หนึ่งในแผนธุรกิจของ ‘อีทราน (ไทยแลนด์)’ สตาร์ทอัพสายยานยนต์สัญชาติไทย ในปี 2564 นี้ หลังจากการระดมทุนสู่ Series A ด้วยมูลค่าราว 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 100 ล้านบาท จากนักลงทุน 2 ราย คือ บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR ผู้ผลิตและจำหน่ายยางล้อรถมอเตอร์ไซค์สัญชาติไทย และ Angel Investor หรือนักลงทุนอิสระ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คือการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่จำนวน 2 รุ่นออกสู่ตลาด
หนึ่งในนั้นคือการเปิดตัว ETRAN MYRA รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับการขนส่งในเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น รองรับการขับขี่ด้วยความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยระยะทางต่อการชาร์จถึง 180 กิโลเมตร รวดเร็วด้วยการ Swap หรือแค่ถอดแบตเตอรี่ลูกเก่าแล้วเสียบแบตเตอรี่ลูกใหม่ ไม่ต้องรอชาร์จ โดยมีการออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับการขนส่งโดยเฉพาะ จึงสามารถติดกล่องใส่ของ หรือติดตู้เย็นได้สะดวก
อาร์ชวัส เจริญศิลป์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด (ETRAN) อธิบายเหตุผลที่พัฒนารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเจาะกลุ่มไรเดอร์เดลิเวอรีโดยเฉพาะ มาจากปัจจุบันบริการเดลิเวอรีนับเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากพฤติกรรมและรูปแบบการบริโภคของผู้บริโภคเปลี่ยนไป มีการสั่งซื้อของทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ธุรกิจบริการส่งพัสดุเติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว
“เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบเชิงบวกกับทั้งบริการส่งพัสดุและบริการส่งอาหารหรือฟู้ดเดลิเวอรี มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด”
สำหรับ ETRAN MYRA จะเปิดให้เช่าในราคาวันละ 150 บาท ซึ่งในราคานี้คิดค่าพลังงานโดยให้ฟรีบริการ Swap แบตเตอรี่ที่สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ ETRAN Power Station ได้ 1 ครั้งต่อวัน โดยตั้งเป้ามีรถ ETRAN MYRA วิ่งบนถนน 1,000 คันภายในสิ้นปี 2564 นี้
นอกจากนี้อีทรานยังมีแผนจะเปิด ETRAN Power Station จำนวน 7 สถานีในกรุงเทพฯ ภายในปี 2564 นี้ และขยายให้ครบ 100 สถานีภายในช่วงปี 2565-2566 อีกด้วย
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ