คำถามในสัปดาห์นี้เกิดขึ้นมาจากการสังเกตเห็นเรื่องราวของเซ็กซ์ที่ถูกสื่อสารผ่านสื่อกระแสหลักอย่างภาพยนตร์หรือซีรีส์ในสไตล์ Coming of Age หรือภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวของเด็กในยุคของการก้าวข้ามวัยจากเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ ในภาพยนตร์หรือซีรีส์ประเภทนี้จะมีการแทรกเรื่องราวของเพศสัมพันธ์นอกตำราลงไปไม่ว่ากับยุคไหนสมัยไหนในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันระหว่างมีเพศสัมพันธ์ หรือการเรียนรู้ที่จะรู้จักกระบวนการทำงานของอวัยวะเพศสำหรับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จนสังเกตว่าในภาพยนตร์หรือซีรีส์ยุคใหม่ที่เห็นหลังๆ มานี้มีการพูดถึงความสำคัญของการสำรวจความต้องการทางเพศ รวมถึงการช่วยตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้หญิง จึงอยากหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาขยายความเล่าให้ฟังผ่าน 3 ประเด็นที่ว่า
จริงๆ แล้วสำหรับผู้หญิง จำเป็นหรือไม่ที่เราควรเรียนรู้ความต้องการทางเพศของตัวเอง
การช่วยตัวเองในผู้หญิงเป็นเรื่องที่จำเป็นเท่ากับผู้ชายหรือไม่ ในแง่ของทั้งสุขภาพ (Health) และ ความสุข (Pleasure)
และถ้าผู้หญิงบางคนไม่ชอบช่วยตัวเอง ถือว่าผิดปกติหรือไม่ หรือมีโอกาสที่จะส่งผลเสียกับสุขภาพหรือไม่
ภาพจาก Sex Education Season 1 Ep. 6
สำหรับข้อแรก ขอตอบแบบฟันธงว่าเรื่องความต้องการทางเพศและการช่วยตนเองเป็นเรื่องที่ผู้หญิงทุกคนต้องเรียนรู้ เพราะมีความจำเป็นไม่ต่างจากผู้ชาย แต่การช่วยตนเองถือเป็นรสนิยมทางเพศอย่างหนึ่ง ซึ่งก็เหมือนรสนิยมการใช้ชีวิตอีกหลายๆ อย่าง หากไม่ช่วยตนเอง คุณก็อาจจะสูญเสียผลดีของการช่วยตนเองไป แต่หากเราดูแลสุขภาพได้ดีในวิธีอื่นก็สามารถทดแทนได้ไม่มากก็น้อย
อันที่จริง คนเราต้องเข้าใจก่อนว่าความต้องการทางเพศและการช่วยตนเองเป็นเรื่องตามธรรมชาติที่เริ่มในวัยรุ่น เมื่อฮอร์โมนเพศเริ่มทำงาน ถือว่าเป็นขั้นตอนพัฒนาเรื่องเพศ เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดเรื่องเพศ ไม่ทำให้ตั้งครรภ์หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
งานวิจัยพบว่าผู้หญิงที่ช่วยตนเองในวัยรุ่นมีความสุขจากการมีเพศสัมพันธ์ในภายหลังสูงกว่าหญิงที่ไม่เคยช่วยตนเองเลย เพราะรู้จักอวัยวะของตนเอง จุดเร้า จุดที่ทำให้ถึงจุดสุดยอด ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป แม้ยังไม่มีความต้องการทางเพศ การใช้มือสำรวจอวัยวะเพศเป็นเรื่องปกติธรรมดา ขณะที่ผู้ใหญ่เอาความคิดตนเองเข้าไปใส่ เกิดวิตกจริตว่าเด็กมีความต้องการทางเพศและช่วยตนเอง คิดว่าเป็นเรื่องบัดสีบัดเถลิง ห้ามปราม ดุว่า ในบางรายถึงกับเฆี่ยนตี ซึ่งไม่ควรจะทำ แต่อาจหันเหความสนใจไปทางอื่น เพราะจะทำให้การจับต้องอวัยวะเพศเป็นเรื่องน่าอาย น่ากลัว ฝังใจว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย ตามมาด้วยปัญหาทางเพศเมื่อโตขึ้น
ประเด็นถัดมาที่เราควรทำความเข้าใจคือ ‘การช่วยตนเองเป็นเรื่องของรสนิยม คนเราไม่ได้ชอบเรื่องนี้ทุกคน’ จากการสำรวจพบว่าผู้ชายช่วยตนเองมากกว่าผู้หญิง (73.8% ต่อ 48.1%) และวัยรุ่นมีความถี่ในการช่วยตนเองสูงกว่าคนสูงวัย จึงไม่แปลกที่จะพบเห็นบางคนอาจจะไม่ชอบเรื่องนี้ และการไม่ชอบก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ที่สำคัญไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชาย เรามาลองสำรวจข้อดีและข้อเสียเบื้องต้นดูก่อนว่าเรื่องราวของการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองนั้นมีผลกับเราอย่างไรได้บ้าง
ภาพจาก Sex Education Season 2 EP.8
ข้อเสีย
- บางวัฒนธรรมถือว่าเป็นเรื่องผิดบาป ทำให้คนทำรู้สึกผิด ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ใช่ และในสังคมหรือแม้กระทั่งในครอบครัวควรมีการรณรงค์หรือให้ความรู้ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เพียงแต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกาลเทศะเท่านั้นเอง
- นิยามการ ‘เสพติดการช่วยตนเอง’ ให้ถูกต้อง คำว่าเสพติดไม่ได้อยู่ที่ความถี่ แต่ดูที่การสร้างความเดือดร้อนให้ทั้งตนเองและผู้อื่น เช่น ทำให้ขาดเรียน ขาดงาน ขาดการสังสรรค์กับเพื่อนฝูงมิตรสหาย ทำประเจิดประเจ้อให้ผู้อื่นเห็น
- ในผู้ชาย การช่วยตนเองจนติดอาจทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ไม่หลั่ง หลั่งเร็ว หรือหลั่งช้าเมื่อมีเพศสัมพันธ์
ข้อดี
- ไม่ง้อเพศสัมพันธ์ เรียนรู้สรีระร่างกายตนเอง เข้าใจการสร้างความสุขด้วยตนเอง
- เมื่อมีเพศสัมพันธ์ การเคยช่วยตนเองทำให้ถึงจุดสุดยอดได้หลายครั้ง มีความสุขทางเพศมากขึ้น
- การลับมีดบ่อยๆ ลดการเกิดสนิมของมีดได้ฉันใด การช่วยตนเองสม่ำเสมอก็ช่วยกระตุ้นความต้องการทางเพศและมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งขึ้นได้ฉันนั้น
- การช่วยตนเองจนถึงจุดสุดยอดจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟีน (Endorphin) ทำให้คลายเครียด อารมณ์ดี ลดการปวดประจำเดือน รวมถึงฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ทำให้หลับสนิท
- ในผู้ชาย การหลั่งน้ำอสุจิจากการช่วยตนเอง หรือมีเพศสัมพันธ์เดือนละ 21 ครั้ง ช่วยลดการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ถึง 20%
- เป็นการออกกำลังกาย บริหารหัวใจ ปอด ทำให้กล้ามเนื้อแขน ขา อุ้งเชิงกรานแข็งแรง เพิ่มการไหลเวียนโลหิต ทำให้ช่องคลอดมีน้ำหล่อลื่น ไม่แห้ง กะบังลมไม่หย่อน ปัสสาวะไม่เล็ด
- เลือดไหลเวียนสมองและร่างกายได้ดีหลังการถึงจุดสุดยอด เพิ่มความจำ เพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกาย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- Horne S, Zimmer-Gembeck MJ. Female sexual subjectivity and well-being: comparing late adolescents with different sexual experiences. Sex Res Soc Policy. 2005;2(3):25-40.
- Leitenberg H, Detzer MJ, Srebnik D. Gender differences in masturbation and the relation of masturbation experience in preadolescence and/or early adolescence to sexual behavior and sexual adjustment in young adulthood. Arch Sex Behav. 1993;22(2):87-98.
- Reynolds MA, Herbenick DL, Bancroft J. The nature of childhood sexual experiences. In: Bancroft J, ed. Sexual Development in Childhood. Bloomington, IN: Indiana University Press; 2003:156-185.
- Hogarth H, Ingham R. Masturbation among young women and associations with sexual health: an exploratory study. J Sex Res. 2009;46(6):558-567.