เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์หลายสำนักออกมาคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ สำหรับมติของที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ที่เห็นชอบตรงกันเป็นเอกฉันท์ว่า Fed จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 0.25% ซึ่งจะดันให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ขึ้นสู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่สองเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2007
ขณะเดียวกันหลังจากที่เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 9 ติดต่อกัน ซึ่ง Fed เริ่มต้นวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2022 ในที่สุด Fed ก็ได้ส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จับตา ‘Fed เสียงแตก’ ป่วนตลาดทุน กดดันตลาดเงินระส่ำหนัก
- คำแถลงของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed และชะตากรรมของอุตสาหกรรมคริปโต
- คาด Fed เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ แม้มองเห็นความผิดปกติในตลาดได้ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม การส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้สวนทางกับท่าทีก่อนหน้าของ Fed ที่ยืนยันว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสามารถปรับลดอัตราเงินเฟ้อได้อย่างมีนัยสำคัญ พร้อมเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบธนาคารสหรัฐฯ
ทั้งนี้ แถลงการณ์ของ Fed หลังการประชุมระบุว่า ระบบธนาคารสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่น โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดภาวะตึงตัวด้านสินเชื่อต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน และกระทบต่อกิจกรรมในเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้มีความไม่แน่นอน ขณะที่ Fed จะยังคงจับตาความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อต่อไป โดยยอมรับว่าทาง Fed เองอาจจำเป็นต้องบังคับใช้นโยบายเพิ่มเติมบางอย่างเพื่อให้บรรลุอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2%
สำหรับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่ Fed คาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.1% ในปีนี้ ก่อนชะลอตัวแตะ 4.3% ในปี 2024 และ 3.1% ในปี 2025
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ Fed ยังคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งหลังการประชุมครั้งนี้ รวมถึงคาดการณ์ว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.8% ในปี 2024 และ 1.2% ในปี 2025
ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ Fed คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะแตะระดับ 3.6% ในปีนี้ ก่อนปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.6% ในปี 2024 และ 2.1% ในปี 2025 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ 2.5%
ขณะเดียวกัน Fed ยังคาดว่าอัตราว่างงานจะแตะระดับ 4.5% ในปีนี้ และเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.6% ทั้งในปี 2024 และ 2025 ขณะที่อัตราว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 4.0%
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจนั้น Fed คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัว 0.4% ในปีนี้ ลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 0.5% ก่อนที่จะดีดตัวสู่ระดับ 1.2% และ 1.9% ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ ขณะที่อัตราการขยายตัวในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 1.8%
เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ยืนยันว่าความปั่นป่วนในภาคธนาคารอาจทำให้ระบบการเงินของสหรัฐฯ ทั้งระบบต้องยกระดับเงื่อนไขสินเชื่อมากขึ้น แต่กรณีดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed
ทั้งนี้ ในระหว่างการแถลงข่าวพาวเวลล์ยอมรับว่า Fed พิจารณาการหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราว เนื่องจากวิกฤตการณ์ธนาคาร แต่ท้ายที่สุดก็มีมติเป็นเอกฉันท์ในการตัดสินใจที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อและความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานมีน้ำหนักมากกว่า
พาวเวลล์ย้ำว่า Fed มุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพด้านราคา และหลักฐานทั้งหมดระบุว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นว่า Fed จะทำเช่นนั้น ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือ 2% เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งสำคัญคือ Fed ต้องรักษาความมั่นใจนั้นด้วยการกระทำและคำพูดของ Fed
วันเดียวกัน (22 มีนาคม) สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานว่า ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หลัง คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาเปิดเผยว่าเงินเฟ้อในยูโรโซนยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ ECB ยังจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
ลาการ์ดกล่าวว่า ECB ได้ดำเนินการปรับปรุงนโยบายการเงินมากพอสมควรแล้ว โดยนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งหมด 3.50% อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางเงินเฟ้อในอนาคตนั้นเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้กลยุทธ์ที่จะใช้ในอนาคตนั้นมีความสำคัญ
โดยลาการ์ดได้กล่าวให้สาธารณชนมั่นใจว่า ECB จะมุ่งมั่นสร้างเสถียรภาพด้านเงินเฟ้อและจะฉุดเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2% ในระยะกลางให้ได้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค่าเงินยูโรปรับตัวขึ้นประมาณ 0.2% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ECB เพิ่งจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% แม้จะเกิดปัญหาปั่นป่วนของสถาบันการเงินอย่าง Credit Suisse ก็ตาม
อ้างอิง: