×

จากฉากรักบนรถเมล์ สู่รถเมล์ที่ดีสำหรับทุกคน

04.09.2020
  • LOADING...

ฉากตะโกนบอกรักบนรถเมล์ วิ่งตามรถเมล์ของเธอที่ห่างออกไป หรือแอบมองเธอข้างเดียวอยู่จากเบาะหลัง ดูจะเป็นฉากรักโรแมนติกที่คอซีรีส์คุ้นตากัน แต่เมื่อตัดภาพมาที่รถเมล์ในชีวิตจริงแล้วก็อยากตะโกนเหมือนกันว่าอยากจะได้แบบนี้บ้าง!

 

She Was Pretty (2015)

 

รถเมล์จะโรแมนติกได้ต้องเริ่มจากงานดีไซน์ที่ดีก่อน เพราะหน้าที่ของงานดีไซน์คือการตอบรับและแก้ปัญหาความต้องการของผู้ใช้งาน กลับมามองแบบง่ายๆ ผู้ใช้งานรถเมล์ไม่เพียงแต่เราๆ ที่เป็นผู้โดยสารเท่านั้น ยังมีพี่คนขับและกระเป๋ารถเมล์ที่ต้องอยู่กับรถคันนี้ตลอดชั่วโมงทำงาน ยังรวมถึงสภาพแวดล้อมภายนอกก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นเช็กลิสต์เบื้องต้นตามหลักการของการออกแบบรถเมล์ที่ดีจึงจำเป็นต้องประกอบด้วย การจัดการระบบ ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย ประสบการณ์การเดินทาง และภาพลักษณ์งานดีไซน์ [1]

 

สำหรับผู้เขียนเองในฐานะที่เรียนมาในสายดีไซน์ อันดับแรกเราคิดว่ารถเมล์ที่ดีจำเป็นต้องเริ่มต้นจากงานดีไซน์ที่ตอบโจทย์สำหรับมวลชน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ ก็ต้องมีความสามารถใช้งานได้ง่ายตามหลักการ Universal Design อย่างการใช้บันไดขึ้นรถที่ไม่สูงมาก การเข้าและออกทางเดียว การจัดที่นั่งสำหรับผู้สูงอายุและผู้ใช้งานรถเข็น หากแต่เมื่อศึกษาลงลึกไปแล้ว สิ่งสำคัญพื้นฐานที่สุดที่จะนำมาซึ่งงานออกแบบที่ดีเหล่านี้คือการจัดการระบบให้ดีก่อนเป็นอันดับแรก อย่างที่เห็นจากงานวิจัยหรือแม้แต่นโยบายการปฏิรูปรถเมล์ของกรุงโซล ซึ่งก็เริ่มต้นวิเคราะห์ปัญหาจากจุดนี้เช่นเดียวกัน [2]

 

What’s Wrong with Secretary Kim? (2018)

 

งานระบบที่ว่ามีรายละเอียดปลีกย่อยลึกลงไปอีก แต่ที่ดูจะเกี่ยวกับผู้ใช้งานอย่างเราๆ คือการใช้งานสมาร์ทการ์ด ที่นอกจากจะเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานทุกคนแล้วยังตอบหัวเรื่องที่เหลือได้ อย่างเรื่องความปลอดภัยที่คนจะไม่ยืนออกันที่จุดใดจุดหนึ่ง เดินเข้ามาก็ชิดในได้อัตโนมัติ ทั้งสบาย ทั้งปลอดภัย และเดินทางแบบเป็นส่วนตัว (ในพื้นที่ส่วนรวม) ได้อย่างสบายใจ จากความคล่องตัวทั้งหมดนี้เองส่งผลต่อการจราจรโดยรวมในการเพิ่มความเร็วของการเดินทางแบบที่พี่คนขับไม่ต้องรีบทำรอบอย่างทุกวันนี้

 

กลับมาโฟกัสส่วนงานดีไซน์รถเมล์ที่เราสนใจกันบ้าง โจทย์ที่ต้องคิดถึงอย่างแรกคือ ‘ทำอย่างไรให้รถเมล์น่าขึ้น’ จริงอยู่ที่ว่ารถเมล์คือทางที่ไม่ต้องเลือก เพราะมันจำเป็นต้องใช้ แต่จากโจทย์ง่ายๆ ข้อนี้ข้อเดียวไม่ได้เพียงช่วยแค่เรื่องงานดีไซน์​ แต่ยังช่วยเรื่องระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพด้วย เพื่อให้ตอบจุดประสงค์ของคำว่า​ ‘ขนส่งมวลชน’ ได้อย่างแท้จริง

 

Universal Design เป็นหัวเรื่องที่จำเป็นเมื่อเข้าสู่ความเป็นพื้นที่ของมวลชน จึงควรมีการกำหนดทั้งเรื่องความสูงและระดับภายในตัวรถที่จัดสรรให้มีโซนสำหรับพื้นที่ราบและพื้นที่ยกขึ้นเป็นที่นั่ง ไปจนถึงเรื่องระยะห่างระหว่างชานพักของรถกับทางเท้าให้มีน้อยที่สุดทั้งในเรื่องความสูงและความกว้าง ในอุดมคติก็ควรเรียบเสมอกันให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกัน รถเมล์ในรูอ็อง ประเทศฝรั่งเศส ก็มีการพัฒนาเซนเซอร์ที่ตรวจจับระยะระหว่างชานพักของรถ หากทางเท้าอยู่ต่ำกว่า ชานพักก็จะลาดลงให้เสมอกันพอดี หรือถ้าจอดไม่เสมอทางเท้าก็จะยื่นออกเป็นทางราบเรียบเสมอกัน

 

Descendants of the Sun (2016)

 

เมื่อก้าวขึ้นมาบนรถเมล์แล้ว เท่ากับว่าเราต้องใช้เวลาเดินทางภายในรถคันนี้ ทำอย่างไรจึงจะสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับการเดินทาง นอกจากดีไซน์ที่ดีจะต้องสร้างสเปซภายในรถเมล์ที่โปร่งสบายแม้ว่าคนจะคับคั่งแล้ว การออกแบบรายละเอียดจุดเล็กน้อยที่ตอบโจทย์กับความต้องการใช้งานของเราๆ ก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ ระยะห่างของเบาะที่นั่งติดกันที่รักษาความเป็นส่วนตัวได้อยู่ สำหรับคนยืนก็มีห่วงหรือราวที่ตอบกับความสูงของคนที่แตกต่างกัน พื้นผิวที่ราบเรียบพอดี ไม่ลื่นไปจนเดินยาก หรือไม่ฝืดเกินไปจนล้อวีลแชร์เลื่อนไม่ได้ ไปจนถึงระยะเอื้อมกดกริ่งที่ต้องไม่ลำบากบนรถที่กำลังเคลื่อนที่ 

 

อีกคนหนึ่งที่ลืมไม่ได้เลยก็คือคนขับรถ งานดีไซน์เริ่มต้นตั้งแต่ที่เบาะนั่งซึ่งต้องได้มาตรฐานตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) บางส่วนปรับได้ตามสรีระคนขับ ไม่ให้เมื่อยเวลานั่งขับนานๆ รวมทั้งคอนโซลและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่ต้องเอื้อมถึง ใช้งานได้ง่าย พอคนขับทำงานได้สบาย คนนั่งก็ปลอดภัยสบายใจ

 

It’s Okay to Not Be Okay (2020) 

 

ถึงตอนนี้รถเมล์ที่ดีจะยังเป็นฝันที่ไม่กล้าฝันสำหรับเราๆ บวกกับยิ่งเป็นยุคโควิด-19 แล้วก็ยิ่งเพิ่มโจทย์ให้นักออกแบบที่ว่า จะจัดการอย่างไรให้ขนส่งมวลชนไม่เป็นพื้นที่กระจายเชื้อไวรัสไปอีก แต่เราก็ยังหวังว่าตัวอย่างรถเมล์ดีๆ จากทั่วโลกจะกลายเป็นกรณีศึกษาเพื่อหาจุดเหมาะสมให้กับรถเมล์สำหรับคนไทยได้ในที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • งานดีไซน์ Bus Design Guidelines: Complementing planning with vehicle design. โดย Robbie Napper และคณะ จาก Monash University
  • อ่านนโยบายการปฏิรูประบบการเดินทางสาธารณะของกรุงโซลได้ที่ seoulsolution.kr 
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising