เมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ผมซื้อเครื่องเล่นเกมซูเปอร์แฟมิคอมให้ผมเล่น จำได้ว่าผมดีใจมาก และไม่เคยคิดเลยว่ามันจะมีอะไรที่สุดยอดไปมากกว่านี้อีกแล้ว
พอมาถึงวันนี้ที่ผมมี PlayStation 4 ผมก็รู้สึกว่า โอ้โห เทคโนโลยีของเกมนี้มันพัฒนามามากจากยุคของซูเปอร์แฟมิคอม และมันก็คงจะไม่มีอะไรที่สุดยอดไปมากกว่า PlayStation 4 อีกแล้ว (จนกระทั่งผมได้ข่าวว่ามันจะมี PlayStation 5 ออกมาในอีกไม่ช้า)
ทำไมวันนั้นผมถึงรู้สึกว่าเทคโนโลยีในสมัยนั้นดีที่สุดและคงจะไม่มีอะไรที่ดีไปกว่านี้อีกแล้ว แต่พอมาวันนี้ผมกลับพบว่าเทคโนโลยีในวันนี้มันก้าวหน้ากว่าสมัยก่อนเยอะ แต่ก็ยังมีความรู้สึกว่าเทคโนโลยีในวันข้างหน้าก็คงจะไม่ได้แตกต่างจากเทคโนโลยีในวันนี้สักเท่าไร
ทัศนคติที่ผมมีต่อการพัฒนาของเทคโนโลยีก็ไม่ได้แตกต่างจากประสบการณ์ความชอบของผมตามช่วงอายุสักเท่าไรนัก ผมยังพอจำได้ว่าตอนผมยังเด็ก ผมชอบดูการ์ตูนที่ช่อง 9 นำมาออกอากาศตอนเช้าวันเสาร์มาก จำได้เลยว่าผมเคยพูดกับตัวเองว่า ไม่ว่าจะอายุสักเท่าไร ผมก็จะยังชอบดูการ์ตูนพวกนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่พอมาถึงวันนี้ วันที่พบว่าตัวเองอยู่ในวัยกลางคนเป็นที่เรียบร้อย ผมกลับรู้สึกว่าความชอบการดูการ์ตูนในวันที่ยังเด็กได้ลดหายไปกลายเป็นศูนย์ มันเป็นไปได้อย่างไรกัน
End-of-history illusion
คุณคิดว่าในอีกสิบปีข้างหน้าคุณจะยังชอบฟังเพลงที่ชอบในวันนี้อยู่ไหม หรือยังจะสนิทกับเพื่อนที่สนิทมากในวันนี้หรือไม่ แล้วจะยังเป็นคนที่มีทัศนคติเสรีนิยม (Liberal) หรืออนุรักษนิยม (Conservative) อย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้หรือเปล่า
ผมเชื่อว่าคนเราส่วนใหญ่ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไรก็ตาม เรามักจะมองเวอร์ชันของตัวเองในวันนี้ว่าเป็นเวอร์ชันที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว พูดง่ายๆ ก็คือคนส่วนใหญ่มักจะคิดกันว่าตัวเราเองในวันข้างหน้าจะมีความชอบ ความเกลียด และทัศนคติต่างๆ นานาที่คล้ายคลึงกันกับตัวเราในวันนี้มาก และส่วนใหญ่ไม่คิดว่าเราจะเปลี่ยน หรือถึงจะเปลี่ยนก็คงจะไม่เปลี่ยนไปมากเท่าไรนัก
แต่เวลาที่เรามองย้อนกลับไปดูตัวเองในอดีต เรามักจะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเองเป็นอย่างมาก จากที่ตอนเด็กๆ เคยชอบดูการ์ตูน เดี๋ยวนี้อาจจะไม่ดูแล้ว หรือจากที่เคยชอบกินอาหารเกาหลีที่สุด มาวันนี้อาจจะไม่ค่อยชอบเท่าไร พูดง่ายๆ ก็คือคนเราส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่าตัวเราในปัจจุบันนั้นช่างแตกต่างจากตัวเราในอดีตมากมาย
แต่คุณทราบไหมครับว่าความรู้สึกที่ผมกล่าวถึงนี้ล้วนแล้วแต่เป็น ‘ภาพลวงตา’ หรือ Illusion ทั้งนั้น
เราเรียก Illusion นี้ว่า End-of-history illusion หรือความเข้าใจผิดที่เรามีเกี่ยวกับตัวเราเองในวันนี้ ตัวเราเองในอดีต และตัวเราเองในอนาคต
จากงานวิจัยของ จอดี คอร์แบค แดน กิลเบอร์ต และทิม วิลสัน นักจิตวิทยาอเมริกัน 3 คนพบว่า
- คนอายุ 20 มักคิดว่าเขาจะยังชอบอาหารที่เขาชอบกินในอีกสิบปีข้างหน้า แต่คนที่อายุ 30 มักจะบอกว่าพวกเขาไม่ได้ชอบอาหารที่พวกเขาเคยชอบตอนพวกเขาอายุ 20
- คนอายุ 30 มักคิดว่าพวกเขาจะยังคบกับเพื่อนที่เขาสนิทด้วยตอนเขาอายุ 40 แต่คนที่อายุ 40 มักจะบอกว่าเขาไม่ได้สนิทกับเพื่อนที่เขาเคยสนิทด้วยเมื่อตอนที่เขาอายุ 30
- ส่วนคนอายุ 40 มักคิดว่าเขาจะยังมีความเชื่อในหลายๆ เรื่องเหมือนเดิมอยู่ในตอนอายุ 50 แต่คนที่อายุ 50 มักจะบอกว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาไม่ได้เชื่อเหมือนตอนที่เขาเคยเชื่อตอนอายุ 40 เป็นต้น
สรุปก็คือคนเราส่วนใหญ่ในทุกช่วงชีวิตนั้นมักจะมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ได้เกิดขึ้นกับตัวเราไปแล้วในอดีต ส่วนอนาคตนั้นคงจะไม่ค่อยเกิดการเปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก และถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงในอนาคตจะลดลงไปตามอายุก็จริง แต่คนเราส่วนใหญ่ก็ยังคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตต่ำกว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงๆ ทั้งนั้น
และด้วยเหตุผลนี้นี่เองที่ทำให้คนเรามักจะลงทุนกับอนาคตโดยใช้พื้นฐานความชอบหรือความเชื่อที่มาจากปัจจุบันมากจนเกินไป
คล้ายๆ กับที่คนเรามักจะไม่สามารถจินตนาการได้ว่าเทคโนโลยีในอนาคต เช่น iPhone หรืออินเทอร์เน็ต มันจะแตกต่างจากเทคโนโลยีในวันนี้มากนัก (ทั้งๆ ที่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ส่วนใหญ่ไม่สามารถจินตนาการโลกของโซเชียลมีเดียที่เรามีในปัจจุบันได้เลยด้วยซ้ำ)
อ่านเพิ่มเติม:
- Quoidbach, J., Gilbert, D.T. and Wilson, T.D., 2013. The end of history illusion. science, 339(6115), pp.96-98.
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์