×

Empty Nest Syndrome ความเหงาของวัยกลางคนเมื่อลูกไม่อยู่บ้าน สาเหตุหนึ่งของโรคซึมเศร้า

24.04.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • Empty Nest Syndrome หรือภาวะ ‘รังที่ว่างเปล่า’ เป็นอาการรู้สึกเหงา เศร้า เสียใจ จากสาเหตุเมื่อผู้เป็นลูกโตขึ้นและต้องออกจากบ้านไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง โดยในช่วงแรกก็จะเกิดความรู้สึกเศร้า ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ผู้ปกครองเองปรับตัวไม่ทัน
  • การเปลี่ยนแปลงที่มากและปรับตัวไม่ทันอาจทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวล อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ และอาจไปถึงอาการของโรคที่ร้ายแรงที่สุดนั่นคือการฆ่าตัวตาย โดยในไทยยังพบผู้เป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
  • สามารถเสริมภูมิคุ้มกันจากภาวะนี้ได้โดยหาเป้าหมายใหม่ในการใช้ชีวิต จากเป้าหมายเดิมที่เป็นหน้าที่ในการเลี้ยงลูกมาตลอด 20-30 ปี อาจเปลี่ยนเป็นเรื่องการดูแลสุขภาพของตัวเองหลังจากนั้น เป็นต้น

การเติบโตขึ้นมาของคนคนหนึ่งต้องผ่านอะไรมากมายตั้งแต่การเป็นเด็กที่มีหน้าที่ต้องเล่น โตขึ้นมาก็ต้องเรียน เป็นผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้วสร้างครอบครัว มีลูก จนไปถึงจุดหนึ่งที่เข้าสู่วัยกลางคนและลูกๆ ต้องออกไปผจญภัยด้วยตัวเองอย่างการไปเรียนมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด บ้านที่ว่างเปล่าและเงียบเหงาก็เริ่มขึ้น ผู้ปกครองหลายคนก็อาจเข้าสู่ภาวะ Empty Nest Syndrome

 

 

คืออะไร

นายแพทย์พร ทิสยากร จิตแพทย์ประจำศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ และอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงภาวะรังที่ว่างเปล่านี้ว่า “เป็นอาการเมื่อผู้ปกครองรู้สึกเหงา เศร้า เสียใจ จากสาเหตุเมื่อผู้เป็นลูกโตขึ้นและต้องออกจากบ้านไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง โดยในช่วงแรกก็จะเกิดความรู้สึกเศร้า ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ผู้ปกครองเองปรับตัวไม่ทัน” ซึ่งภาวะนี้เกิดได้กับทุกคนเมื่อลูกเติบใหญ่พอที่จะบินออกจากรัง ที่แม้เชฟโหดคนดังอย่าง กอร์ดอน แรมซีย์ ก็เผชิญกับตัวถึงความเศร้านี้มาแล้วเมื่อตอนลูกชายคนโตย้ายออกจากบ้าน

 

กรณีที่เคยเกิดขึ้นในไทย

เคสที่เคยเข้ามาปรึกษากับแพทย์ คุณหมอเผยกับ THE STANDARD ว่ามักเป็นกลุ่มผู้หญิงช่วงอายุ 40-50 ปีที่ลูกๆ เข้าเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่ลูกเกิดมาที่จะต้องห่างกัน โดยคุณแม่อาจนั่งอยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมอะไรมาก แต่ก่อนต้องซักผ้า เก็บของให้ลูก ส่งลูกเรียนพิเศษ จนถึงวันหนึ่งเมื่อหันซ้ายหันขวาแล้วไม่รู้จะทำอะไร จึงเกิดอาการเศร้าและเบื่อหน่าย

 

 

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

คุณหมอยังเสริมอีกว่า “หากเกิดการเปลี่ยนแปลงมากๆ และปรับตัวไม่ทันจะทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวลได้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคที่กำลังถูกพูดถึงเป็นวงกว้างในขณะนี้ และอาจไปถึงอาการของโรคที่ร้ายแรงที่สุดนั่นคือการฆ่าตัวตาย โดยในไทยยังพบผู้เป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นอีกสถานการณ์หนึ่งในชีวิตที่พ่อแม่ต้องปรับตัว”

 

และเมื่ออ้างอิงตามแนวทฤษฎีของ คูเบลอร์-รอสส์ จิตแพทย์ชาวสวิส-อเมริกัน เรื่อง ‘ปฏิกิริยาความโศกเศร้าที่เกิดจากการสูญเสีย’ (Grieving Process) เราจะพบว่าการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักนั้นประกอบด้วย 5 ระยะ ได้แก่

 

1. ปฏิเสธ ไม่ยอมรับ

2. โกรธและแสดงการต่อต้านสิ่งที่เกิดขึ้น

3. ต่อรอง พยายามหาสิ่งต่างๆ มาช่วยเปลี่ยนแปลง เนื่องจากยังไม่สามารถทำใจยอมรับได้

4. ซึมเศร้า แสดงออกถึงความเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

5. สงบและยอมรับการสูญเสียได้

 

 

วิธีการป้องกันและรักษา

การปรับตัวจากภาวะ Empty Nest Syndrome อาจทำได้โดยพ่อแม่เองต้องหาเป้าหมายใหม่ ซึ่งจากเป้าหมายเดิมที่เป็นหน้าที่ในการเลี้ยงลูกมาตลอด 20-30 ปีในตอนนั้น อาจต้องเปลี่ยนเป็นเรื่องการดูแลสุขภาพของตัวเองหลังจากนั้น เป็นต้น

 

ในอีกมุมหนึ่ง หากประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบการศึกษาควบคู่กับยกระดับคุณภาพชีวิตได้ ความเหลื่อมล้ำก็อาจค่อยๆ ลดลง ส่งผลให้เด็กจำนวนมากที่ต้องการไปศึกษาตามมหาวิทยาลัยชั้นนำในเมืองหลวงหรือตามจังหวัดใหญ่ๆ กระทั่งคนทำงานที่ต้องย้ายออกจากบ้านเพื่อทำงานในเมืองใหญ่ได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้นก็เป็นได้

 

สุดท้ายพวกเราเหล่าลูกๆ ที่ออกมาจากรังของพ่อและแม่อาจต้องช่วยกัน อย่างง่ายที่สุดเพียงแค่โทรหาท่านวันละครั้งก็ยังดี เพราะขนาดเรายังเหงาและเศร้าได้ เราก็คงไม่อยากให้คนที่เรารักรู้สึกเช่นนั้นเช่นกัน

 

อ่านเรื่อง เมื่อคนที่รักมาจากไป จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร? วิธีรับมือกับความโศกเศร้าจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักได้ที่นี่

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X