×

ฤาจะถึงจุดสิ้นสุดอาณาจักร ‘แจ็ค หม่า’ หลังถูกทางการจีนเข้ามาใส่ ‘บังเหียน’ บนหลังม้า

10.06.2021
  • LOADING...
แจ็ค หม่า

เมื่อ 1 ปีที่แล้ว ‘แจ็ค หม่า’ คือชาวจีนที่ร่ำรวยที่สุดในแดนมังกร เขาเป็นผู้สร้าง Alibaba บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของจีน และ Ant Group ซึ่งเป็นบริษัท Fintech ที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

 

อาณาจักรองค์กรของเขาได้บรรลุสถานะมหาอำนาจของภาคเอกชน เทียบเท่ากับมหาอำนาจจากซีกโลกตะวันตก เฉพาะ Alibaba เพียงบริษัทเดียวก็มีมูลค่ามากกว่าบริษัทใดๆ ในสหรัฐอเมริกา ยกเว้นเพียง Apple, Amazon และ Google เท่านั้น

 

อาณาจักรที่ทรงอำนาจทำให้หม่ากลายเป็นคนจีนที่ยังมีชีวิตอยู่และมีชื่อเสียงที่สุด จากผลสำรวจ เขาเป็นที่รู้จักนอกประเทศจีนมากกว่า ‘สีจิ้นผิง’ ประธานาธิบดีของจีนเสียด้วยซ้ำ แถมบางคนยังยกให้หม่าคือ เจฟฟ์ เบโซส์, อีลอน มัสก์ และ บิล เกตส์ ในร่างของคนเดียวกัน ขณะที่สื่อในจีนเรียกภาคเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตของประเทศว่า ‘ยุคของหม่า’

 

แต่โชคชะตากลับกำลังเล่นตลกกับชาวจีนที่ร่ำรวยที่สุดในแดนมังกร เพราะวันนี้ตัวเขากำลังถูกใส่ ‘บังเหียนบนหลังม้า’ บทความของ Forbes ภายใต้ชื่อ ‘The Sad End Of Jack Ma Inc.’ หรือ ‘จุดจบอันน่าเศร้าของ Jack Ma Inc.’ ที่เขียนโดย George Calhoun สมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาที่ Hanlon Investment Management ได้เปรียบเปยว่า การใส่บังเหียนดังกล่าวหมายถึง หม่ากำลังถูกทางการจีนเข้ามาควบคุม 

 

ที่ผ่านมา ‘ม้า’ ตัวนี้ถูกเตะตัดขาหลายครั้งโดยรัฐบาลจีน ทำให้อาณาจักรหม่ามีมูลค่าลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียวจากเมื่อ 9 เดือนที่แล้ว แถมกระบวนการนี้ยังไม่สิ้นสุดอีกด้วย

 

บทความของ Forbes ระบุว่า การพลิกกลับอย่างกะทันหันในโชคชะตาของหม่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อ Ant Group ถูกยกเลิกการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรกหรือ IPO ในนาทีสุดท้าย ทั้งๆ ที่การ IPO ดังกล่าวถูกยกว่าจะเป็นสถิติโลก (มีการประเมินว่าการ IPO จะใหญ่กว่าครั้งที่ Alibaba ขายหุ้น IPO ในปี 2014 ซึ่งถูกนับว่าใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในเวลานั้นถึง 40%)

 

มีการกล่าวกันว่ามีผู้จองซื้อเกิน 80 เท่า The Wall Street Journal เรียกมันว่า ‘การแย่งชิง 3 ล้านล้านดอลลาร์’ ขณะที่หม่าออกมาพูดว่า “นี่เป็นการเสนอขายหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ ปาฏิหาริย์กำลังเกิดขึ้น” โดย WSJ รายงานว่า หนังสือสั่งซื้อมีมูลค่ามากกว่ามูลค่าของหุ้นทั้งหมดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของเยอรมนีเสียด้วยซ้ำ

 

แต่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ก็ไม่ได้ถูกเขียนขึ้น เพราะโดนทางการจีนเข้ามาแทรกแซงเสียก่อน โดยหลังจากความล้มเหลวของ IPO หน่วยงานที่กำกับดูแลก็เข้ามาถอดชิ้นส่วนธุรกิขของ Ant Group ผ่านการกำหนดโครงสร้างใหม่ พร้อมกับดึง ‘พันธมิตร’ ใหม่เข้ามาเสียด้วย 

 

โดยธนาคารกลางสั่งให้ Ant Group จัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งเพื่อแยกธุรกิจออกเป็นส่วนๆ ซึ่งจะอยู่ภายใต้ข้อกำหนดด้านเงินทุนที่ใช้กฎเช่นเดียวกันนี้กับธนาคาร ที่สามารถเปิดประตูให้ธนาคารของรัฐขนาดใหญ่หรือหน่วยงานที่ควบคุมโดยรัฐบาลประเภทอื่นๆ เข้าซื้อกิจการได้

 

รัฐบาลยังจับตาดูทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดชิ้นหนึ่งของ Ant Group นั่นคือ ‘ข้อมูลที่ได้มาจากธุรกรรมของผู้บริโภคนับพันล้านคน’ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้ Ant Group มีความได้เปรียบทางการแข่งขันเหนือธนาคารแบบดั้งเดิม ดังนั้น ทางการจีนจึงมุ่งมั่นที่จะ ‘แก้ไข’ ความได้เปรียบนั้นด้วยการบอกว่า Ant Group จะต้องหยุดการผูกขาดข้อมูล โดยยกกฎระเบียบขึ้นมา ทำให้ Ant Group ต้องปฏิบัติตาม 

 

หลังจากนั้นก็ถึงคราวบทลงโทษจากการผูกขาด ในเดือนเมษายนมีการเรียกเก็บค่าปรับจำนวน 2.8 พันล้านดอลลาร์จาก Alibaba ซึ่งเป็นธุรกิจเรือธงของหม่าด้วยเหตุผลว่ามีการละเมิดการผูกขาด โดย Alibaba ถูกกล่าวหาว่า ‘ใช้อำนาจครอบงำตลาดในทางที่ผิด’ ‘สั่งให้บริษัทแก้ไขพฤติกรรมของตนอีกครั้ง’ และ ‘ลดขนาดธุรกิจลง’

 

ขณะเดียวกัน ในเดือนเมษายนนี้เองรัฐบาลจีนได้ประกาศผลการสอบสวนเกี่ยวกับข้อตกลงของ Ant Group กับตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้เพื่อขออนุมัติการเสนอขายหุ้น IPO โดยการติดต่อกับคนในวงและกึ่งคอร์รัปชันถูกบอกเป็นนัยผ่านผลสอบสวนนี้ ซึ่งมีการระบุว่า วิธีจัดสรร IPO ของ Ant Group ทำให้เกิดความกังวลว่าผลประโยชน์ของรัฐจะไม่ได้รับการปกป้องอย่างเพียงพอ

 

นอกจากนี้ ในเดือนเมษายนหม่าถูกปลดออกจากตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัย Hupan ซึ่งเป็นโรงเรียนธุรกิจชั้นนำที่เขาก่อตั้งในปี 2015 โดยมีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะให้เป็นแนวทางใหม่ในการศึกษาทางธุรกิจ แถมในบางแง่มุมยังจะให้สิ่งที่เหนือกว่าโรงเรียนแห่งอื่นๆ ที่สามารถจะให้ได้ 

 

การจะเป็นนักศึกษาแห่งนี้ได้นั้นจะได้รับการคัดเลือกที่เข้มงวด โดยจะต้องเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจซึ่งมีรายได้ขั้นต่ำ 30 ล้านหยวน และได้จ่ายภาษีไปแล้วมากกว่า 3 ปี และมีพนักงานอย่างน้อย 30 คน สิ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัย Hupan เป็นที่สนใจ นอกจากหม่าเป็นผู้ก่อตั้งแล้ว ยังมาจากศิษย์เก่าที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อภาคธุรกิจเทคโนโลยีของจีนทั้งสิ้น 

 

หม่าได้กล่าวไว้ว่า “Hupan จะกลายเป็นหนึ่งในโรงเรียนธุรกิจที่มีชื่อเสียงที่สุดของจีนอย่างรวดเร็ว โดยเราต้องการให้ Hupan อยู่ไปยาวนานถึง 300 ปี” แต่ที่สุดแล้ว Hupan ก็ไม่รอดพันจากการถูกเข้าแทรกแซง เพราะ Hupan ถูกบังคับให้ระงับการรับนักศึกษาใหม่ แถมหม่ายังถูกบังคับให้ออกจากโรงเรียนที่ตัวเองก่อตั้งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่น่ากังวล เพราะ “สถาบันการศึกษาแห่งนี้ได้รับความนิยมเพราะเขา (แจ็ค หม่า) ไม่ใช่หลักสูตร” 

 

ขณะที่ปัญหาที่ยืดเยื้อและสกัดกั้นโอกาสการทำ IPO ครั้งประวัติศาสตร์ของ Ant Group ดูเหมือนว่าจะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ถูกที่ควรมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว หลังทางการจีนได้อนุมัติให้ Ant Group สามารถดำเนินธุรกิจและให้บริการในฐานะผู้ให้บริการสินเชื่อผู้บริโภค โดยที่ฝั่ง Ant Group จะต้องปรับโมเดลธุรกิจตามกรอบระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่บัญญัติไว้โดยคณะกรรมการกำกับดูแลการธนาคารและการประกันภัยแห่งประเทศจีน

 

ภายใต้การปรับโมเดลธุรกิจใหม่ CBIRC เปิดเผยว่า Ant Group จะได้สิทธิ์ถือหุ้น 50% ในการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ด้วยทุนจดทะเบียน 4 พันล้านหยวน โดยที่ผู้ถือหุ้นอีก 6 รายจะครองส่วนแบ่งหุ้น 50% ที่เหลือของบริษัท ซึ่งที่น่าตกใจที่สุดคือ Huarong Asset Management ได้รับหุ้นจำนวน 4.99% ด้วย

 

Huarong นั้นถูกมองว่า มีชื่อเสียงที่ ‘ไม่ค่อยดี’ เท่าไรนัก เพราะในช่วงต้นปีที่ผ่านมา Huarong ซึ่งเป็นผู้ออกตราสารหนี้ต่างประเทศที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์รายใหญ่ที่สุดของจีนด้วยมูลค่ากว่า 2.2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ กำลังเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระ ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะเข้ามาคุกคามตลาดตราสารหนี้ในประเทศจีน และอาจบังคับให้รัฐ (ซึ่งทุกวันนี้รัฐบาลจีนยังไม่มีความชัดเจนในการเป็นเจ้าของ) ให้ออกมาช่วยเหลือได้

 

แถมในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ‘ล่ายเสี่ยวหมิน’ (Lai Xiaomin) อดีตซีอีโอของ Huarong เพิ่งถูกตัดสิน ‘ประหารชีวิต’ ด้วยข้อหาเกี่ยวกับการรับสินบนและยักยอกทรัพย์

 

แม้ Ant Group จะได้รับไฟเขียวให้ดำเนินธุรกิจอีกครั้ง แต่การนำ Huarong มาร่วมลงทุนครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นเหมือนการเย้ยหยันและดูหมิ่น ตลอดจนเป็นการเข้ามาฉุดรั้งบริษัทที่มีพลวัตและสร้างสรรค์ที่สุดเท่าที่จีนเคยมีมา 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

ภาพ: VCG via Getty Images

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising