×

Fed เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ตามคาด ดันดอกเบี้ยสหรัฐฯ พุ่งสูงสุดในรอบ 22 ปี ชี้ยังมีโอกาสขึ้นอีกครั้งในเดือน ก.ย.

27.07.2023
  • LOADING...
Fed ขึ้นดอกเบี้ย

ผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ระหว่างวันที่ 25-26 กรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า โดยคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ พุ่งแตะระดับ 5.25-5.50% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 22 ปี

 

นอกจากจะเป็นการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 11 นับตั้งแต่เริ่มวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนมีนาคมปี 2022 ตามที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้แล้ว เจ้าหน้าที่ของ Fed ยังชี้ความเป็นไปได้ถึงโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งภายในปีนี้ 

 

แถลงการณ์ของ Fed ระบุว่า แม้การชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนักธุรกิจชาวอเมริกัน แต่ระดับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุดยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายของเฟดที่ 2% อีกทั้ง Fed ยังคงให้น้ำหนักความสำคัญอย่างมากต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมากกว่า ดังนั้นจึงตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคม หลังจากที่ไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งก่อน

 

ก่อนหน้านี้ บรรดานักลงทุนต่างคาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมรอบนี้ และจะยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยคงอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า

 

ทั้งนี้ ในระหว่างการแถลงข่าวภายหลังจากการประชุม FOMC เสร็จสิ้น เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed เน้นย้ำว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งยังคงเป็นทางเลือก หากว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเดินหน้าเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งจนรักษาแรงกดดันด้านราคา ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 

 

พาวเวลล์ชี้ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้ยังจำเป็นต้องมีการตอบสนองที่เหมาะสมสำหรับนโยบายการเงิน นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ในเวลานี้ ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ ‘สูงมาก’

 

ดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditures Price Index) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ Fed นิยมนำมาใช้อ้างอิงปรับเพิ่มขึ้น 3.8% ในเดือนพฤษภาคมจากปีก่อนหน้า แต่ลดลงจาก 4.3% ของเดือนเมษายน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานลดลงเหลือ 4.6% จาก 4.7% ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์จะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ 

 

พาวเวลล์ยอมรับว่า อัตราเงินเฟ้อที่ยังสูง ทำให้ Fed ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก หากต้องการให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญหน้ากับภาวะถดถอยแบบละมุนละม่อม (Soft Landing) ก่อนระบุว่า ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ Fed มองเห็นสัญญาณการเติบโตที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคาดว่าสัญญาณการเติบโตที่ช้าลงดังกล่าวน่าจะเริ่มขึ้นในปลายปีนี้ 

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ Fed ส่วนใหญ่เชื่อว่าการเติบโตที่ชะลอตัวลงดังกล่าวจะไม่นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกต่อไป โดยพาวเวลล์ยืนยันว่า Fed ยังคงมี ‘กระสุน’ ในการจัดการ ทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ Fed กำหนด โดยไม่กระทบต่อตลาดงานในปัจจุบัน 

 

มุมมองของเจ้าหน้าที่ Fed ที่มีต่อเศรษฐกิจเปลี่ยนไปเป็นแง่ลบน้อยลงนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับบรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาแสดงความเห็นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทั้งหมดชี้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นความยืดหยุ่นต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ได้ค่อนข้างดี 

 

ขณะเดียวกัน นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ในเวลานี้ต่างต้องการสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่ Fed ได้บอกใบ้ไว้ว่าจะมีโอกาสปรับขึ้นได้อีก หากว่าอัตราเงินเฟ้อมีความยืดหยุ่นมากกว่าที่คาดไว้ โดยช่วงเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายนั้นยังคงเป็นเครื่องหมายคำถาม ทำให้นักวิเคราะห์มองว่ามีความเป็นไปได้ว่าการปรับขึ้นครั้งที่สองจะไม่เกิดขึ้น และ Fed ตัดสินใจที่จะก้าวไปสู่ขั้นต่อไปของการต่อสู้เงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยไว้จนกว่าเงินเฟ้อจะพ่ายแพ้ 

 

พาวเวลล์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ Fed ไม่ได้ตัดสินใจที่จะพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่าจะอยู่ในการประชุมครั้งต่อไปครั้งใด เพียงแต่เห็นตรงกันว่ามีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งภายในปีนี้ โดยการตัดสินใจในอนาคตจะขึ้นอยู่กับข้อมูล ซึ่ง Fed จะต้องรวบรวมประมวลเพื่อพิจารณาว่าสมควรที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกหรือไม่ โดยพาวเวลล์ย้ำว่าที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องของอนาคต

 

ด้านตลาดหุ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (26 กรกฎาคม) Dow Jones ขยับเพิ่ม 82.05 จุด หรือ 0.23% ปิดที่ 35,520.12 จุด ถือเป็นการปรับขึ้นเป็นวันที่ 13 ติดต่อกัน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นเลยนับแต่เดือนมกราคมปี 1987 ซึ่งหากดัชนี Dow Jones ขยับเพิ่มขึ้น 14 วันติดต่อกันในวันพฤหัสบดี (27 กรกฎาคม) ก็จะทำสถิติเทียบเท่าเดือนมิถุนายน 1897 ซึ่งเป็นช่วงประมาณหนึ่งปีหลังจากที่ Dow Jones ถูกสร้างขึ้นในเดือนพฤษภาคม 1896 ส่วนดัชนี S&P 500 ลดลง 0.02% ปิดที่ 4,566.75 และดัชนี Nasdaq Composite ลดลง 0.12% เป็น 14,127.28

 

สำหรับหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ทรงตัว ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของสหรัฐฯ ลดลงในวันพุธ (26 กรกฎาคม) โดยดัชนีหุ้นโลก MSCI ซึ่งติดตามหุ้นในเกือบ 50 ประเทศ ปรับขึ้นเล็กน้อยเพียงไม่นานหลังจากการประกาศของ Fed คือขยับเพิ่มขึ้น 0.03% กระนั้น ตลาดหุ้นในยุโรปร่วงลง 0.53% ยุติสถิติที่ปรับตัวต่อเนื่อง 6 เดือนติด ขณะที่หุ้นในเยอรมนีร่วงลง 0.49% และฝรั่งเศสลดลง 1.35% ตามลำดับ

 

ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงหลังการตัดสินใจของ Fed โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีลดลงมาอยู่ที่ 3.865% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนอายุ 2 ปี ซึ่งโดยทั่วไปสะท้อนถึงการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยลดลงเหลือ 4.8433%

 

ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักของโลก โดยเงินยูโรแข็งค่าขึ้น 0.33% เป็น 1.109 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นจากแรงหนุนของค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลง โดยราคาทองคำสปอตเพิ่มขึ้น 0.5% เป็น 1,973.53 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ขณะที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าทองคำสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.50% เป็น 1,968.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X