“ฉันใช้ชาผสมกับน้ำหมึก ดังนั้น ภาพลายพู่กันของฉัน จึงมีรสชาติของชาอยู่ภายใน ฉันใช้พู่กันทั้งแบบจีนและแบบตะวันตก ทุกชนิดและทุกขนาด เมื่อฉันวาดวงกลม ฉันก็ตามลมหายใจ หายใจเข้า ฉันวาดวงกลมครึ่งวง และหายใจออก ฉันวาดอีกครึ่งวง ในภาพลายพู่กันของฉัน มีน้ำหมึก ชา ลมหายใจ สติ และสมาธิ นี่คือการภาวนา…”
หากพูดถึง ‘การภาวนา’ ในมุมมองที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยคุ้นเคยนั้น แน่นอนว่าภาพของการนั่งสมาธิ นุ่งขาวห่มขาว เดินจงกรมในวัด รวมทั้งการสวดมนต์ คือภาพแรกที่นึกถึง ทว่า สำหรับพระนิกายเซนชาวเวียดนามผู้ใช้เวลาค่อนชีวิตเผยแพร่พุทธศาสนาอยู่ในซีกโลกตะวันตกอย่าง ท่านติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) การภาวนาและธรรมะย่อมไม่สามารถแยกออกจากชีวิตประจำวันได้
ไม่ว่าจะขับรถ นั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ฟังเพลง ทำสวน เขียนบทกวี หรือทำงานศิลปะ ก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นการภาวนาได้ทั้งสิ้น ซึ่งการที่ ท่านติช นัท ฮันห์ หรือหลวงปู่ หรือไถ่ (Thay แปลว่า อาจารย์ในภาษาเวียดนาม) ได้นำธรรมะมาเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 อย่างแยบยล ทำให้ชาวตะวันตก วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ และผู้ที่ไม่เคยศึกษาศาสนาพุทธมาก่อน สามารถเข้าถึงแก่นของธรรมะได้โดยไม่ต้องเข้าวัด เช่นเดียวกับธรรมะในหัวข้อ ‘เฉลิมฉลองชีวิต’ ที่หลวงปู่นำมาเทศนาในรูปแบบของนิทรรศการ ซึ่งมีเพียงบทกวีและวลีจากปลายพู่กันเป็นสื่อกลาง ณ หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ท่านติช นัท ฮันห์
“นี่คือนิทรรศการครั้งที่ 2 ของหลวงพี่ที่จัดขึ้นในเมืองไทย โดยครั้งแรกจัดเมื่อ พ.ศ. 2556 แต่ครั้งแรกสุดจริงๆ ของการจัดนิทรรศการภาพจากลายพู่กันของไถ่จัดขึ้นที่ฮ่องกง โดยการเชื้อเชิญของฆราวาส จากนั้นก็เริ่มมีการตอบรับที่ดี เพราะบทกวีและภาพมีพลังในการสื่อสารมากกว่าการพูดเสียอีก บางคนก็อยากจะได้คำที่ไถ่เขียนไว้ไปฝึกปฏิบัติภาวนาที่บ้าน ที่ทำงาน ซึ่งการเขียนบทกวีและงานศิลปะเป็นสิ่งที่ สังฆะ*ในหมู่บ้านพลัม** ใช้ฝึกปฏิบัติกันอยู่แล้วรวมทั้งไถ่ด้วย”
พระธรรมาจารย์ฟับเหวี่ยน
พระธรรมาจารย์ฟับเหวี่ยน (Phap Nguyen) พระอุปัฏฐากผู้ทำงานใกล้ชิดกับหลวงปู่ ย้อนเล่าถึงงานนิทรรศการศิลปะปลายพู่กันครั้งแรกของหลวงปู่ ซึ่งจัดขึ้นในมหาวิทยาลัยฮ่องกง แต่ก่อนหน้านั้นหลวงปู่ได้ฝึกเขียนภาพลายพู่กันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 เป็นการเขียนชื่อบทเพลงและสัญลักษณ์ลงบนแผ่นไม้ เพื่อใช้ในหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อมีผู้สนใจขอนำภาพลายพู่กันเหล่านั้นไปฝึกภาวนา ท่านจึงเริ่มเขียนลายพู่กันลงบนแผ่นกระดาษ โดยใช้ทั้งพู่กันที่หลากหลายทั้งของตะวันตกและตะวันออก ส่วนหมึกนั้นใช้ของจีนและญี่ปุ่น ส่วนในระยะสิบปีให้หลัง ท่านได้เปลี่ยนมาเขียนลงบนกระดาษสาที่ทำจากฟางข้าว ว่ากันว่างานศิลปะจากลายพู่กันของท่านมีไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นภาพเลยทีเดียว
สำหรับนิทรรศการ ‘เฉลิมฉลองชีวิต หลวงปู่ติช นัท ฮันห์’ ที่จัดขึ้นถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครนี้ หลวงพี่ฟับเหวี่ยนเล่าว่า เป็นผลงานที่หลวงปู่ตั้งใจเขียนขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ตรงกับความหมายของนิทรรศการครั้งนี้โดยเฉพาะ ส่วนความหมายของการเฉลิมฉลอง สามารถตีความได้ 2 อย่าง คือ อริยสัจ 4 อันเป็นหัวใจแห่งพุทธและการเฉลิมฉลองชีวิตในวัย 93 ปีของหลวงปู่
“อริยสัจ 4 บอกว่า ชีวิตเป็นทุกข์ แต่จริงๆ แล้วชีวิตไม่ได้เป็นทุกข์ อีกด้านของทุกข์คือความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับชีวิต การมีสติ กลับมาเรียนรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับตัวเราและรอบตัวเรา จะทำให้เราเข้าใจเหตุแห่งความทุกข์นั้นมากขึ้น เมื่อเราเข้าใจในปัจจุบันขณะที่เกิดขึ้นกับตัวเรา เราก็จะเข้าใจกับความมหัศจรรย์ของชีวิตที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นได้ เหมือนที่ไถ่เคยกล่าวว่า ‘การมีชีวิตอยู่คือความมหัศจรรย์ และเมื่อเธอหายใจอย่างมีสติ เธอสัมผัสกับความมหัศจรรย์ของการมีชีวิตอยู่’
“อีกความหมายของการเฉลิมฉลองชีวิต หมายถึงการที่ไถ่มีอายุ 93 ปี ท่านมีปัญหาสุขภาพ แต่ท่านก็สามารถเบิกบานกับชีวิตได้ทุกลมหายใจ เพราะท่านเห็นความทุกข์และความสุขมันเป็นดั่งกันและกัน เมื่อเราดูแลความทุกข์ เราก็จะสามารถชื่นชมชีวิตได้มากขึ้น และจะสามารถเฉลิมฉลองชีวิตได้ แต่ก่อนจะเฉลิมฉลองชีวิตได้ เราต้องฝึกปฏิบัติสติก่อน”
และเมื่อเราถามต่อว่า ศิลปะ บทกวี รวมทั้งการเข้าชมลายพู่กันครั้งนี้จะสามารถสร้างเสริมสติได้อย่างไร หลวงพี่ฟับเหวี่ยนไม่ได้ตอบอย่างตรงไปตรงมา ทว่า ชี้ชวนให้เราหยุดดูหน้างานชิ้นหนึ่งที่มีปลายพู่กันตวัดไว้ว่า ‘This is it’
“เราทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างเคร่งเครียดทุกวัน จนลืมไปว่าความสุขในชีวิตของเราอยู่ไม่ไกลจากเราเลย เราสามารถเบิกบานกับชีวิตประจำวันของเราได้ เพียงแค่เรามีสติ รับรู้ถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เพื่อที่จะเตือนว่าอดีตคือเมื่อวาน อนาคตคือวันพรุ่งนี้ มีเพียงปัจจุบันขณะเท่านั้นที่อยู่ตรงหน้า เราสามารถใช้ลมหายใจและรอยยิ้มของเราสัมผัสกับปัจจุบันขณะได้ This is it วลีเหล่านี้อาจจะเป็นเพียงคำสั้นๆ แต่ก็สามารถเป็นประตูที่เปิดไปสู่ปัญญาญาณ ส่วนการฝึกปฏิบัติด้วยการเขียนพู่กัน บทกวี งานศิลปะ หรือแม้แต่เพลง ก็เป็นการฝึกให้จิตของเรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะในงานที่เรากำลังทำด้วยเช่นกัน”
เราสังเกตว่า ลายพู่กันของหลวงปู่มีทั้งวลี บทกวีสั้นๆ ทั้งภาษาอังกฤษ จีน เวียดนาม แต่ที่สะกิดใจเรามากที่สุดเห็นจะเป็นวงกลมแห่งเซน ซึ่งไม่ได้มีความหมายเพียงความว่างเปล่า สุญญตา แต่ยังลึกซึ้งไปถึงคำสอนของหลวงปู่ที่ว่าด้วย Interbeing หรือ ‘เราเป็นดั่งกันและกัน’ ซึ่งเป็นคำสอนที่หลวงปู่มักจะกล่าวอยู่เสมอในงานภาวนา… เมฆและกระดาษเกี่ยวเนื่องกันอย่างแยกไม่ออก ไม่มีเมฆ ไม่มีฝน ก็ย่อมไม่มีต้นไม้และไม่มีกระดาษ เมื่อมองกระดาษก็ให้มองให้เห็นไปจนถึงดวงอาทิตย์ ก้อนเมฆ และคนตัดไม้ เพราะกระดาษเกิดขึ้นจากสิ่งที่ไม่ใช่กระดาษ ร่างกายเราเองก็เช่นกัน ทุกอย่างเป็นดั่งกันและกัน ซึ่งทั้งหมดสามารถสื่อสารผ่านภาพวงกลมเพียงวงเดียว
นอกจากภาพจากปลายพู่กันแล้ว ‘เฉลิมฉลองชีวิต หลวงปู่ติช นัท ฮันห์’ ยังมีสวนเซนเล็กๆ ให้ได้ชมอยู่ตรงกลางนิทรรศการ ซึ่งนี่คือการฝึกปฏิบัติอย่างหนึ่งของหมู่บ้านพลัม เช่นเดียวกับที่หลวงปู่เคยบอกไว้ว่า ท่านไม่สามารถเขียนบทกวีได้ หากท่านไม่ได้ทำสวนผักสลัด และความพิเศษอีกหนึ่งอย่างของงานชิ้นนี้คือ การจำหน่ายหนังสือ รวบรวมลายพู่กันของท่าน ซึ่งได้สะท้อนคำสอนของหลวงปู่ที่ได้ยึดถือแนวทางภาวนาและฝึกปฏิบัติมาตลอด 70 ปี
“I have arrived, I am home” หรือ “การกลับบ้านที่แท้จริง” เป็นอีกประโยคจากปลายพู่กันที่กระตุกใจเรามาก เพราะตลอดเวลาที่หลวงปู่ลี้ภัยอยู่ฝรั่งเศสเมื่อคราวสงครามเวียดนาม และไม่ได้รับอนุญาตให้กลับประเทศหลังจากที่ท่านได้เรียกร้องสันติภาพในซีกโลกตะวันตก การกลับบ้านจึงเป็นความทรมานอย่างหนึ่งของผู้ลี้ภัยสงครามในช่วงนั้น ทว่า คำสอนของหลวงปู่ได้ดึงให้ทุกคนหันกลับมาสู่บ้านที่แท้จริงนั่นก็คือปัจจุบันขณะ และปัจจุบันในขณะนี้หลวงปู่ก็ได้เดินทางกลับสู่บ้านเกิดของท่านอีกครั้งเมื่อปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันท่านได้พำนักอยู่ที่วัดตื่อฮิ้ว (Tu Hieu) เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม และ ณ วัดตื่อฮิ้วเมื่อ พ.ศ. 2469 เด็กชายคนหนึ่งได้ตัดสินใจมาบวชเป็นสามเณรและฝึกปฏิบัติภาวนาจนอุปสมบทในเวลาต่อมา และได้รับนามทางธรรมว่า นัท ฮันห์
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
- นิทรรศการเฉลิมฉลองชีวิต หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 17 กุมภาพันธ์ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถนนพระราม 1 กรุงเทพฯ (ไม่เสียค่าเข้าชม)
- ในช่วงทศวรรษที่ 60 ท่านติช นัท ฮันห์ ได้ลี้ภัยสงครามจากเวียดนามไปอยู่ในประเทศตะวันตก และได้ทำงานสันติภาพต่อต้านสงครามเวียดนาม พ.ศ. 2518 ท่านได้ตั้งชุมชน Sweet Potato ขึ้นใกล้กรุงปารีส และได้ย้ายไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เพื่อสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมที่ชื่อ ‘หมู่บ้านพลัม’ โดยตั้งชื่อตามต้นพลัมที่ขึ้นอยู่ทั่วบริเวณนั้น
- ติช (Thich) ในภาษาเวียดนามใช้เรียกพระ
หมายเหตุ
*สังฆะ หมายถึง ชุมชนแห่งการฝึกปฏิบัติ เพื่อดำเนินชีวิตอย่างมีสติของพุทธบริษัท 4 เช่น สังฆะหมู่บ้านพลัม
**หมู่บ้านพลัม หมายถึง ศูนย์ปฏิบัติธรรมที่ ท่านติช นัท ฮันห์ ก่อตั้งขึ้นในฝรั่งเศส