×

เริ่มใช้กำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ 1 มี.ค. นี้ ป้องกันผู้ต้องหาหลบหนีหลังได้ปล่อยชั่วคราว

27.02.2018
  • LOADING...

ความพยายามในการแก้ปัญหาผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว หรือได้รับการประกันตัวแล้วมักหลบหนีคดี ทำให้มีปัญหาต่อการพิจารณาคดีของศาล และเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ได้มีการออกมาตรการเพื่อติดตามตัวผู้ต้องหา

 

ล่าสุด ได้มีการนำเอาอุปกรณ์ที่เรียกว่า กำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM ซึ่งย่อมาจากคำว่า Electronic Monitoring มาใช้กับผู้ต้องหา เพื่อที่จะสามารถติดตามความประพฤติได้ตลอด หลังได้รับการปล่อยชั่วคราว

 

โดยวันนี้ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมและกรมคุมประพฤติ เพื่อนำมาใช้ในการสืบเสาะและพินิจจำเลยการสั่งให้ดำเนินการคุมความประพฤติ

 

โดยจะเริ่มดำเนินการรับไฟล์เอกสารระหว่างศาลยุติธรรมรวม 235 แห่ง เช่น ศาลอาญา ศาลอาญาธนบุรี ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กับสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2561 เป็นต้นไป

 

ขณะที่วิธีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลมาใช้ในการปล่อยชั่วคราว จะมีศูนย์ควบคุมและติดตามการปล่อยตัวชั่วคราว ดูแล โดยใช้อุปกรณ์ดังกล่าวแทนการวางเงินประกันกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว

 

อุปกรณ์ตัวนี้จะระบุตำแหน่ง ที่อยู่ และส่งข้อมูลพิกัดของผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวทุกๆ 2 นาที มีระบบการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมงไปยังห้องควบคุมสั่งการของเจ้าหน้าที่ เมื่ออุปกรณ์ถูกตัดหรือทำลาย จะส่งเสียงสัญญาณเตือนดังขึ้นทันที หรือกรณีพยายามหลบหนีออกนอกพื้นที่ควบคุม เจ้าหน้าที่จะประสานตำรวจออกติดตามตัวทันที

 

เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีในชั้นปล่อยชั่วคราว ทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น โดยศาลยุติธรรมได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลในการจัดซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวน 5,000 ชิ้น และมอบให้กับศาลทั่วประเทศที่นำร่องได้ใช้งานจำนวน 23 ศาล โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม

 

การใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ยังคำถามน่ากังวลว่า มีประสิทธิภาพความเที่ยงตรงเพียงพอหรือไม่ เพราะการควบคุมมนุษย์ด้วยเทคโนโลยีย่อมเกิดข้อผิดพลาดหรือเกิดการฉ้อฉลขึ้นได้ รวมถึงอาจทำให้คนไม่กลัวการกระทำความผิด เพราะวิธีการลงโทษไม่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกิดความทุกข์ทรมานเกินไป

 

สำหรับในประเทศไทยเอง มีการนำเรื่องนี้เข้ามาตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2556 โดยพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising