×

ดัชนีราคาอาหารโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้วยอัตรารายเดือนที่สูงที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ และเป็นการเพิ่มขึ้นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน

05.06.2021
  • LOADING...
ดัชนีราคาอาหารโลก

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยดัชนีราคาอาหารโลก (FAO Food Proce Index: FFPI) ประจำเดือนพฤษภาคม ปี 2021 อยู่ที่ 127.1 จุด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 4.8 ถือเป็นระดับดัชนีที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2011 นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเดือนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2010 และถือเป็นการเพิ่มขึ้นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน

 

และหากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีในเดือนพฤษภาคม ปี 2021 ยังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 39.7

 

ดัชนีดังกล่าวเป็นการติดตามราคาอาหารทั่วโลกจากอาหารประเภทสำคัญ ได้แก่ กลุ่มซีเรียล (เช่น ข้าวโพด ข้าว ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง), กลุ่มพืชน้ำมัน, กลุ่มผลิตภัณฑ์นม, กลุ่มเนื้อสัตว์ และกลุ่มน้ำตาล ซึ่งดัชนีเฉพาะของทั้ง 5 กลุ่มล้วนปรับตัวสูงขึ้นทั้งหมด โดยเฉพาะดัชนีกลุ่มพืชน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดจากทุกกลุ่มที่ร้อยละ 7.8 เทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนถึงมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันเรปซีด ตามด้วยดัชนีราคากลุ่มน้ำตาลที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 เทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำตาลในระดับโลกส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความล่าช้าในการเก็บเกี่ยวและความกังวลเกี่ยวกับผลผลิตพืชผลที่ลดลงในบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลกจากปัจจัยเรื่องสภาพอากาศที่แห้งแล้ง เสริมด้วยราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นและการแข็งค่าของเงินเรียลบราซิลต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็มีปริมาณการส่งออกจำนวนมากจากอินเดียมาช่วยผ่อนคลายการเพิ่มขึ้นของราคาดังกล่าว ส่วนดัชนีกลุ่มผลิตภัณฑ์นมเป็นกลุ่มที่ปรับเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.5

 

อย่างไรก็ตาม FAO หมายเหตุไว้ว่า ดัชนีราคาเนื้อสัตว์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นการผสมระหว่างค่าที่เกิดจากการสังเกตและค่าประมาณการ ซึ่งต่างจากสินค้ากลุ่มอื่น เนื่องจากไม่ปรากฏข้อมูลราคาส่วนใหญ่ที่ใช้ในการคำนวณดัชนีราคาเนื้อสัตว์ในเวลาที่ดัชนีราคาอาหารของ FAO ถูกคำนวณและเผยแพร่ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ค่าดัชนีดังกล่าวจะมีการทบทวนหรือเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจส่งผลต่อดัชนีราคาอาหารโดยรวมด้วย

 

สำนักข่าว BBC ระบุว่า ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในบางประเทศและผลกระทบจากการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้การหยุดชะงักของตลาดและอุปทานจากข้อจำกัดเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายต่างๆ ทำให้เกิดความขาดแคลนในท้องถิ่นและราคาที่สูงขึ้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเตือนว่าความต้องการที่สูงกับการผลิตที่ต่ำจะนำมาสู่เงินเฟ้อที่สูงขึ้น เมื่อเขตเศรษฐกิจต่างๆ พ้นจากภาวะล็อกดาวน์

 

อย่างไรก็ตาม เราอาจได้เห็นการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งในบางอุตสาหกรรม โดย FAO คาดการณ์ว่าการผลิตธัญพืชทั่วโลกในปีนี้จะสูงจนเป็นสถิติ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาแรงกดดันด้านราคาที่สูงขึ้นได้

 

และในสัปดาห์นี้เอง สมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร (BRC) ได้ออกมาเตือนผู้บริโภคชาวสหราชอาณาจักรว่า อาจจะต้องเผชิญกับบิลค่าช้อปปิ้งที่แพงยิ่งขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังจะมาถึงจากปัญหาราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น

 

ภาพ: Scott Barbour / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X