องค์กรเอ็นจีโออย่าง Global Witness เปิดเผยข้อมูลตัวเลขการเสียชีวิตของบรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลก ที่เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่สงวนต่างๆ ภายในประเทศของตน จนนำไปสู่ความตาย
โดยในปีนี้นักเคลื่อนไหวเหล่านี้ถูกสังหารไปแล้วกว่า 161 คนทั่วโลก นักอนุรักษ์และปกป้องพื้นป่าที่เรียกได้ว่าเป็นปอดที่ใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง ‘ป่าอเมซอน’ ของบราซิลถูกสังหารมากที่สุดถึง 43 คน (สูงที่สุดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน) รองลงมาคือ โคลอมเบียและฟิลิปปินส์ ตามลำดับ ซึ่งในปีที่ผ่านมาตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งสูงเกิน 200 คนเลยทีเดียว
จากการเปิดเผยข้อมูล 3 ปีล่าสุดพบว่า มีนักอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อมชาวไทยถึง 3 คนเสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่อปกป้องผืนป่าและพื้นที่ในชุมชน ได้แก่ นายใช่ บุญทองเล็ก แกนนำผู้ก่อตั้งชุมชนคลองไทรพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี (2015), นายลิขิต สมบูรณ์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จ.ชลบุรี (2015) และนายเด่น คำแหล้ นักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ์ที่ดินทำกิน จ.ชัยภูมิ (2016)
สาเหตุอันดับต้นๆ ที่ขับเคลื่อนไปสู่การใช้ความรุนแรงและการเสียชีวิตของบรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลกคือ การต่อต้านการทำเหมือง (ในปี 2016 มีผู้เสียชีวิตที่เข้าไปพัวพันกับสาเหตุนี้ถึง 33 คน) การลักลอบตัดไม้ การกว้านซื้อที่ดิน การรุกล้ำพื้นที่ป่าไม้เพื่อสร้างเขื่อน เป็นต้น
นอกจากนี้ Global Witness ยังเผยอีกว่า การลงมือสังหารส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในหมู่บ้านและชุมชนที่ห่างไกล ตั้งอยู่ในหุบเขาหรือป่ารกทึบ และคาดการณ์กันว่า ตัวเลขการเสียชีวิตในปีนี้จะพุ่งสูงขึ้นอีก
อ้างอิง: