×

ป้องกันเฟกนิวส์-ระวังการผูกขาดความจริงโดยรัฐ เสียงสะท้อนจากวงเสวนา ‘ขยี้สื่อ vs. ข่าวปลอมฯ’

08.08.2022
  • LOADING...
เฟกนิวส์

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเสวนาหัวข้อ ‘ขยี้สื่อ vs. ข่าวปลอม เยาวชนกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง’ จัดโดยโครงการการเมืองเยาวชนร่วมสมัยกับการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมือง รู้เท่าทันข่าวปลอม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่ายสถาบันการศึกษา 24 สถาบันทั่วประเทศ

 

วิทยากร ประกอบด้วย 

  • ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. 
  • มนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
  • ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters, ผู้สื่อข่าวสามมิติ
  • ธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวการเมือง THE STANDARD 

 

ดำเนินรายการโดย 

  • นิพนธ์ ตั้งแสงประทีป โปรดิวเซอร์ และผู้ดำเนินรายการ Big story 
  • สุชาดา นิ่มนวล ผู้ประกาศข่าว PPTV 

 

มีการถ่ายทอดทาง Facebook Live แฟนเพจ The Reporters, เยาวชน การเมืองกับข่าวปลอม และ JC Thammasat 

  • พื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การมีส่วนรวมทางการเมืองอยู่ในภาพใหญ่ของการมีส่วนร่วมทางสังคม ซึ่งการมีส่วนร่วมเป็นวัฒนธรรมของการรับฟังกันและกัน ปัจจุบันแพลตฟอร์มต่างๆ เกิดขึ้นได้เพราะเยาวชนสามารถพูดผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ เช่น Facebook, TikTok วัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นกับเยาวชนอยู่แล้ว ภาครัฐจะรองรับการมีส่วนร่วมอย่างไร 

 

สำหรับ กทม. พยายามเปิดพื้นที่รับฟังมากขึ้น มีทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม สามารถร้องเรียน แจ้งเหตุได้ เราเปิดพื้นที่ชุมนุมโดยมีการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ นอกจากนั้นสิ่งที่เราอยากทำคือ Open Bangkok การเปิดข้อมูล 

 

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นด้วยว่า สำหรับพื้นที่ปลอดภัย หากสร้างได้ก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนมากขึ้น ตอนนี้ กทม. กำลังทำเรื่องย่านสร้างสรรค์ ทำถนนคนเดิน จัดงานในชุมชน จัดกีฬา ให้บทบาททางสำนักงานเขต โดยให้เขตสนับสนุนชุมชนที่เขาอยากผลักดันชุมชนเขาเอง โดยเขตไม่ต้องจัดงานเอง แต่ชวนชุมชนลุกขึ้นมา เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมได้ ทำมาแล้ว 9 ย่าน เมืองจะดีขึ้นได้ต้องให้ชุมชนและเยาวชนเข้มแข็ง แล้ว กทม. มีหน้าที่สนับสนุนสิ่งเหล่านี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากการมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่มีพื้นที่ปลอดภัย ไม่มีวัฒนธรรมนี้ในสังคม 

 

สำหรับปัญหาเฟกนิวส์ ศานนท์กล่าวว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. มีนโยบาย Radical Transparency โดยการ Facebook Live ซึ่งเฟกไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเห็นตลอดเวลาในการสื่อสาร เล่าทุกอย่างตรงไปตรงมา สามารถป้องกันเฟกนิวส์ด้วยส่วนหนึ่ง สำหรับการรับมือเฟกนิวส์ ผู้รับข่าวต้องไม่เชื่อก่อน แล้วดูที่มาที่ไปของข่าว ขณะที่ในโซเชียลมีเดียมีข่าวสารท่วมท้นมาก 

  • เฟกนิวส์เกิดขึ้นจากความคลุมเครือของสถานการณ์

มนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สังคมไทยมักจะผลักคำว่าการเมืองออกไปไกลตัวมากพอสมควร ขณะที่จริงๆ แล้วการเมืองเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของคนต่อการตัดสินใจร่วมกัน เป็นวิถีชีวิต ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งมีหลายระดับ ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสังคม

 

มนต์ศักดิ์กล่าวถึงรูปแบบการเมืองว่ามีคำสำคัญ 2 คำ คือ บทบาทหน้าที่ และสมรรถภาพในการเข้าใจสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ซึ่งต้องมีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น และการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นสิ่งสำคัญ จะต้องสร้างวัฒนธรรมนี้ 

 

“รูปแบบการสร้างการมีส่วนร่วมที่สำคัญคือ เยาวชนต้องฟังคนอื่นให้เป็นก่อน ฟังแล้วอาจจะขัดกับความเชื่อเดิมของเรา แต่เราต้องเปิดใจฟังชุดความคิดที่แตกต่างจากเราให้ได้ก่อน แล้วหลังจากนั้นตั้งคำถาม ถกเถียงต่อ เป็นกระบวนการสำคัญ จุดเริ่มต้นสร้างการมีส่วนร่วม”

 

มนต์ศักดิ์กล่าวถึงปัญหาเฟกนิวส์ด้วยว่า เกิดขึ้นจากความคลุมเครือของสถานการณ์ ก่อให้เกิดการตีความจากความคิดความเชื่อของแต่ละคน ดังนั้น ต้องตั้งคำถามว่าข่าวที่ได้รับเป็นความจริงใช่หรือไม่ นอกจากนั้น มองว่าสถาบันการศึกษาควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นบทบาทสำคัญในการสร้างภูมิต้านทาน ทำให้เฟกนิวส์หายไปได้ด้วย Open Data และแก้ไขด้วยข้อเท็จจริง แม้จะใช้ระยะเวลาที่นานแต่ก็ต้องทำ 

  • สื่อวิชาชีพแตกต่างจากคนอื่น ที่ความรู้และความรับผิดชอบในการเผยแพร่ข่าว

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters, ผู้สื่อข่าวสามมิติ กล่าวว่า ชีวิตเกิดมาในรุ่นที่เจอรัฐประหารตั้งแต่ปี 2535 สมัยอยู่มัธยมปีที่ 4-5 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ดูทีวีอยู่ต่างจังหวัด อยากมีส่วนร่วมทางการเมือง อยากมาร่วมม็อบแต่มาไม่ได้เพราะยังเป็นนักเรียน ถ้าสมัยนั้นมี Facebook ก็คงจะโพสต์แสดงออกทางการเมือง 

 

พอเรียนจบปี 2543 มาเป็นนักข่าวการเมืองยุคประชาธิปไตยเฟื่องฟู สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (ปี 2544) ต่อมารัฐบาลทักษิณถูกรัฐประหารปี 2549 หลังจากนั้นระหว่างเป็นนักข่าวยังเจอรัฐประหารปี 2557 หากเปรียบเทียบพัฒนาการการมีส่วนร่วมของเยาวชนปี 2562-2563 จะเห็นความแตกต่างจากยุคสมัยที่เราเติบโตมา เพราะเยาวชนในยุคหลังตื่นตัวทางการเมืองมากกว่ายุคเรา 

 

ม็อบยุคล่าสุดบางทีไม่ได้พึ่งพาสื่อกระแสหลักอย่างทีวี โดยเฉพาะ 2 ปีที่ผ่านมาทุกคนมีสื่อของตัวเองอยู่ในโลกออนไลน์ การมีส่วนร่วมทางการเมืองสามารถทำได้โดยการสื่อสารผ่านสื่อของตัวเอง

 

สื่อออนไลน์มีอิทธิพลกับคนมาก คนอยากดู Live ถ่ายทอดการชุมนุม คนมามีส่วนร่วมกับเราผ่านการชม Live ติดตามข่าว 

 

การมีส่วนร่วมจึงไม่ได้อยู่แค่ในท้องถนน แต่อยู่ในออนไลน์ ในมือถือ ใน Live ที่คนเข้ามาคอมเมนต์แสดงความคิดเห็น รูปแบบการมีส่วนร่วมจะมาทางการสื่อสาร 

 

นอกจากนั้น ปัจจุบันคนก็ทำสื่อลงช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเองได้ สื่อสามารถขับเคลื่อนสังคมได้ เป็นพื้นที่ให้ทุกคู่ขัดแย้งมาถกเถียงกันได้ เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนได้ในการนำเสนอเรื่องราวผ่านสื่อ 

 

ช่วงที่มีการชุมนุมล่าสุด ปี 2563 สื่อถกเถียงกันมาก เพราะในม็อบมีแต่เด็ก เยาวชน มีประเด็นสิทธิเด็ก บางทีจะถ่ายภาพเด็กได้ไหม เช่น เด็กนักเรียนชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เด็กบอกต้องการแสดงใบหน้าในขณะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ตอนนั้นเป็นเรื่องที่สื่อถกเถียงกันมาก เพราะสื่อต้องพิจารณาว่า หากถ่ายทอดเรื่องที่เด็กพูดโดยเปิดเผยใบหน้าแล้วเด็กจะเป็นอันตรายหรือไม่ แม้เจ้าตัวอนุญาต แต่ด้วยกฎหมายเรื่องสิทธิเด็กก็ต้องปิดหน้าไว้ก่อน 

 

เรื่องนี้สื่อต้องพิจารณาว่า การนำเสนอจะเป็นอันตรายกับเด็กในภายหลังหรือไม่ ที่สำคัญคือสื่อต้องรับผิดชอบ แม้ว่าเด็กจะอนุญาตและยืนยันพร้อมออกสื่อ 

 

ส่วนตัวในฐานะสื่อจะพิจารณา หากการแสดงความคิดเห็นมีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายต่อเด็ก ต่อให้เด็กอยากเปิดเผยใบหน้า ในฐานะสื่อก็จะไม่เปิดเผยใบหน้าเด็ก สื่อต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ตามหลักการกฎหมาย สิทธิเด็กเป็นเรื่องสำคัญ ต้องพิจารณารอบคอบ แต่หากเด็กแสดงออกผ่านสื่อโซเชียลของตัวเองก็เป็นความรับผิดชอบของเด็กเอง จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

 

ส่วนปัญหาเฟกนิวส์ วิธีการรับมือคือตรวจสอบที่มาของข่าวว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ ซึ่งในบางกรณีก็เป็นเพจข่าวประชาสัมพันธ์ของจังหวัด เช่น จ.เชียงราย กรณีถ้ำหลวง เพราะมีข่าวปลอมเยอะในช่วงนั้น 

 

ในฐานะสื่อต้องรับผิดชอบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการตรวจสอบ แต่ถ้าในฐานะผู้รับข่าวสารก็ต้องเลือกสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ ถ้าเรามีนักผลิตสื่อที่มีความรับผิดชอบก็จะลดจำนวนเฟกนิวส์ การเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องผ่านทุกช่องทางที่มีอยู่ให้มากที่สุดก็ช่วยแก้ปัญหาเฟกนิวส์ได้ หน่วยงานรัฐก็ต้องชี้แจงให้มากที่สุดเช่นกัน 

 

ทั้งนี้ มีคำถามจากผู้ร่วมฟังเสวนาว่า ในยุคที่ใครก็สามารถเป็นสื่อได้ จะแตกต่างอย่างไรกับสื่อมืออาชีพ 

 

ฐปณีย์ตอบว่า สื่อมวลชนเป็นวิชาชีพที่มีความรับผิดชอบสูงกว่าคนอื่นๆ เพราะการทำงานสื่อมีองค์กร มีสถาบันที่เราต้องรับผิดชอบสูงมาก การเป็นนักข่าวไม่ใช่เพียงตั้งคำถามอย่างไรก็ได้ เพราะต้องมีความรู้ มีความรับผิดชอบ สื่อวิชาชีพจึงแตกต่างจากบุคคลทั่วไป เนื่องจากเวลารายงานต้องใช้ความรู้ความรับผิดชอบในการผลิตคอนเทนต์ ซึ่งคอนเทนต์ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน มีความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว และต้องรู้เรื่องอื่นๆ ด้วย บางครั้งทำข่าวการเมืองอยู่ก็อาจจะต้องไปทำข่าวอาชญากรรม จึงต้องมีความรู้ทุกเรื่อง ไม่เฉพาะความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว

  • เฟกนิวส์ และปมปัญหาการผูกขาดความจริงโดยรัฐ 

ธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวการเมือง THE STANDARD กล่าวถึงการเกิดขึ้นของอินฟลูเอ็นเซอร์และความท้าทายของการทำหน้าที่สื่อมวลชนว่า วันหนึ่งถ้าคนมองว่า ‘นักข่าว’ ไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่มีความรับผิดชอบ และมองว่าอินฟลูเอ็นเซอร์ทำงานได้ดีกว่านักข่าว ก็จะเป็นอีกความท้าทายหนึ่งที่เราต้องกลับมาตอบตัวเองว่า นิยามความเป็นนักข่าวควรจะเป็นแบบไหน จากเดิมคือต้องมีกอง บ.ก. มีวิธีคิด มีความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว แต่ในอนาคตจะเป็นแบบไหน อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วการอยู่ในวิชาชีพนี้ ความเชี่ยวชาญ ความสนใจที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเป็นเรื่องสำคัญ บางวันทำข่าวไฟไหม้ บางวันทำข่าวโควิด ต้องมีทักษะหลายเรื่อง ที่สำคัญคือต้องสามารถอธิบายข้อมูลในข่าวได้ เพราะคนมีความคาดหวังจากนักข่าวเรื่องความรู้ในข่าว

 

ธนกรกล่าวถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนว่า ใน 1-2  ปีที่ผ่านมา เยาวชนมีความตื่นตัวมาก และสร้างผลกระทบแก่ตัวเขามากเช่นกัน เรามีแกนนำที่เป็นเยาวชน อายุน้อยที่สุด 14 ปี ซึ่งถูกดำเนินคดีการเมือง วิธีคิดของคนถืออำนาจทางการเมืองเข้ามากำหนดทุกสิ่ง วิธีคิดบางอย่างของรัฐที่ปฏิบัติต่อเยาวชนที่อยากมีส่วนร่วม เขาคิดอย่างไรกับการแสดงออกของเยาวชน การจับเด็กอายุ 14 ปี เราย้อนถามได้ว่า สังคมคิดอะไรกับวิธีการแสดงออกของเยาวชนและวิธีคิดของรัฐ เราควรจะมีพื้นที่แก่เยาวชนโดยมีความอดทนเห็นอกเห็นใจกัน โดยที่แต่ละคนสามารถรักษาอุดมการณ์ซึ่งเป็นหลักที่ตัวเองเลือกได้ หากย้อนไปในยุคความขัดแย้งเรื่องสีเสื้อในแต่ละฝ่ายก็ยังมีเฉดต่างๆ ปะปนกันอยู่

 

ธนกรกล่าวด้วยว่า วันนี้ (6 สิงหาคม) เป็นวันครบรอบ 1 ปีที่สื่อมวลชนฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมี ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้ง The Reporters เป็นโจทก์ที่ 1 ยื่นฟ้องจำเลยคือ พล.อ. ประยุทธ์ เพื่อให้รัฐเพิกถอนข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว โดยฟ้องร่วมกับสื่อหลายสำนัก (THE STANDARD, The MATTER, Plus Seven, ประชาไท, Voice ฯลฯ) ก็เป็นความร่วมมือของสื่อมวลชน นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง 

 

ธนกรกล่าวถึงการรับมือปัญหาเฟกนิวส์ว่า การเปิดเผยข้อมูลสามารถลดเฟกนิวส์ได้ เพราะประชาชนตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ได้โดยไม่มีข้อสงสัย อย่างไรก็ตาม คำว่า ‘ความน่าเชื่อถือ’ ก็มีประเด็นปัญหาเช่นกันในเรื่องการผูกขาดความจริง โดยรัฐบอกว่าการแสดงความคิดเห็นของประชาชนนั้นไม่จริง ซึ่งไปลดทอนความกล้าแสดงออกของประชาชน 

 

“เราต้องไปต่อสู้ว่า การนำเสนอสิ่งที่เรียกว่าสร้างความหวาดกลัวนั้น ใครเป็นคนหวาดกลัว รัฐหวาดกลัว หรือประชาชนหวาดกลัว การที่รัฐบอกว่าเรื่องอะไรจริงหรือไม่ มันน่าเชื่อถือจริงหรือไม่ ถูกต้องจริงไหม ขณะที่มีข้อมูลอีกมุมที่อธิบายแตกต่างจากรัฐ” ธนกรกล่าว

 

ทั้งนี้ มีคำถามจากผู้ร่วมฟังเสวนาเรื่องความเห็นแตกต่างกันระหว่างอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยกับนักศึกษา เรื่องการแต่งกาย ซึ่งนักศึกษาไม่ต้องการให้จำกัดเพียงชุดนักศึกษาตามระเบียบเท่านั้น 

 

ธนกรเล่าประสบการณ์ขณะเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า ในขณะที่เรียนวิชาหนึ่ง อาจารย์ถามหาเหตุผลเรื่องการแต่งกาย ปรากฏว่าเพื่อนในห้องถามอาจารย์กลับไปเช่นกันว่า อาจารย์เองต้องแต่งกายแบบไหนจึงจะสอนรู้เรื่อง คือนักศึกษามีวิธีคิดย้อนกลับแบบนี้เช่นกันในยุคที่เด็กถูกถามหาเหตุผลอยู่ตลอดเวลา นักศึกษาคนนั้นก็อยากถามหาเหตุผลจากอาจารย์ สุดท้ายเกิดเป็นประชาธิปไตยในห้องเรียน ประชาธิปไตยที่ต้องคุยกัน ตกลงกันว่าจะเอาอย่างไร เพราะคำถามนี้ทำให้อาจารย์นิ่งและกลับมาคุยกับนักศึกษา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising