×

ผลโพลระบุ ‘Fed’ ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมสัปดาห์หน้า นักวิเคราะห์แนะควรหยุดเมื่อเงินเฟ้อลดลงครึ่งหนึ่งจากปัจจุบัน

26.10.2022
  • LOADING...

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 ในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ พร้อมแนะว่า Fed ควรหยุดขึ้นดอกเบี้ยเมื่ออัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือประมาณครึ่งหนึ่งของระดับปัจจุบัน และเตือนว่านโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้กำลังทำให้ภาคธุรกิจกระเทือน คนอาจตกงานเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีนักลงทุนในตลาดหุ้นหลายคนร่ำรวยขึ้นก็ตาม

 

ผลการสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ (86 คนจาก 90 คน) ของ Reuters คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย Funds Rate อีก 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.0% ในสัปดาห์หน้า เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และการว่างงานอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดก่อนเกิดโรคระบาด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


โดยนักเศรษฐศาสตร์ 49 คนจาก 80 คน ยังคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยของ Fed จะแตะระดับสูงสุดที่ 4.50-4.75% หรือสูงกว่านั้นในไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า

 

โพลยังสอบถามเกี่ยวกับระดับเงินเฟ้อยั่งยืนที่ Fed ควรพิจารณาการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยตามความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ 22 คน มองว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ควรต้องอยู่ที่ 4.4% จากระดับเหนือ 8%ในขณะนี้

 

แม้ Fed จะให้ความสำคัญกับดัชนีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) แต่ผลสำรวจชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE จะอยู่สูงกว่าเป้าหมายไปจนถึงปี 2025 เป็นอย่างน้อย ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อ CPI คาดว่า จะไม่ลดลงจนถึงครึ่งหนึ่งจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า

 

ด้าน เบรตต์ ไรอัน นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ อาวุโสจาก Deutsche Bank กล่าวว่า เนื่องด้วย Fed จะยังคงคุมเข้มทางการเงินอย่างรุนแรงต่อไป เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ทำให้เราคาดว่าภาวะถดถอยในระดับปานกลางน่าจะเริ่มในไตรมาสที่ 3 ของปีหน้า เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงจะลดลง และอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

 

โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีหน้าจะขยายตัวเพียง 0.4% ลดลงต่อเนื่อง จากการสำรวจความคิดเห็นครั้งก่อนๆ ขณะที่อัตราการว่างงานคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.7% ในปีนี้ ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.4% และ 4.8% ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ

 

เตือนธุรกิจจริงเจ็บตัวหนัก-คนตกงานเพิ่ม

สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานความเห็นของนักเศรษศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่ออกมาเตือนว่า นโยบายการเงินของ Fed ที่มีการบังคับใช้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาจส่งผลต่อภาพรวมทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ผิดเพี้ยนไปจากสภาพความเป็นจริงที่ควรจะเป็น 

 

เพราะในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในภาวะถดถอย แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักพบว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ กลับเคลื่อนไหวอย่างคึกคักโดยไม่สนใจสถานการณ์โลกที่ค่อนข้างแย่ โดยสัปดาห์ที่แล้ว หุ้นสหรัฐฯ ปิดตลาดทำสถิติที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายน แถมตลาดหุ้นยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเปิดตลาดในวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 ตุลาคม) 

 

โนมี พรินส์ อดีตกรรมการผู้จัดการของ Goldman Sachs และผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘Permanent Distortion: How the Financial Markets Abandoned the Real Economy Forever’ ระบุว่า ช่วงเวลาหลายสิบปีที่ Fed เดินหน้าอัดฉีดเงินเข้าระบบทำให้เกิดเศรษฐกิจ 2 แบบ โดยชาวอเมริกันที่ร่ำรวยและบริษัทต่างๆ ได้รับประโยชน์โดยตรงจากอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ซึ่งทำให้เงินไหลเข้าสู่บริษัทจดทะเบียนในตลาดและหุ้นในระดับสูง ในขณะที่ Main Street ประสบปัญหาจากค่าจ้างที่ชะลอตัวและได้รับการสนับสนุนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

 

พรินส์ชี้ว่า ขณะนี้สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับ ‘การบิดเบือนอย่างถาวร’ ซึ่งพฤติกรรมของตลาดและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 

 

นักวิเคราะห์ทั้งหลายต่างยอมรับว่าต่อให้พยายามพลิกตำราคาดการณ์มากมายเพียงใด แต่ตลาดหุ้นก็เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้มาโดยตลอด ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในสภาวะที่ตลาดอยู่สภาวะผันผวนขั้นสุดในปัจจุบันที่ Fed ยืนกรานอย่างชัดเจนว่าไม่มีแผนที่จะหันหลังให้นโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่คงอยู่ แม้ว่าข้อมูลทางเศรษฐกิจไม่ชัดเจน และบรรดาซีอีโอ นักเศรษฐศาสตร์ และองค์กรระดับโลกต่างตบเท้าออกมาส่งเสียงเตือนเกี่ยวกับภาวะถดถอยที่กำลังคืบคลานเข้ามา

 

อย่างไรก็ตาม ต่อให้สถานการณ์เศรษฐกิจใน Main Street จะไม่สดใส แต่ตลาดที่เคลื่อนไหวในทางที่แย่มากกว่าดีตลอดทั้งปีที่ผ่านมากลับพลิกขึ้นมาทำสถิติสูงสุดในรอบหลายเดือนอีกครั้ง สร้างความประหลาดใจให้กับบรรดากูรูทั้งหลายเป็นจำนวนมาก กระนั้น กูรูส่วนใหญ่รวมถึงพรินส์ก็ยอมรับว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะพยายามใช้เหตุผลทางเศรษฐกิจกับตลาดหุ้น

 

ที่ผ่านมา เป็นที่รู้กันดีว่า หน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ คือการดูแลเรื่องการว่างงานและภาวะเงินเฟ้อ แต่อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายตระหนักดีว่า Fed มีหน้าที่ที่สามอย่างไม่เป็นทางการพ่วงมาด้วย นั่นคือการส่งเสริมตลาดหุ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่หลายคนได้ประจักษ์มาโดยตลอดในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา 

 

พรินส์อธิบายว่า เริ่มต้นในปี 2008 Fed ในเวลานั้นได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินจากธนาคารข้ามคืนในสหรัฐอเมริกาที่ระดับต่ำใกล้ศูนย์ และเจ้าหน้าที่ของ Fed ได้ดำเนินตามนโยบายผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (QE) โดยนำเงินเข้าสู่ระบบการเงินด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ผลลัพธ์ก็คือการสร้างความเชื่อที่แพร่หลายในโลกการเงินว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตลาดหุ้นก็ยังจะขยับขึ้นได้อยู่ 

 

พรินส์สรุปว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนใหญ่หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดและไม่ได้เข้าสู่เศรษฐกิจโดยรวม และสร้างโลกที่นักลงทุนพึ่งพา Fed ในขณะที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้รับความเดือดร้อน

 

ทั้งนี้ แม้เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อต้นปีนี้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นหน้าที่หลักของ Fed ในการลดอัตราเงินเฟ้อให้สำเร็จ แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักรวมถึง พรินส์กลับเห็นว่านักลงทุนกลับไม่เชื่อ และคิดเสมอว่า Fed จะต้องเปลี่ยนทิศทางนโยบายในที่สุดต่อให้ Fed จะยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่เป็นเช่นนั้นก็ตาม เพราะนักลงทุนเชื่อว่าท้ายที่สุด Fed จะหันมาใช้นโยบายระยะยาวในการช่วยเหลือตลาด 

 

นักเศรษฐศาสตร์มองว่า ไม่ว่า Fed จะดำเนินการใดๆ ก็มีเพียงแต่ Main Street เท่านั้น ไม่ใช่ Wall Street ที่รู้สึกถึงความรุนแรงของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ผ่านอัตราการจำนองและอัตราการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น และตลาดงานที่ชะลอตัว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X