×
SCB Omnibus Fund 2024

ผู้บริหารจะตัดสินใจอย่างไร เมื่ออนาคตมีได้หลายรูปแบบ

09.12.2020
  • LOADING...

หลังจากที่โลกได้เผชิญกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 มาหลายเดือนแล้ว ถึงตอนนี้คงต้องยอมรับว่าการคาดการณ์อนาคตเป็นเรื่องที่ทำได้ยากจริงๆ ครับ ในช่วงที่โควิด-19 ได้เริ่มระบาดในประเทศไทย ผมได้เขียนบทความเรื่อง “การคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Foresight) หลังวิกฤตหลังโควิด-19 มุมมองที่ผู้บริหารควรมี” ซึ่งในบทความนั้น ผมได้กล่าวถึงแนวคิดที่เรียกว่า Strategic Foresight ซึ่งเป็นวิธีการทางกลยุทธ์ที่ช่วยให้ผู้บริหารสามารถคาดการณ์อนาคตและวางแผนให้องค์กรสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ได้ในโลกที่มีความผันผวน (Volatility), ไม่แน่นอน (Uncertainty), ซับซ้อน (Complexity) และกำกวม (Ambiguity) หรือที่เราเรียกว่า VUCA World นั่นเองครับ

 

การคาดการณ์อนาคตเชิงกลยุทธ์คือการมองภาพอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบผ่านกระบวนการคิดอย่างมีระบบและมีกลยุทธ์ ซึ่งประกอบด้วยการตีกรอบภาพอนาคต (Framing), การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในทุกมิติ (Scanning) และการวางแผนภาพในอนาคต (Scenario Planning) หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ เราอาจมีภาพในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้หลายภาพ ซึ่งมีความเป็นไปได้ตั้งแต่ 2 ภาพขึ้นไป หรืออาจจะมีมากถึงสิบๆภาพ ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น จึงมีคำถามที่น่าสนใจว่า แล้วผู้บริหารควรที่จะมีแนวทางในการคิดและตัดสินใจอย่างไรกับภาพอนาคตทั้งหมด และองค์กรควรที่จะเลือกหรือมุ่งเน้นไปที่ภาพไหนเป็นหลัก เพราะคงเป็นไปได้ยากที่ภาพทั้งหมดที่ได้คาดการณ์ไว้นั้นจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ดังนั้น บทความนี้ ผมจึงจะแนะนำแนวทางที่จะช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจเลือกภาพในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงวิธีการ (Approach) ที่องค์กรจะพิจารณาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ต่อไปครับ

 

สิ่งสำคัญประการแรกคือ ท่านจะต้องจัดลำดับความสำคัญของภาพอนาคตที่ได้คาดการณ์เอาไว้ทั้งหมดก่อน โดยการตั้งคำถาม 2 ข้อกับภาพอนาคตดังนี้ครับ

 

คำถามที่ 1 คือ มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ภาพอนาคตดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริง (How likely is the scenario?)

 

คำถามที่ 2 คือ องค์กรของท่านได้เตรียมความพร้อมกับภาพอนาคตดังกล่าวเอาไว้มากหรือน้อยแค่ไหน (How unprepared are you for the scenario?)

 

ทั้งนี้ ท่านจะต้องตอบคำถามทั้ง 2 ข้อโดยการให้คะแนนเป็นสเกลตั้งแต่ 1-9 โดยในคำถามข้อแรก ถ้าท่านคิดว่าภาพอนาคตที่ท่านคาดการณ์ไว้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นมาก ท่านจะต้องให้คะแนนสูง แต่ถ้ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อย ท่านก็จะต้องในคะแนนภาพอนาคตนั้นน้อยลงตามลำดับ ในขณะที่คำถามข้อสอง ท่านจะให้คะแนนมากถ้าองค์กรของท่านไม่ได้มีการเตรียมตัวสำหรับภาพอนาคตที่คาดการณ์เลย และให้คะแนนน้อยสำหรับภาพอนาคตที่องค์กรของท่านได้มีการเตรียมตัวในด้านต่างๆ และมีการวางแผนเอาไว้แล้วเป็นอย่างดี หลังจากนั้นให้ท่านรวมคะแนนจากคำถามทั้ง 2 ข้อ ถ้าภาพอนาคตใดที่มีคะแนนมาก แปลว่าท่านควรจะต้องให้ความสนใจกับภาพอนาคตภาพนั้นๆ เป็นพิเศษ เพราะหมายถึงเป็นอนาคตที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูง และองค์กรของท่านเองก็ยังไม่มีความพร้อมที่จะบริหารจัดการ รวมถึงอาจจะยังไม่มีความได้เปรียบในการแข่งขันในกรณีที่ภาพอนาคตภาพนั้นเกิดขึ้นจริง

 

ถึงตรงนี้ แม้ว่าผู้บริหารจะสามารถเลือกภาพอนาคตที่มีความเป็นไปได้ออกมาสัก 3-4 ภาพแล้ว แต่ยังคงมีปัญหาอีกข้อหนึ่งตามมาครับ นั่นคือ แล้วองค์กรควรที่จะเลือกที่จะมุ่งเน้นไปที่ภาพอนาคตภาพใดเป็นพิเศษหรือไม่ หรือว่าควรที่จะกระจายความเสี่ยงด้วยการจัดสรรทรัพยากรไปให้ทุกๆ ภาพอนาคตอย่างทั่วถึง

 

ผมต้องขอบอกว่า การตัดสินใจว่าองค์กรควรจะเดินไปในทิศทางไหนหรือเดินทางไปตามภาพอนาคตใดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การตัดสินใจขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ทัศนคติส่วนตัวและประสบการณ์ของผู้บริหาร หรือความกล้าในการเลือกอนาคตที่องค์กรต้องการจะเดินไป ผู้บริหารบางท่านอาจจะมีความมั่นใจสูงและต้องการที่จะมุ่งเน้นไปที่ภาพอนาคตเพียงภาพเดียว ซึ่งถ้าเลือกถูกภาพหรือถูกทาง บริษัทก็มีโอกาสที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้เลย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเลือกผิดก็จะส่งผลให้บริษัทเกิดความเสียหายได้มากเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะสรุปว่าการตัดสินใจแบบไหนเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดหรือมีประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผมขอแนะนำ 4 วิธีในการเลือกว่าองค์กรควรที่จะโฟกัสกับภาพอนาคตที่คัดเลือกมาแล้วอย่างไรดี เพื่อที่จะสามารถวางแผนและจัดสรรทรัพยากรขององค์กรให้เหมาะสมกับอนาคตได้ครับ

 

 

 

  1. Bet the Farm คือการเลือกโฟกัสไปที่ภาพอนาคตเพียงภาพเดียวที่ท่านมีความมั่นใจว่าภาพอนาคตนี้จะต้องเกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอน วิธีนี้เหมาะสมในกรณีที่ท่านได้ทำการคาดการณ์อนาคตอย่างมีระบบ มีการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอกอย่างครบถ้วน รวมถึงมองเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่มีความสำคัญ (Weak Signal) ที่เกิดขึ้น และเป็นตัวชี้นำ (Lead Indicator) ไปสู่อนาคตที่มีความชัดเจน

 

  1. Core/Satellite คือการเลือกโฟกัสที่ภาพใดภาพหนึ่งเป็นหลักและให้ความสำคัญกับภาพอนาคตนั้น อย่างไรก็ตาม ท่านยังคงให้ความสำคัญกับภาพอนาคตภาพอื่นๆ อยู่บ้าง วิธีนี้เหมาะสมในกรณีที่ท่านมีภาพอนาคตที่ชัดเจนเช่นเดียวกับวิธีการแรก แต่แตกต่างกันตรงที่ท่านยังคงมองเห็นความเป็นไปได้ของภาพอนาคตอื่นที่อาจจะเกิดขึ้น ถึงแม้จะมีโอกาสไม่มากก็ตาม

 

  1. Hedge Your Bets คือเลือกให้ความสำคัญกับทุกภาพอนาคตเท่าๆ กัน เพราะทุกภาพมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งหมด วิธีการนี้เหมาะสมในกรณีที่ท่านไม่มีความมั่นใจกับภาพใดภาพหนึ่งเป็นพิเศษ และท่านพิจารณาว่าอนาคตอาจจะเป็นไปได้ทุกรูปแบบตามภาพที่ท่านคาดการณ์ ซึ่งภาพอนาคตทั้งหมดที่คาดการณ์อาจจะเกิดขึ้นบางภาพหรือเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทั้งหมดก็เป็นได้ ดังนั้น ท่านจึงต้องพยายามที่จะวางแผนและจัดสรรทรัพยากรให้กระจายไปหลายๆ ทาง เพื่อป้องกันความเสี่ยง

 

  1. Robust คือการไม่เลือกโฟกัสที่ภาพอนาคตภาพใดภาพหนึ่งเป็นพิเศษ แต่เลือกที่จะวางแผนทำอะไรบางอย่างที่สามารถตอบสนองกับทุกภาพอนาคต ไม่ว่าภาพอนาคตไหนจะเกิดขึ้นก็ตาม ในกรณีนี้ ท่านจะต้องพยายามมองหาจุดร่วมของทุกภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการหาจุดร่วมดังกล่าวให้เจอจะช่วยทำให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้อย่างปลอดภัยในทุกสถานการณ์

 

ถึงตรงนี้ เราคงต้องยอมรับว่านอกจากการเดาและการพยากรณ์ (Forecasting) แบบดั้งเดิมที่ใช้ข้อมูลหรือเหตุการณ์ในอดีตมาวางแผนอนาคตแล้ว คงจะไม่มีวิธีการทางวิทยาศาสตร์วิธีใดที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถคาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำ ในเวลานี้คงมีแต่แนวคิดการคาดการณ์อนาคตเชิงกลยุทธ์ (Strategic Foresight) เพียงเท่านั้นที่จะช่วยให้องค์กรสามารถคิด วิเคราะห์ และค้นหาการเปลี่ยนแปลง เพื่อมองหาภาพในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบ ถึงแม้ว่าในท้ายที่สุด อนาคตที่ท่านได้คาดการณ์ไว้อาจจะไม่ถูกต้อง 100% แต่อย่างน้อยที่สุด การคาดการณ์และการวางแผนอนาคตอย่างมีกลยุทธ์เป็นกระบวนการคิดที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง (Continuous Process) ซึ่งส่งผลให้องค์กรที่มี Strategic Foresight เป็นองค์กรที่ยากต่อการถูกฆ่าตาย (Disrupted) ไปจากอุตสาหกรรม, มีความคล่องแคล่ว (Agility), ยืดหยุ่น (Flexibility), ฟื้นตัวได้รวดเร็วในกรณีที่เจอภาวะวิกฤต (Resilience) และเป็นองค์กรที่สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง: Strategic Foresight, University of Houston

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising