ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กำลังขาดทุนหลายพันล้านดอลลาร์ หลังขึ้นดอกเบี้ยขณะที่ราคาพันธบัตรตกต่ำ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งว่า การดำเนินนโยบายของ Fed ในช่วงโควิดผิดพลาดหรือไม่ แม้ว่าการขาดทุนของธนาคารกลางจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายหรือพันธกิจต่างๆ ก็ตาม
ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้กำลังเผชิญกับยุคการเทขายที่เลวร้ายที่สุดยุคหนึ่ง เนื่องจากธนาคารกลางเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยราคาพันธบัตรที่ร่วงลงเนื่องจากการเทขาย ยังส่งผลให้มูลค่าพันธบัตรมหาศาลที่ Fed และธนาคารกลางอื่นๆ สะสมไว้เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ลดลงอย่างมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ภาวะ เศรษฐกิจถดถอย อาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด เปิดกลยุทธ์รับมือเน้น Predict-Prepare-Perform
- ‘ไบเดน’ ปัดเศรษฐกิจโลกตกต่ำไม่ได้มาจากดอลลาร์แข็ง แต่มาจากนโยบายที่ผิดพลาดของประเทศอื่น
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี
นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังหมายความว่า ธนาคารกลางต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารพาณิชย์มากขึ้นด้วย ทำให้ Fed เข้าสู่ภาวะขาดทุนจากการดำเนินงาน และทำให้เกิดช่องโหว่จนกระทรวงการคลังสหรัฐฯ อาจต้องเข้ามาช่วยเติมเต็มผ่านการขายหนี้ใหม่ในท้ายที่สุด เช่นเดียวกับกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักร ซึ่งกำลังเตรียมช่วยลดปัญหาการขาดทุนของธนาคารกลางอังกฤษแล้ว
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของสหราชอาณาจักร ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย โดยในปีนี้ Fed น่าจะไม่ได้มีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลอีกต่อไป
โดยตามรายงานของ Amherst Pierpont Securities ระบุว่า กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้รับเงินประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์จาก Fed ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ภายในสิ้นปีนี้ Fed อาจขาดทุนประมาณ 8 หมื่นล้านดอลลาร์
การขาดทุนทางบัญชีดังกล่าวอาจสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อโครงการซื้อสินทรัพย์ของ Fed ที่มีจุดประสงค์เพื่อช่วยสนับสนุนตลาดและเศรษฐกิจในช่วงการระบาดใหญ่ และอาจเกิดการตั้งคำถามต่อความเป็นอิสระและข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายของ Fed ในวิกฤตครั้งต่อๆ ไปด้วย
Jerome Haegeli หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Swiss Re กล่าวว่า การขาดทุนของธนาคารกลางไม่ได้เป็นปัญหาด้วยตัวของมันเอง เนื่องจากธนาคารกลางสามารถเพิ่มทุนได้เสมอ แต่ธนาคารกลางอาจต้องเผชิญกับกระแสวิพากษ์ หรือแรงตอบโต้ทางการเมือง (Political Backlash) มากขึ้น
ปัจจุบันธนาคารกลางหลายแห่งกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ หลังพวกเขายอมรับว่าล้มเหลวในการคาดการณ์ และดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้น การขาดทุนจึงกลายเป็นประเด็นอีกประการหนึ่งที่ถูกตั้งคำถาม
Seth Carpenter หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกของ Morgan Stanley และอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ กล่าวไว้ว่า การขาดทุนของธนาคารกลางไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะอันใกล้นี้
ทั้งนี้ ในบรรดาธนาคารกลางทั่วโลก ไม่ใช่แค่ Fed เท่านั้นที่เผชิญกับการขาดทุน โดยธนาคารกลางออสเตรเลียเปิดเผยว่าขาดทุนทางบัญชีจำนวน 3.67 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (2.3 หมื่นล้านดอลลาร์) ในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือนมิถุนายน
ขณะที่ Klaas Knot ผู้ว่าการธนาคารกลางเนเธอร์แลนด์ เมื่อเดือนที่แล้วคาดว่าธนาคารอาจจะขาดทุนสะสมประมาณ 9 พันล้านยูโร (8.8 พันล้านดอลลาร์) ในปีต่อๆ ไป
ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์รายงานว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี ขาดทุนไป 9.52 หมื่นล้านฟรังก์ (9.5 หมื่นล้านดอลลาร์) เนื่องจากมูลค่าเงินตราต่างประเทศที่ถือครองลดลง นับเป็นผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกที่แย่ที่สุดเป็นประวัติการณ์
ขณะที่สำหรับประเทศกำลังพัฒนา การขาดทุนของธนาคารกลางสามารถบ่อนทำลายความเชื่อมั่น และนำไปสู่การไหลออกของเงินทุนได้
อ้างอิง: