×

กรณ์ไม่เห็นด้วย ยุโรปผูกขาดเก้าอี้ผู้นำ IMF ชี้โครงสร้างเศรษฐกิจโลกเปลี่ยน ควรให้โอกาสผู้สมัครจากภูมิภาคอื่น

09.08.2019
  • LOADING...
กรณ์ จาติกวณิช

หลังสหภาพยุโรป (EU) เสนอชื่อ คริสตาลินา จอร์จิเอวา นักเศรษฐศาสตร์ชาวบัลแกเรีย วัย 65 ปี เป็นแคนดิเดตกรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คนใหม่ต่อจาก คริสติน ลาการ์ด ทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าเธอจะได้นั่งตำแหน่งนี้ค่อนข้างแน่ เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา ผู้สมัครจากยุโรปจะผูกขาดเก้าอี้นี้อย่างเหนียวแน่น ขณะที่ฝั่งธนาคารโลก (World Bank) จะเป็นแคนดิเดตที่คัดเลือกโดยสหรัฐอเมริกา

 

กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่าการที่ยุโรปผูกขาดตำแหน่งนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและเป็นการดูถูกประเทศจากภูมิภาคอื่นทั่วโลก ทั้งที่เอเชียหรือภูมิภาคอื่นก็เพียบพร้อมด้วยผู้ที่มีคุณสมบัติโดดเด่น โดยหนึ่งในนั้นคือ ธาร์มาน ชานมูการัตนัม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสิงคโปร์ และศรีมุลยานี อินทราวาตี นักเศรษฐศาสตร์และขุนคลังอินโดนีเซียคนปัจจุบัน โดยกรณ์มองว่าทั้งคู่มีความเหมาะสมและควรได้รับโอกาสให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำ IMF เพื่อดูทิศทางเศรษฐกิจและการเงินโลกต่อไป

 

ในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Financial Times กรณ์ระบุว่าในระยะเวลาที่ผ่านมามีภาพปรากฏชัดเจนว่าสถาบันการเงินระหว่างประเทศหลักที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงที่ Bretton Woods คือ IMF และธนาคารโลกนั้นล้วนมีบทบาทและความสำคัญน้อยลง เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไปมากในปัจจุบัน

 

ซึ่งทั้งที่จริงแล้วความจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปทั้งสององค์กรมีความชัดเจนมาตั้งแต่เมื่อ 8 ปีก่อน ในครั้งที่มีการสรรหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ IMF แทน โดมินิก สเตราส์-คาห์น และในวันนี้ยิ่งมีความชัดเจนยิ่งขึ้นว่าการสรรหาผู้บริหารสูงสุดควรต้องใช้หลักเกณฑ์ความรู้ความสามารถและพิจารณาผู้สมัครที่เหมาะสมจากทุกประเทศทั่วโลก

 

กรณ์ให้ความเห็นเพิ่มเติมกับ THE STANDARD ว่าการเสนอชื่อบุคคลมาเป็นหัวเรือใหญ่ของ IMF และธนาคารโลกเป็นข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการระหว่างสองกลุ่มมหาอำนาจเก่าสมัยก่อตั้งสองสถาบันนี้ แต่ปัจจุบันหมดยุคของการทำเช่นนั้นแล้ว เพราะที่ผ่านมาตัวธนาคารโลกและ IMF เริ่มไร้ทิศทาง อีกทั้งสถานะในโลกยุคสมัยใหม่ก็ไม่มีความชัดเจนและประสบปัญหาเรื่องการปรับตัว ซึ่งหนึ่งในปัญหาใหญ่ก็คือการเลือกสรรผู้นำโดยยึดติดโครงสร้างอำนาจเก่า แต่ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว

 

หากสถาบันเหล่านี้ต้องการมีบทบาทและความสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลกต่อไป ควรเปิดโอกาสให้กับประเทศสมาชิกทั่วโลกอย่างแท้จริง โดยเลือกผู้นำจากคนที่มีความรู้ความสามารถเป็นหลัก ไม่ใช่ใช้เกณฑ์ว่าเป็นคนจากประเทศไหน ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นได้จะช่วยยกระดับความเป็นมืออาชีพของทั้งสององค์กรอย่างแน่นอน

 

กรณ์กล่าวว่าแค่มองจากอาเซียน ไม่ต้องมองที่ไหนไกล ก็มีอย่างน้อยสองคนที่เขามองว่ามีประสบการณ์และเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก นั่นคือ ธาร์มาน ชานมูการัตนัม รองนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์คนปัจจุบัน และศรีมุลยานี อินทราวาตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย ซึ่งทั้งสองคนเคยทำงานแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 10 ปีก่อนในช่วงเดียวกับที่กรณ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย

 

จะเห็นได้ว่าในสหภาพยุโรปเองก็เสียงแตกเกี่ยวกับการเสนอชื่อผู้สมัคร โดยมีการเลือกบุคคลจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมาหลายคนและตกลงกันไม่ได้ในช่วงแรก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายังไม่มีใครโดดเด่นมากพอที่จะมารับงานนี้ ซึ่งการที่ยุโรปไม่มีผู้สมัครที่โดดเด่นพอก็เหมือนเป็นการดันทุรังเสนอคนของยุโรปให้ได้ และสะท้อนความเสื่อมถอยในองค์กร

 

แต่กรณ์มองว่าในอนาคต IMF อาจมีการปฏิรูปโครงสร้างในสักวันหนึ่ง มิเช่นนั้นสถาบันเหล่านี้จะหมดความสำคัญไปเองหากไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ซึ่งการที่หลายฝ่ายเสนอให้เปลี่ยนแปลงถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพื่อให้โลกรับรู้ว่าอะไรควรทำหรืออะไรไม่ควรทำ และเราควรใช้โอกาสนี้ทำให้โลกรู้ว่าอาเซียนก็มีบุคคลระดับโลกที่มีความรู้ความสามารถและควรได้รับโอกาส ซึ่งการออกมาช่วยกันพูดจะช่วยยกระดับสถานะของอาเซียนให้โดดเด่นยิ่งขึ้น ดีกว่าการนั่งยอมรับความเป็นไปโดยไม่ต่อสู้

 

เมื่อถามถึงความสนใจและโอกาสความเป็นไปได้ที่กรณ์จะได้รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ IMF ในอนาคต กรณ์ตอบว่า “มีความเป็นไปได้น้อย ถึงแม้เมื่อ 10 กว่าปีก่อนจะมีการพูดคุยถึงชื่อผม แต่ส่วนตัวผมเอง พูดตามตรง ผมมองว่าคนที่เหมาะสมกว่าผมมีเยอะ อย่างสองคนที่ผมพูดไปก็เป็นคนที่เหมาะสมจริงๆ ส่วนผมเองคิดอยากช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศของเราก่อนคิดจะไปทำงานที่ต่างประเทศ”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising