สถานการณ์โควิด-19 ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 45.9 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศฝั่งตะวันตกที่การระบาดระลอกสองรุนแรงมากขึ้น ทำให้หลายประเทศกลับมาประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง เช่น สเปน, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และล่าสุดคืออังกฤษ โดย บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป โดยห้ามประชาชนออกนอกบ้าน ยกเว้นเพียงบางกรณี เช่น ซื้อสินค้าจำเป็น, ไปเรียน หรือพบแพทย์
ทั้งนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปต่างปรับตัวลดลงค่อนข้างมากในช่วงสัปดาห์ก่อน อย่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ คือ Down Jones ลดลง 4.3% S&P 500 ลดลง 3.8% NASDAQ ลดลง 3.9% ตลาดหุ้นยุโรป อาทิ DAX เยอรมนี ลดลง 5.1% FTSE 100 อังกฤษ ลดลง 3.7% CAC 40 ฝรั่งเศส ลดลง 4.6% ส่วนดัชนี SET ของไทยลดลง 1%
อาทิตย์ จันทร์สว่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี เปิดเผยว่า ผลกระทบต่อหุ้นไทยในทางอ้อมเกิดจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลง หลังจากดีมานด์ที่หดหายไป และเมื่อดูภาพรวมตลาดหุ้นไทยแล้ว มาร์เก็ตแคปของกลุ่มพลังงานคิดเป็นประมาณ 20-30% ทำให้ตลาดหุ้นไทยจะถูกกดดันให้ปรับตัวขึ้นได้ยาก
ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นรายหุ้นมากกว่า เช่น บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ซึ่งมีโรงแรม NH ในโปรตุเกส โดยราคาหุ้นของ NH ปัจจุบันลดลงมาต่ำกว่าช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หรืออย่าง บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ถูกกระทบบ้างเช่นกันจากห้างสรรพสินค้าในอิตาลี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 7%
อีกมุมคือหุ้นที่ได้ผลบวก อาทิ บมจ.เอ็กโซติค ฟู้ด (XO) ได้ประโยชน์จากการทำอาหารด้วยตัวเองมากขึ้น โดย XO ส่งออกซอสปรุงรสไปยุโรป คิดเป็นสัดส่วนราว 70-80% ของรายได้ รวมถึง บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) จะได้ประโยชน์จากดีมานด์ต่อทูน่ากระป๋องในช่วงล็อกดาวน์นี้
ขณะที่ ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่า หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว ทั้งสนามบิน สายการบิน โรงแรม รวมถึงโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติเป็นกลุ่มที่ยังควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากเป็นผู้ที่เสียประโยชน์โดยตรงจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ รวมไปถึงหุ้นในกลุ่มน้ำมันและแก๊สทั้งฝั่งต้นน้ำและปลายน้ำ เนื่องจากอุปสงค์ที่มีต่อเชื้อเพลิงต่างๆ น่าจะยังชะลอตัวต่อไป ตราบใดที่หลายประเทศยังบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์
ด้าน บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า การที่หลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้งในช่วงปลายปี 2563 อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564 และยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นโลกต่อไป รวมถึงกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์
โดยราคาน้ำมันดิบสัปดาห์ก่อนลดลงไปแล้วประมาณ 10% เนื่องจากการล็อกดาวน์ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัว ถือเป็น Sentiment เชิงลบต่อหุ้นกลุ่มน้ำมัน อาทิ บมจ.ปตท. (PTT) และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) จึงแนะนำชะลอการเข้าลงทุนในช่วงสั้น
จากสถิติการเคลื่อนไหวของหุ้นไทยในกลุ่มพลังงานและท่องเที่ยวเมื่อสัปดาห์ก่อนปรับตัวลดลงราว 3% มากกว่าตลาดโดยรวมที่ลดลง 1.5%
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า