สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคที่เป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 5.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 4.2% จากเดือนตุลาคม ถือเป็นระดับเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปีของอังกฤษ และสูงกว่าระดับเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางอังกฤษ หรือ BOE ที่ 2% กว่าเท่าตัว
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักอาหาร พลังงาน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบออกจากการคำนวณ ก็ปรับเพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์เอาไว้ที่ 3.7% และ 0.3% เช่นกัน
การเร่งตัวของเงินเฟ้อที่รุนแรงทำให้หลายฝ่ายต่างจับตาไปที่ BOE ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการเงินในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อหรือไม่
ริชาร์ด คาร์เตอร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยดอกเบี้ยของ Quilter Cheviot เชื่อว่า BOE จะเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบากทั้งแรงกดดันจากเงินเฟ้อและเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนที่กำลังระบาดในประเทศ
ในการประชุมเมื่อเดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงินของอังกฤษได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการลงมติด้วยคะแนน 7 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 0.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ต่อไป ทั้งที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ
“ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาน่าจะกดดันให้ BOE ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ BOE อาจจะใช้ความกล้าหาญคงดอกเบี้ยต่อไปจนถึงปีหน้า จากความกังวลว่าเชื้อโอไมครอนจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และทำให้มาตรการล็อกดาวน์ต้องถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง” คาร์เตอร์กล่าว
อ้างอิง: