หากพูดถึงแพลตฟอร์มฟรีแลนซ์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในประเทศไทย เชื่อว่าชื่อของ ‘Fastwork’ หรือบริษัท ฟาสต์เวิร์ค เทคโนโลยีส์ จำกัด คงจะเป็นบริษัทที่คุ้นหูใครหลายคน โดยเฉพาะในหมู่คนที่ทำอาชีพฟรีแลนซ์ รวมถึงผู้ประกอบการที่ใช้บริการของบริษัทอยู่ด้วย
แต่นับจากการก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน Fastwork ยังคงดำเนินธุรกิจด้วยผลประกอบการโดยรวมขาดทุน
ตัวเลขงบการเงินของ Fastwork ที่รวบรวมโดย Corpus X แพลตฟอร์มที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเผยว่า ตั้งแต่ปี 2559 ที่ Fastwork เพิ่งเริ่มธุรกิจได้ไม่นาน ผลประกอบการของบริษัทโดยรวมมีดังนี้
- งบปี 2559*: รายได้รวม 3.7 ล้านบาท / ขาดทุน 1.6 ล้านบาท
- งบปี 2560: รายได้รวม 17.7 ล้านบาท / ขาดทุน 6.5 ล้านบาท
- งบปี 2561: รายได้รวม 43.9 ล้านบาท / ขาดทุน 67.3 ล้านบาท
- งบปี 2562: รายได้รวม 32.5 ล้านบาท / ขาดทุน 84 ล้านบาท
- งบปี 2563: รายได้รวม 44 ล้านบาท / ขาดทุน 22.8 ล้านบาท
- งบปี 2564: รายได้รวม 202.3 ล้านบาท / กำไร 121.4 ล้านบาท
- งบปี 2565: รายได้รวม 59.4 ล้านบาท / ขาดทุน 38.2 ล้านบาท
- งบปี 2566: รายได้รวม 54.5 ล้านบาท / ขาดทุน 50 ล้านบาท
ถึงแม้ธุรกิจในภาพรวมจะยังไม่ทำกำไร แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้ Fastwork ภายใต้การนำของซีอีโอ ซีเค เจิง เดินหน้าประกาศลดค่าคอมมิชชันของผู้ให้บริการในแพลตฟอร์มลงจาก 17% เหลือเพียง 10% (ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายนนี้)
อีกทั้งยังให้เครดิตเงินคืน 5% กับผู้ใช้บริการเพื่อดึงดูดและสร้างระบบนิเวศของเศรษฐกิจฟรีแลนซ์ที่เขาเชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญของอนาคตเศรษฐกิจไทย
อะไรที่ทำให้ซีเคตัดสินใจใช้กลยุทธ์ที่จะกระทบกับการสร้างรายได้ของบริษัทโดยตรง? และความยั่งยืนของโมเดลธุรกิจ Fastwork จะดำเนินต่อไปอย่างไร เมื่อบริษัทเลือกที่จะให้ผลประโยชน์ของ ‘ฟรีแลนซ์และลูกค้า’ มากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง?
‘ประเทศไทยต้องดีกว่านี้’ วิสัยทัศน์ที่ Fastwork ต้องการมากกว่าผลกำไร
สำหรับบางธุรกิจ การเติบโตทางตัวเงินถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่หลายองค์กรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพื่อบ่งบอกถึงความสำเร็จ แต่กับ Fastwork นั่นไม่ใช่นิยามความสำเร็จที่บริษัทตั้งไว้
“ผมอยากทำให้ประเทศไทยดีขึ้น” ซีเคกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ในประเด็นการนำกลยุทธ์ลดค่าคอมมิชชัน และการให้เครดิตเงินคืนกับผู้ใช้งาน พร้อมเสริมว่า “เหตุผลที่ผมทำ Fastwork ไม่ใช่เพราะต้องการสร้างกำไรให้กับตัวเอง แต่เพื่อกระจายรายได้ให้คนไทย แน่นอนว่าผมอาจต้องการรายได้บางส่วนเพื่อดำเนินงาน แต่เป้าหมายคือการสร้างผลกระทบเชิงบวกกับเศรษฐกิจไทยให้ได้มากที่สุด”
แนวคิดดังกล่าวทำให้ Fastwork แตกต่างจากธุรกิจส่วนใหญ่ โดยซีเคเล่าว่า หากบริษัทของเขาต้องการจะพลิกมาทำกำไร นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำได้เมื่อพิจารณาจากสถานะผลการดำเนินงานที่บริษัทกำลังเป็นอยู่ในช่วงเติบโต
“ผมสามารถทำให้บริษัทถึงจุดคุ้มทุนได้ในปีนี้ ด้วยอัตราค่าคอมมิชชันเท่าเดิมที่ 17% และอัตราการเติบโตของบริษัทที่ 50% ต่อปี ณ ขณะนี้ แต่ผมอยากกระจายรายได้ของคนไทย ไม่ใช่ถูกจำกัดอยู่แค่ในกรุงเทพฯ ถ้า Fastwork จะไปอยู่ในจุดที่ธุรกิจทำกำไรได้ แต่ต้องแลกมากับความล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงประเทศ นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ผมเข้ามาทำธุรกิจนี้” ซีเคกล่าว
กลยุทธ์ลดค่าคอมมิชชันของ Fastwork เป็นการตัดสินใจของบริษัทที่ต้องการจะดึงดูดธุรกิจหน้าใหม่ให้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม เพราะก่อนหน้านี้ ‘คอขวด’ สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการบางรายไม่เข้ามานำเสนอบริการบนแพลตฟอร์มก็เป็นเพราะค่าคอมมิชชัน 17% ที่สูงเกินไปสำหรับพวกเขา
อย่างไรก็ตาม คำถามที่บางคนอาจสงสัยก็คือ เมื่อกลยุทธ์ที่กล่าวไปข้างต้นจะทำให้ Fastwork รายได้ลดลง แล้วนักลงทุนที่ให้เงินสนับสนุนธุรกิจจะคิดเห็นอย่างไร?
คำตอบของซีเคคือตัวเขาเองคนเดียวเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนหล่อเลี้ยงบริษัท 100% ดังนั้นเขาจึงสามารถเดินหน้าทำตามความฝันที่อยากจะเปลี่ยนประเทศไทยได้เต็มที่ โดยที่ไม่มีความคาดหวังหรือความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับผู้ถือหุ้น เนื่องจาก Fastwork ไม่ใช่บริษัทมหาชน
เดิมพันครั้งใหญ่ของ Fastwork กับอนาคต ‘เศรษฐกิจฟรีแลนซ์’
จากรายงานของ World Bank พบว่าแรงงานในโลกเกือบครึ่ง หรือราว 1,570 ล้านคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานฟรีแลนซ์ (บางรายอาจมีงานประจำควบคู่กันไปด้วย) และตัวเลขจาก World Economic Forum เผย มูลค่าตลาดฟรีแลนซ์ตลาดในโลกเมื่อปี 2567 สูงถึง 5.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (18.8 ล้านล้านบาท)
และจะขยับขึ้นไปสู่ 1.85 ล้านล้านดอลลาร์ (62.1 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2575 ซึ่งคิดเป็นอัตราเติบโต 16.2% เนื่องจากความยืดหยุ่นและนิยามของ ‘งาน’ ที่กำลังเปลี่ยนไปในโลกยุคดิจิทัล
ด้วยเทรนด์การเติบโตในตลาด Fastwork จึงอยากที่จะสร้างระบบนิเวศฟรีแลนซ์ให้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจ
“ผมอยากให้คนอยากสร้างเพจบน Fastwork เหมือนกับที่คนอยากสร้างเพจบน Facebook” ซีเคอธิบายถึงเบื้องหลังเหตุผลที่บริษัทเลือกจะลดค่าคอมมิชชัน เพื่อลด ‘กำแพง’ หรืออุปสรรคให้บริการรูปแบบใหม่เกิดขึ้นได้
ในขณะเดียวกัน เขาย้ำเพิ่มเติมว่าอนาคตของ Fastwork คือการเป็นแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมทุกบริการที่ผู้บริโภคจะสามารถจินตนาการได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ‘ค่าคอมมิชชัน’ ที่สูงเกินไปก็เป็นปัจจัยกีดขวางไอเดียใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ยาก
สำหรับประเทศไทย ปี 2568 เป็นช่วงเวลาที่ซีเคคาดว่า Fastwork จะสามารถสร้างรายได้ให้กับคนไทย 3,000 ล้านบาท โดยภายในปี 2570 เขาเชื่อว่าตัวเลขดังกล่าวจะพุ่งสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 10,000 ล้านบาทจากกลยุทธ์ที่บริษัทใช้
ณ ปัจจุบัน แพลตฟอร์ม Fastwork มีคนสมัครใช้งานเพิ่มเดือนละ 6,000 คน และตอนนี้มีฟรีแลนซ์ทั้งหมดราว 400,000 คน
หลังจากการประกาศกลยุทธ์ลดอัตราค่าคอมมิชชัน แอปพลิเคชันของ Fastwork ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 ของหมวด ‘Business’ บนApp Store (ข้อมูล ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568) เป็นรอง Microsoft Teams และ Zoom ตามลำดับ
พยายามให้เต็มที่และยอมรับผลลัพธ์
‘วัดใจ’ คือหนึ่งคำที่ซีเคพูดขึ้นระหว่างสัมภาษณ์เมื่อถูกถามว่ากลยุทธ์การลดค่าคอมมิชชันจะนำมาสู่การเติบโตของระบบนิเวศฟรีแลนซ์ได้มากแค่ไหน
“การเลือกใช้กลยุทธ์นี้เป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน แต่เราก็ต้องวัดใจกัน เพราะเรา (Fastwork) ทำเพื่อให้ได้ข้อมูลใหม่ และก็พร้อมที่จะปรับตัวตามผลลัพธ์ของข้อมูลใหม่ที่ได้”
ในช่วงท้ายซีเคฝากข้อคิดไว้ว่า การสร้างธุรกิจให้สมบูรณ์แบบโดยไร้คำติชมเป็นสิ่งที่ยาก เพราะหากธุรกิจกำไรมากเกินไปก็อาจมองว่าเอาเปรียบ และหากขาดทุนก็จะถูกสบประมาทว่าคงไปต่อไม่รอด
แต่ท่ามกลางคำวิจารณ์ต่างๆ ซีอีโอหนุ่มคนนี้ยังจะเดินหน้าต่อด้วยเป้าหมายการปั้น Fastwork ให้กลายเป็นองค์กรที่ประเทศไทยขาดไม่ได้
“ถ้าสุดท้ายธุรกิจของผมต้องล้มเหลว อย่างน้อยผมก็สบายใจ เพราะได้ทำตามความฝันที่ตั้งไว้อย่างเต็มที่แล้ว” ซีเคกล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ: *งบปี 2559 (งบไม่เต็มปี)
อ้างอิง: