รัฐบาลเอธิโอเปียประกาศว่าเอธิโอเปียได้เซตสถิติโลกใหม่ หลังจากปลูกต้นไม้กว่า 350 ล้านต้นภายในระยะเวลาเพียง 12 ชั่วโมง เมื่อวันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Green Legacy ฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกทำลายตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี อาบีย์ อาห์เหม็ด และตั้งเป้าปลูกต้นไม้ให้ได้ 4,000 ล้านต้นก่อนหมดฤดูฝนในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้
โดยทำลายเจ้าของสถิติเดิมอย่างอินเดียที่ใช้อาสาสมัครกว่า 1.5 ล้านคน ปลูกต้นไม้กว่า 66 ล้านต้นภายใน 12 ชั่วโมง จนกลายเป็นสถิติโลกเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา รัฐบาลระบุ หากพลเมืองชาวเอธิโอเปียทุกคนช่วยกันปลูกต้นไม้คนละ 40 ต้นภายในระยะเวลาที่กำหนด เป้าหมายปลูกต้นไม้ 4,000 ล้านต้นก่อนหมดฤดูฝนปีนี้ก็อยู่ไม่ไกลเกินจริง กระทรวงเกษตรเผย ขณะนี้เอธิโอเปียปลูกต้นไม้ใหม่ไปแล้วกว่า 2,600 ล้านต้น เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลาย และเดินหน้าเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างจริงจัง
จากรายงานการสำรวจของ Farm Africa ระบุว่าพื้นที่ป่าไม้ของเอธิโอเปียลดลงเป็นอย่างมาก จากพื้นที่ป่าไม้เกือบ 1 ใน 3 ของประเทศในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่าไม้เพียงแค่ 4% เท่านั้น การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ส่งผลให้เอธิโอเปียได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างหนัก บางพื้นที่แห้งแล้ง บางพื้นที่น้ำท่วม หลังพื้นดินถูกกัดเซาะและเสื่อมโทรมลง
โดย Statista ทำการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ที่สูญหายไปเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา พบว่ารัสเซีย บราซิล แคนาดา สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และอินโดนีเซีย คือ 6 ประเทศที่มีพื้นที่ป่าไม้สูญหายและถูกทำลายลงมากที่สุด ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้ดูดซับไว้ถูกปล่อยออกมามากกว่า 15% ของก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก การตัดไม้ทำลายป่าจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาวะก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น
ภาพ: Michael Tewelde / AFP / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: