พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมออนไลน์ มีผลบังคับใช้แล้ววันนี้! ให้อำนาจผู้เสียหายแจ้งระงับบัญชีม้าผ่านแบงก์ได้ทันทีไม่ต้องรอแจ้งความ เตือนแก๊งบัญชีม้า-ซิมม้า เสี่ยงรับโทษหนัก จำคุก 2-5 ปี ปรับ 2-5 แสนบาท
วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 รัฐบาลได้แจ้งข่าวผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาว่าได้มีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปราบอาชญากรรมออนไลน์ โดย พ.ร.ก. นี้เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้สุจริตซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียไปซึ่งทรัพย์สินผ่านโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในแต่ละวันมีผู้ถูกหลอกลวงจำนวนมาก มีมูลค่าความเสียหายสูงมาก โดยการประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (17 มีนาคม 2566) เป็นต้นไป
โดยล่าสุดกระทรวง DES ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 แห่ง ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, สำนักงาน กสทช., ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สมาคมธนาคารไทย, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ หารือเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินงานและช่องทางสำหรับให้ประชาชนผู้เดือดร้อนแจ้งเรื่อง
“เมื่อ พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมออนไลน์ประกาศใช้แล้ว ผู้เสียหายสามารถแจ้งธนาคารระงับบัญชีม้าได้ทันที ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายสำคัญในการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์และปัญหาอาชกรรมทางออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าปัญหาจะลดลงอย่างแน่นอน สำหรับบทลงโทษสูงสุดของผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ปลัดกระทรวง DES กล่าว
สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้จะมีบทบาทสำคัญในการจัดการปัญหาภัยทางการเงินได้อย่างตรงจุด และเมื่อผนวกกับชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินของ ธปท. ที่จะยกระดับการป้องกัน ตรวจจับ ตอบสนอง และรับมือต่อภัยการเงินในภาคการธนาคารให้เป็นมาตรฐานเดียวกันแล้ว จะช่วยให้การแก้ปัญหาทำได้ครบวงจรยิ่งขึ้น
พ.ต.ต. สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้จะมีกลไกหลักสำคัญในการจัดการกับบัญชีม้า การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงผู้ประกอบการโทรศัพท์ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีหรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจต้องเปิดเผยข้อมูลหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่น่าสงสัย รวมทั้งสามารถระงับบัญชีต้องสงสัยได้เป็นการชั่วคราวโดยไม่ต้องรอเกิดเหตุ เพื่อเป็นการป้องกันสำหรับประชาชนผู้เสียหาย
วิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อจัดทำรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือการฟอกเงิน เพื่อจัดส่งให้กับธนาคารเพื่อเฝ้าระวังและระงับช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กรณีตรวจสอบพบว่าเข้าข่ายบัญชีม้าหรือคาดว่าจะเป็นบัญชีม้า เพื่อไม่ให้ถูกใช้ในการกระทำความผิดต่อไป
สุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. จะมีการกำชับให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกรายปฏิบัติตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการหลอกลวงทางออนไลน์ และปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเพื่อให้เกิดความระมัดระวังตัวจากกลโกงของมิจฉาชีพ
ด้าน ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้การจัดการภัยทางการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แก่ มีบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับผู้กระทำผิด รวมทั้งผู้เปิดบัญชีม้าและผู้ให้การสนับสนุน รวมถึงทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ตำรวจ และธนาคาร ให้สามารถแชร์ข้อมูลผู้กระทำผิดข้ามธนาคารได้โดยอัตโนมัติ และสามารถบล็อกบัญชีที่ต้องสงสัยชั่วคราวได้ทันทีโดยไม่ต้องรอแจ้งความ เพื่อลดบัญชีม้าที่มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการเอาเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหายได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ดีเดย์ มิ.ย. นี้ ผู้ใช้งาน Mobile Banking ต้องสแกนใบหน้ายืนยันตัวตน กรณีโอนเงินมากกว่า 50,000 บาทต่อรายการ
- ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Banking) โอกาสหรือความเสี่ยงสำหรับนักลงทุน
- Banking for Net Zero: ธนาคารกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจไร้คาร์บอน