่เปิดตลาด โดยได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำ โดยหุ้นของ Alphabet บริษัทแม่ของกูเกิลขยับเพิ่มขึ้นราว 7.7% หลังจากรายงานรายไตรมาสของยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีรายนี้แสดงรายได้ที่แข็งแกร่งจากธุรกิจการค้นหาของ Google
ด้าน Microsoft ขยับขึ้น 6.7% หลังจากรายงานการเติบโตของรายได้ที่เพิ่มขึ้น 40% สำหรับ Azure และบริการคลาวด์ ที่มีกำไรเพิ่มขึ้น ขณะที่หุ้นของ Meta บริษัทแม่ของ Facebook ขยับขึ้นเกือบ 6.6% หุ้นของ Amazon เพิ่มขึ้นมากกว่า 5% และหุ้นของ Apple เพิ่มขึ้น 3.4%
ขณะที่หุ้นในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของสหรัฐฯ ก็ขยับปรับตัวขึ้นมาอยู่ในแดนบวกเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนคลายกังวลเรื่องเงินเฟ้อ โดยหุ้นของ Walmart เพิ่มขึ้นประมาณ 3.8% ขณะที่หุ้นของ Kohl’s, Ross Stores และ Costco เพิ่มมากกว่า 2% ต่อรายการ และกองทุน SPDR S&P Retail ETF เพิ่มขึ้นประมาณ 2.6%
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2022/07/27/economy/fed-meeting-interest-rates-75-basis-points/index.html
- https://www.aljazeera.com/economy/2022/7/27/fed-hikes-rates-by-75-basis-points-for-2nd-straight-month
- https://www.cnbc.com/2022/07/27/fed-chair-jerome-powell-said-he-does-not-think-the-us-is-currently-in-a-recession.html
- https://www.cnbc.com/2022/07/26/stock-futures-tick-up-ahead-of-key-fed-decision.html