ปี 2020 เป็นปีที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว ความเครียด ความวิตกกังวล นับตั้งแต่โรคระบาดโควิด-19 เกิดขึ้น ผู้คนทั้งโลกต่างก็ห้ามตัวเองไม่ให้ตั้งคำถามว่า เราจะติดเชื้อหรือเปล่า? งานที่ทำจะได้รับผลกระทบไหม? แล้วเราจะต้องใช้ชีวิตแบบนี้กันอีกนานแค่ไหน? แถมระหว่างนั้นก็มีข่าวร้ายต่อแถวเรียงคิวเข้ามาแบบไม่มีพัก ไหนจะภัยพิบัติ ก่อการร้าย คนถูกอุ้มหาย เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ใครๆ ต่างก็ขนานนามปีนี้ว่าเป็น ‘The Worst Year Ever’
แต่ถ้าคิดว่ามันจะจบเพียงแค่นี้ คุณคิด…ผิด เพราะยังมีอีกหนึ่งวาระระดับโลกที่รอให้เรากุมขมับยิ่งกว่า นั่นก็คือ ‘ใครจะชนะการเลือกตั้งอเมริกา!’
อีกไม่กี่อึดใจ ก็จะได้เวลารู้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา หรือ US Election 2020 ไม่ใช่แค่อเมริกันชนเท่านั้นที่ลุ้นจนไม่เป็นอันทำการทำงาน แต่คนทั่วโลกต่างก็ติดตามอย่างใจจดใจจ่อ เพราะผู้นำของประเทศเขามีอิทธิพลอย่างมากต่อทิศทางกระแสโลก
‘Election Anxiety’ หรืออาการวิตกกังวลผลการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะได้เผชิญ
สมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Psychological Association) รวบรวมผลสำรวจความเครียดในประเทศ พบว่า ประชากรมากกว่า 56% ระบุว่า การเลือกตั้งในปี 2020 นี้ เป็นปัจจัยกดดันที่สำคัญสำหรับพวกเขา
และช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ศูนย์ควบคุมโรคในสหรัฐอเมริการายงานว่า วัยรุ่นตอนปลายหรือผู้ใหญ่ตอนต้น มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรควิตกกังวล (Anxiety) มากขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นกับประชากรโดยรวมสูงกว่าในปี 2019 ถึง 3 เท่า
นอกจากนี้ก็ยังมีการเก็บแบบสำรวจอื่นๆ เช่น ชายผิวดำที่มีการศึกษาและมีรายได้ดี จะมีความเสี่ยงสูงกว่า อาจเนื่องมาจากกลัวการถูกปิดกั้น ที่เกิดจากอคติของกลุ่มคนผิวขาว
อาการวิตกกังวลผลการเลือกตั้ง ยังมีความแตกต่างกันไปตามพรรคที่เชียร์ โดย 2 ใน 3 ของผู้ที่เชียร์ โจ ไบเดน เผยว่า พวกเขากลัวเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศ เมื่อเทียบกับคนที่เชียร์ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่กลัว ซึ่งสาเหตุของความกังวลนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ ขึ้นอยู่กับการพัฒนาทางสังคม โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางส่วนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AP ว่า
“ฉันอยากให้ทุกอย่างสิ้นสุดลงไวๆ เพราะมันเต็มไปด้วยความวิตกกังวล ฉันหวังว่ามันจะไม่เกิดความเสียหายมาก”
“ฉันอยากได้ชีวิตตัวเองกลับคืนมา ฉันอยากมีช่วงเวลาตอนเย็นที่สามารถอ่านหนังสือ ดูทีวี และไม่ต้องเปิดฟังข่าวเครียดๆ”
“มันเป็นอะไรที่ช่วยไม่ได้ และฉันรู้สึกว่าไม่น่าจะมีอะไรดีขึ้น ถ้าสุดท้ายแล้วทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง แต่ถ้าไบเดนชนะ มันจะเปลี่ยนไปในทางที่ราบรื่นขึ้นจริงไหม? แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เลือกทรัมป์”
ซึ่งจริงๆ แล้ว ปี 2016 ในการเลือกตั้งครั้งก่อนระหว่างทรัมป์ และฮิลลารี คลินตัน ก็มีการเก็บผลสำรวจความเครียดและความกังวลของผู้คนเช่นกัน แล้วก็พบว่าระดับความกังวลของผู้คนในปีนี้เพิ่มมากขึ้น เทียบเท่ากับเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ของ UC Riverside (UCR) กล่าวว่า การที่ผู้คนจะเครียด กลัว และกังวลกับการเลือกตั้งในปีนี้ เป็นเรื่องค่อนข้างสมเหตุสมผล และคนที่เชียร์ไบเดนจะกังวลมากกว่าคนที่เชียร์ทรัมป์ เนื่องจากพวกเขากังวลว่าทรัมป์จะไม่ยอมรับหากเขาแพ้ และกังวลว่าจะเกิดการแทรกแซงการเลือกตั้งโดยรัสเซีย
ผลการเลือกตั้งในปีนั้น ทำให้ผู้คนเกิดความไม่เชื่อใจ โดยเฉพาะกองเชียร์พรรคเดโมแครต ที่คาดว่าคลินตันจะชนะ ทำให้ความเชื่ออันน้อยนิดในผลการเลือกตั้งครั้งนี้สวนทางกับความกังวลที่สูงลิ่ว และจะกังวลไปจนกว่าผลการเลือกตั้งจะถูกประกาศออกมา
แล้วความกังวลดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเราอย่างไรบ้าง?
บางคนอาจรู้สึกอึดอัด กดดัน และไม่มีสมาธิในการทำงาน ซึ่งอีกปัจจัยหนึ่งก็มาจาก ‘การเปิดรับข้อมูลข่าวสาร’ ที่ถือเป็นกุญแจสำคัญต่อการทำให้เกิดความกลัวและความกังวล เพราะบางครั้งสิ่งคุกคามจิตใจอาจมาในรูปแบบของการสร้างจินตนาการในหัว
ฟรานซิสโก เปดราซา ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ เพิ่มเติมว่า สื่อหรือโซเชียลมีเดียก็มีผลอย่างมาก เพราะสำนักข่าวต่างก็อยากขายข่าวของตัวเอง
“การเปิดรับข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวที่แข่งกันด้วยความเร็ว ทำให้จิตใจเราไม่สงบ แม้เราจะได้รับการรายงานแบบทันใจและน่าตื่นเต้นก็ตาม แต่สุดท้ายมันก็จะจบที่ความรู้สึกไม่สบายใจและเต็มไปด้วยความขัดแย้งอยู่ดี” เปดราซากล่าว
แม้ในอดีต ความกังวลจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต เพราะทำให้มนุษย์ตัดสินใจทำสิ่งที่เสี่ยงอันตรายน้อยลง และเป็นสกิลสำคัญที่จะช่วยให้เราเอาชีวิตรอด แต่ในขณะเดียวกัน ความกังวลก็ปิดกั้นโอกาสไม่ให้มนุษย์ได้ปรับตัวเพื่อเจริญเติบโต เพราะฉะนั้น ควรรีบขจัดความกังวลในจิตใจ เพื่อไม่ให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ด้วยวิธีดังนี้
- หมั่นสำรวจระดับความกังวลของตัวเองอยู่เสมอ ว่าตอนนี้เรากังวลมากไปหรือไม่ โดยเฉพาะกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
- ปิดโซเชียลมีเดียบ้าง เพื่อหลบจากข่าวที่อาจสร้างความกังวลใจ
- หากอยากติดตามข่าว ติดตามจากหลายๆ ช่องทาง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมที่สร้างการยุยง ปลุกปั่น
- พยายามหาฉันทามติจากความเห็นทางการเมืองระหว่างกองเชียร์ทั้งสองฝ่าย
- ควบคุมในสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้จริงๆ
หรือหากอาการวิตกกังวลรุนแรง ถึงขั้นที่ไม่สามารถหลุดพ้นและกระทบต่อการใช้ชีวิต ความช่วยเหลือทางการแพทย์ เช่น พบนักจิตบำบัด จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลเป็นอย่างดี
เพราะระหว่างนี้ การคาดเดาไปต่างๆ นานาก็คงมีแต่ทำให้จิตใจหดหู่ หยิบหนังสือสักเล่มมาอ่าน เลือกหนังสักเรื่องมาดู หรือออกไปเดินเล่น เพื่อพักจากการเมืองสักครู่ ก็คงไม่เสียหาย ไว้ใกล้ๆ วันประกาศผล ค่อยมาลุ้นกันอีกทีจะดีกว่า
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- https://www.psychiatrictimes.com/view/presidential-election-anxiety-role-psychiatry
- https://apnews.com/article/election-2020-joe-biden-donald-trump-race-and-ethnicity-virus-outbreak-ad7ce3a5d6502bf73556f55a53b9e3a1
- https://news.ucr.edu/articles/2020/10/22/anxious-about-election-political-scientists-explain-why