×

โอลิมปิกแห่งความเงียบเหงา! ‘ธุรกิจโรงแรม’ ในญี่ปุ่น ตบยุงนอนดูกีฬาเพลิน หลังยอดยกเลิกห้องพักพุ่งทะยานสู่ 1 ล้านครั้ง ฟากกลุ่มทุนน้อยส่อแววใกล้ ‘เจ๊ง’ เต็มที

22.07.2021
  • LOADING...
ธุรกิจโรงเเรม

ดูเหมือนว่าช่วง Tokyo Olympics 2020 ที่จะถึงนี้ ฟากธุรกิจโรงแรมตั้งแต่พนักงานต้อนรับไปจนถึงพ่อครัวจะได้ตบยุงชมกีฬาเพลินๆ กันเสียแล้ว หลังรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียวเป็นครั้งที่ 4 ต่อมาด้วยมาตรการห้ามไม่ให้มีผู้ชมในสนามอีก ทำให้ธุรกิจโรงแรมที่หวังว่าจะฝากอนาคตไว้กับนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน ต้องเผชิญกับฝันร้ายอีกระลอก เพราะตอนนี้ยอดยกเลิกการจองห้องพักพุ่งไปกว่า 700,000 ครั้งแล้ว และคาดว่าจะแตะหลักล้านในเวลาอันใกล้ 

 

ตัวเลขนี้คิดจากตั๋วผู้เข้าชมกีฬาที่จองเข้ามาก่อนหน้านี้จำนวน 30% อาศัยอยู่นอกกรุงโตเกียว และวางแผนที่จะเข้าพักในโรงแรมอย่างน้อย 1 คืน ส่งผลให้หลายโรงแรมมรายเล็กทุนน้อยส่อแววใกล้จะ ‘เจ๊ง’ เต็มที ตรงข้ามกับเชนโรงแรมขนาดใหญ่ที่สายป่านยาวพอสามารถหล่อเลี้ยงกิจการให้ดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว

 

“เรามีความหวังและคาดหวังไว้ใหญ่มากกับงานโอลิมปิกครั้งนี้” คำกล่าวของ มากิโกะ ฟุรุซาโตะ เจ้าของเรียวกัง โรงแรมเล็กๆ สไตล์ญี่ปุ่นดั้งเดิม ที่ใช้เวลาขับรถไม่ถึง 15 นาทีก็ถึง 4 สนามแข่งขันหลัก “เราเปิดกิจการเมื่อเดือนตุลาคม 2019 แล้วหลังจากนั้นเราก็เจอกับโรคระบาดทันที ตอนนี้หวังเพียงให้มีรายได้เข้ามาบ้างแค่เล็กน้อยก็ยังดี”

 

เริ่มต้นเดิมทีฟุรุซาโตะและสามีเห็นว่าการจัดงานกีฬามหึมานี้มีแค่ครั้งเดียวในชีวิตเท่านั้น จึงคว้าโอกาสครั้งใหญ่ ตั้งใจทุ่มทุนสร้างที่พักนี้ขึ้นมาในปี 2019 แต่แล้วการจัดงานที่กำหนดไว้ในปี 2020 ก็ต้องเลื่อนมาเป็นปีนี้แทนด้วยโรคระบาด 

 

ทว่าปีนี้ความหวังของเธอต้องแตกสลายอีกครั้ง เมื่อเธอต้องเห็นตัวเลขยกเลิกการจองเพิ่มขึ้นทุกวัน อีกทั้งยังต้องหั่นราคาแข่งกับบรรดาโรงแรมอื่นๆ ด้วย ที่ต่างออกมาลดราคากว่า 30% จากราคาที่เดิมที่ควรเป็นช่วงเวลาโกยเงินแท้ๆ 

 

“บาร์และร้านอาหารก็ประสบปัญหาไม่ต่างกัน แต่อย่างน้อยก็ยังได้เงินชดเชยจากรัฐบาลอยู่ แต่อุตสาหกรรมนี้แค่ไม่ได้รับความสนใจเท่านั้นเอง” ฟุรุซาโตะกล่าวปนตัดพ้อถึงการเยียวยาที่ไม่ถ้วนหน้าของรัฐบาล เธอทำได้แค่ต้องยืนด้วยขาของตัวเองไปก่อน 

 

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยออกมาให้ความเห็นถึงผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจจากมาตรการนี้ เริ่มที่ ฮิเดโอะ คุมาโนะ นักเศรษฐศาสตร์สถาบันวิจัย Dai-Ichi กล่าวว่า “ผลกระทบระลอกล่าสุดนี้จะทำให้เกิดธุรกิจล้มละลายเป็นจำนวนมาก” 

 

คุมาโนะชี้ว่ายอดการยกเลิกห้องพักที่เกือบ 700,000 ครั้งนั้น ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโรงแรมที่ต้องสูญรายได้ไปประมาณ 5 หมื่นล้านเยน หรือราว 1.49 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี ตอนนี้ภาครัฐเริ่มยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในอุตสาหกรรมนี้แล้วบ้าง 

 

อีกฟากเป็น ทาคาฮิเดะ คิอุจิ นักเศรษฐศาสตร์สถาบันวิจัย Nomura และอดีตคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น ประเมินว่ายอดการคืนตั๋วเข้าชม และความเสียหายจากภาคการท่องเที่ยว ทำให้ประเทศอาจต้องสูญเสียเงินไปราว 1.3 แสนล้านเยน หรือราว 4 หมื่นล้านบาท จากมาตรการดังกล่าว

 

คิอุจิ ยังชี้ว่า การช่วยเหลือโรงแรมนั้นมีอุปสรรคทางการเมืองอยู่มาก ในขณะที่โรงแรมบางแห่งสูญเสียผลกำไรมากกว่าที่คิด

 

สำหรับการเตรียมความพร้อมของกลุ่มธุรกิจโรงแรมเพื่อต้อนรับงานนี้ มีการรายงานจาก Bloomberg ที่อ้างอิงข้อมูลของกระทรวงการคลัง ระบุว่าอุตสาหกรรมนี้ทุ่มเงินไปทั้งหมดประมาณ 1.5 ล้านล้านเยน หรือราว 4.4 แสนล้านบาท เพื่ออัปเกรดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตั้งแต่ปี 2016 จนถึง 2019 ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับปี 2014-2016 

 

ทั้งนี้ ในปี 2020 การแพร่ระบาดของโรคโควิดส่งผลให้โรงแรมกว่า 57% อยู่ในภาวะล้มละลาย นับเป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011 ที่มีเหตุการณ์สึนามิและภัยพิบัตินิวเคลียร์ครั้งใหญ่ (อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันวิจัย Tokyo Shoko) ซึ่งดูท่าว่าสถานการณ์ในตอนนี้จะเลวร้ายยิ่งกว่าครั้งนั้น สะท้อนจากโรงแรมขนาดเล็กหลายรายจำใจต้องปิดกิจการไปก่อนที่หนี้จะท่วมหัวจนต้องล้มละลายในที่สุด

 

โคอิชิโร คาคี ตัวแทนนายกสมาคมโรงแรมญี่ปุ่นเผยว่า อัตราการเข้าพักของโรงแรมในสมาชิกยังคงต่ำกว่า 30% ถือว่าเจ็บหนักมาก หากเทียบกับช่วงก่อนการระบาดที่มีถึง 80% ซึ่งคาคีย้ำว่าการเยียวยาของภาครัฐเรื่องโครงการพักงานยังเป็นเรื่องสำคัญต่ออุตสาหกรรมโรงแรม เพราะยังพอบรรเทาภาระภาษีที่ดินไปได้บ้าง

 

อย่างไรก็ดีในส่วนของโรงแรมที่ยังพอทนไหวสามารถฝ่าพ้นงานโอลิมปิกไปได้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนให้ความเห็นตรงกันว่า จะได้เห็นแสงสว่างอยู่ที่ปลายอุโมงค์แน่นอน 

 

เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจาก Bloomberg Vaccine Tracker รายงานว่า กว่า 21.7% จากจำนวนประชากรทั้งหมดในญี่ปุ่น ได้รับวัคซีนโควิดครบโดสแล้ว โดยมีความหวังว่าประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งต้องได้ฉีดวัคซีนภายในเดือนกันยายนนี้

 

อีกเรื่องที่จะเป็นปัจจัยบวกคือการออกวัคซีนพาสปอร์ต (Vaccine Passport) 

ที่ออกโดยเทศบาลของแต่ละพื้นที่ โดยจะต้องระบุชื่อผู้ถือใบรับรอง หมายเลขหนังสือเดินทาง และวันที่ฉีดวัคซีน โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดครบโดสแล้วใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศได้ เบื้องต้นวัคซีนพาสปอร์ตจะอยู่ในรูปแบบเอกสาร แต่ในอนาคตอาจจะเป็นรูปแบบดิจิทัล

 

ขณะเดียวกันทางรัฐบาลกำลังพิจารณาเจรจากับ 10 ประเทศที่ยอมรับวัคซีนพาสปอร์ตรวมถึงอิตาลี ฝรั่งเศส และกรีซ ว่าชาวญี่ปุ่นที่ถือใบรับรองจะได้รับการยกเว้นจากการกักตัวหรือลดระยะเวลากักตัวหลังเดินทางเข้าประเทศ

 

“หากภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์จากวัคซีนพาสปอร์ตได้ ก็จะสามารถดึงความต้องการของผู้บริโภคกลับมาได้” คุมาโนะกล่าว พร้อมเสริมว่า คนเกษียณอายุที่ได้รับวัคซีนแล้วมีจำนวนมาก คนเหล่านั้นพร้อมเดินทางกันแล้ว

 

ประกอบกับรัฐบาลยังเหลือเงินที่ไม่ได้ใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ Go to Travel อีกกว่า 1.3 ล้านล้านเยน หรือราว 3.8 แสนล้านบาท 

 

ซึ่งเมื่อปีที่แล้วทางการญี่ปุ่นได้ออกโครงการนี้ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Go to Campaign ที่รัฐจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้คนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นออกไปเที่ยวในประเทศ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีทีเดียว ทว่าก็ต้องถูกระงับไปชั่วคราวในช่วงปลายเดือนธันวาคม เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเมืองใหญ่ 

 

ซึ่งคิอุจิ จากสถาบันวิจัย Nomura มองว่าโครงการนี้คงยังไม่กลับมาใช้อีกจนถึงหลังฤดูใบไม้ร่วงแน่ เพราะยังไม่มีท่าทีที่แน่ชัดจากฝั่งรัฐบาลออกมาเลย แต่ในด้านของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคงได้เห็นการฟื้นตัวกลับมา

 

“งานโอลิมปิกที่ไม่มีผู้ชมคือความอนาถอย่างแท้จริง” ฟูมิโกะ โมโตยะ ประธานโรงแรม APA Hotel กล่าว “แต่หากสถานการณ์โควิดควบคุมได้แล้ว เราหวังว่าโครงการ Go to Travel จะกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง แล้วเราก็จะได้เห็นการท่องเที่ยวในประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising