คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.00-5.25% หลังการประชุมในช่วง 2 วันที่ผ่านมา (13-14 มิถุนายน) โดยการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นไปตามที่ตลาดและบรรดานักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า หลังจากที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 10 ครั้งติดต่อกันนับตั้งแต่เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม ปี 2022 ส่งผลให้ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมแล้ว 5.00%
อย่างไรก็ดี รายงานของ Fed ได้คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (dot plot) ว่ามีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 5.6% ภายในสิ้นปีนี้ โดยน่าจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า (กรกฎาคม) เป็นต้นไป
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ Fed คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะแตะระดับ 4.6% ในช่วงสิ้นปี 2024 และแตะระดับ 3.4% ในช่วงสิ้นปี 2025 โดยเพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมีนาคมที่ระดับ 4.3% และ 3.1% ตามลำดับ
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ Fed คาดว่า Fed จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2024 โดยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 1.00% ในปีดังกล่าว ขณะที่คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ระดับ 2.5%
ด้าน เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ได้แถลงในภายหลังระบุว่า แม้จะเข้าใจดีถึงความยากลำบากที่เกิดจากภาวะเงินเฟ้อสูง แต่ Fed ยังต้องเดินหน้าปรับลดอัตราเงินเฟ้อให้ได้ 2% ตามเป้าหมาย ก่อนย้ำว่าการเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed จะต้องใช้เวลานาน เพราะต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป
นอกจากนี้ พาวเวลล์ยังให้เหตุผลถึงแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งภายในปี 2023 ว่ามีขึ้นบนพื้นฐานที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีหลังจะแข็งแกร่งขึ้น ทำให้มีโอกาสที่ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกได้ ทำให้ Fed จำเป็นต้องเตรียมเครื่องมือในการจัดการให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลง
ในส่วนของการคาดการณ์เกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้น Fed ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวสู่ระดับ 1.0% ในปีนี้ แต่ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ในปี 2024 ที่ 1.1% และปี 2025 ที่ 1.8% ขณะที่อัตราการขยายตัวในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 1.8%
นอกจากนี้ Fed ปรับลดคาดการณ์อัตราว่างงานสู่ระดับ 4.1% ในปีนี้ และอยู่ที่ 4.5% ทั้งในปี 2024 และ 2025 ขณะที่อัตราว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 4.0%
ส่วนการคาดการณ์เกี่ยวกับเงินเฟ้อนั้น Fed ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสู่ระดับ 3.9% ในปีนี้ และอยู่ที่ 2.6% และ 2.2% ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ
พาวเวลล์ย้ำว่า Fed ยังคงตั้งใจที่จะจัดการกับความท้าทายหลัก นั่นคืออัตราเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเหลือ 4% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยลดลงอย่างมากจากระดับสูงสุด 9.1% เมื่อเดือนมิถุนายน 2022 ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดว่าตัวเลขเงินเฟ้อน่าจะลดลงอีก โดยมีปัจจัยหนุนอย่างราคาพลังงานและราคาค่าเช่าที่ลดลง และราคารถยนต์มือสองซึ่งพุ่งสูงขึ้นในเดือนเมษายนและพฤษภาคมก็มีแนวโน้มที่จะลดลงเช่นกัน
ซึ่งพาวเวลล์เน้นย้ำว่า Fed จะต้องรู้สึกมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังขยับเข้าใกล้เป้าหมาย 2% อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยของ Fed อย่างจริงจังต่อไป
การที่ Fed ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิม แต่ส่งสัญญาณในการประมาณการทางเศรษฐกิจรอบใหม่ มีความเป็นไปได้ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ทำให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อวันพุธ (14 มิถุนายน) ปิดผสมผสาน ท่ามกลางการซื้อขายที่เป็นไปอย่างผันผวน
โดยดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones (DJI) ปรับตัวลดลง 232.79 จุด หรือ 0.68% ปิดที่ 33,979.33 จุด ส่วนดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 3.58 จุด หรือ 0.08% ปิดที่ 4,372.59 จุด และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 53.16 จุด หรือ 0.39% ปิดที่ 13,626.48 จุด
รายงานระบุว่า แม้จะหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราว แต่ปฏิกิริยาเริ่มต้นของตลาดยังเป็นไปในทางลบ เนื่องจากนักลงทุนให้ความสนใจกับการคาดการณ์ของ Fed ในช่วงที่เหลือของปีมากกว่า ซึ่งบ่งชี้ว่า Fed จะเริ่มต้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในไม่ช้า
เอ็ด โมยา นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของ OANDA กล่าวว่า “คำแถลงและการคาดการณ์นั้นดูประดักประเดิดมาก เพราะในที่สุดนักลงทุนในวอลล์สตรีทก็ยังคงเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ดี และมองว่า Fed กำลังจะส่งเศรษฐกิจนี้เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้าหากปฏิบัติตาม”
อ้างอิง: