×

เปิดใจ จักรภพ-สุไพรพล คู่รัก LGBTQIA+ ในแวดวงการเมือง ในโอกาสที่ไทยผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม

29.06.2024
  • LOADING...

เอก-จักรภพ เพ็ญแข อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช พร้อมด้วย ป๊อป-สุไพรพล ช่วยชู คู่รัก LGBTQIA+ ในแวดวงการเมือง ร่วมพูดคุยกับ THE STANDARD หลังรัฐสภาไทยผ่านร่างกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ เป็นชาติแรกในอาเซียน และในโอกาสที่ทั้งคู่ผ่านพ้นวิกฤตการเมืองที่ทำให้จักรภพต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ และแยกพวกเขาให้ห่างกันนาน 15 ปี 

 

มาทำความรู้จัก ‘คู่รักนักการเมือง’ คู่นี้ในแง่มุมต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน

 

 

ทั้งสองคนรู้จักกันได้อย่างไร เล่าให้เราฟังหน่อย

 

ป๊อป สุไพรพล: เจอกันในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ไปงานเปิดตัวหนังสือคุณจักรภพ เลยพบกันเป็นครั้งแรก

 

เอก จักรภพ: เราอยู่บนเวที ลงมาเซ็นหนังสือ คนมากหน้าหลายตา จำได้ว่าเจอในงานนั้น แต่จำรายละเอียดมากกว่านั้นไม่ได้ ตอนหลังมานั่งคุยกัน ลำดับความกัน ก็จำได้

 

จุดไหนที่ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจยกระดับความสัมพันธ์สู่สถานะ ‘คนรัก’ 

 

ป๊อป สุไพรพล: เป็นช่วงคาบเกี่ยวการเมือง ซึ่งตอนนั้นมีการจัดชุมนุมเรียกร้องให้กับประชาชน

 

เอก จักรภพ: มันเริ่มต้นแบบคนทำงาน ต่อสู้ด้วยกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ป๊อปเขาก็อยู่ข้างตัวตลอด มีอะไรก็บอกเขา เขาดูแลหมด เราเริ่มใกล้ชิดกันมากขึ้น จากความใกล้ชิดทางกายก็ขยับมาใกล้ชิดทางจิตใจ สุดท้ายความสัมพันธ์นี้เกิดขึ้นโดยที่เราก็ไม่รู้ตัว ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่เราทั้งคู่ต่างแชร์ประสบการณ์ต่างๆ ร่วมกัน 

 

 

ขณะที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองนานถึง 15 ปี รับมือกับความสัมพันธ์ที่เป็น ‘รักทางไกล’ อย่างไร 

 

เอก จักรภพ: เราไม่รู้ว่าจะนานถึง 15 ปีตอนที่โบกมือลากัน ผมลงจากรถเขาแล้วขึ้นรถอีกคันหนึ่ง เขาขับรถอีกคันและร้องไห้ตามหลังมา เราไม่รู้หรอกว่าจะได้ห่างกันนานขนาดนั้น เราก็อยากจะอยู่ด้วยกันให้มากที่สุด ระหว่างนั้นผมบอกเขาตลอดเวลาว่า ถ้าคอยไม่ไหว ผมเข้าใจนะ ผมไม่ชอบที่จะไม่แฟร์กับใคร อยากจะแฟร์กับคนอื่นให้มากที่สุด บางทีเราเผลอไม่แฟร์ก็มี แต่ว่าถ้ารู้ตัว เราต้องแฟร์ โดยเฉพาะนี่คือคนที่อยู่ข้างตัว

 

ป๊อป สุไพรพล: หลังจากที่ลี้ภัยไป 15 ปี ในระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทยก็เดินทางไปเยี่ยมบ้าง เราทั้งสองคนต้องอดทนอย่างมาก การที่จะไปเจอกันก็ต้องนัดหมายกัน แล้ววางแผนการเดินทาง ถ้าเดินทางโดยเครื่องบินจะมีประวัติการเดินทาง แต่ช่วงที่อยู่ใกล้ประเทศไทยก็ต้องเดินทางโดยรถ 

 

เอก จักรภพ: แต่พอไปอยู่ไกลก็ต้องใช้เครื่องบิน ประเทศที่อยู่ไกลก็ต้องเดินทางหลายต่อ บางครั้งขึ้นรถก็ต้องเปลี่ยนรถ คอยดูว่ามีคนตามไหม เพราะมันอันตรายต่อเราทั้งคู่

 

 

อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในความสัมพันธ์ตลอด 23 ปีที่ผ่านมาคืออะไร

 

ป๊อป สุไพรพล: น่าจะเป็นปัญหาทางการเมือง เพราะสิ่งนี้กระทบทุกอย่าง ทั้งเรื่อง LGBTQIA+ การช่วยเหลือประชาชนให้เท่าเทียมกัน แม้แต่เรื่องความยากจนและชนชั้นทางสังคม

 

เอก จักรภพ: การเมืองเป็นอุปสรรคใหญ่สุด โดยเฉพาะในมิติของการต่อสู้ทางการเมือง ตอนนั้นก็เป็นอุปสรรคทางความสัมพันธ์ เพราะว่าเราต้องระวังกันและกัน ป๊อปก็อยู่ในวัยที่เขาน่าจะอยากมีรักที่สวยงามและเป็นสีชมพู สถานการณ์ขณะนั้นไม่อนุญาตให้เป็นสีชมพู เขาก็ยอมรับความเป็นสีเทาได้อย่างดี ซึ่งเป็นเวลานานมากๆ ผมถึงได้ตัดสินใจว่า เราเปิดตัวต่อสังคมกันเถอะ เพราะนอกจากจะเป็นการให้แรงบันดาลใจกับคนอื่น ผมก็อยากจะให้เกียรติเขา ที่เขารอคอยมานาน แล้วก็ก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้มา ทั้งที่เขามีสิทธิ์จะเรียกร้องได้ในฐานะความเป็นคนคนหนึ่ง แต่เขาก็ยอมสละสิทธิ์นั้นเพื่อจะได้อยู่ด้วยกัน 

 

 

หลังจากเปิดเผยเรื่องความสัมพันธ์ ฟีดแบ็กจากคนรอบตัวและสื่อโซเชียลเป็นอย่างไร

 

ป๊อป สุไพรพล: ตั้งแต่เปิดตัวมา หลายคนก็ยอมรับ บางคนก็ตกใจหรือเงียบไปเลย บางศาสนาถึงขั้นต่อว่าก็มี แต่คนที่ยอมรับได้เขาก็รู้สึกว่าเรื่องราวของเราเป็นกำลังใจให้เขา หลายๆ คนที่ยังไม่กล้าที่จะบอกกับสังคมให้รับรู้ก็น่าจะกล้าหาญขึ้น อยากจะเปิดเผยเรื่องราวของตนเองมากขึ้น 

 

เอก จักรภพ: ผมภูมิใจกับสังคมไทยมากขึ้นหลังจากที่ผมเปิดตัว เพราะตอนที่เปิดตัวเราก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไร ผมมีอาชีพสาธารณะ ขึ้นอยู่กับความเห็นของคนเยอะ เรายิ่งต้องระวังมาก เราต้องแคร์มาก แต่สิ่งที่เราแคร์มากกว่าคือ ‘ความซื่อสัตย์’ สังคมไทยเปลี่ยนไปเยอะ จากการไม่ยอมรับเลย ก็มีทั้งคนที่ยอมรับมาก ออกหน้าอยากมีส่วนร่วมและอยากช่วยเหลือ รวมถึงคนที่สนับสนุนแต่ก็ยังไม่ค่อยอยากจะออกหน้ามาก สนับสนุนแบบเงียบๆ ผ่านโพสต์ ผ่านข้อความต่างๆ กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ค้าน ไม่เห็นด้วย แต่พวกเขาก็ดูเหมือนจะค้านด้วยจิตใจและมุมมองแบบเก่าๆ น้อยลง ซึ่งเขาก็ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เขาเกิด ต้องให้เวลาเขา 

 

บางคนเขาไม่เห็นด้วยกับจุดยืนทางการเมืองของเราก็เลยพาลมาโจมตีเราเรื่องนี้

ผมถือว่า LGBTQIA+ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผมเท่าๆ กับการเมือง เพราะว่ามันเป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้สังคมได้เรียนรู้คำว่า ‘เท่าเทียมกัน’

ซึ่งเราเขียนในรัฐธรรมนูญมาทุกฉบับ แต่มันก็ไม่เคยเท่ากันเลย มีชนชั้นที่มองไม่เห็น มีเพดานแก้วที่คนโผล่ขึ้นไปไม่ได้เยอะแยะไปหมด เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ได้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ลดลงเรื่อยๆ ผมมองว่าสังคมไทยเราสว่างขึ้นเรื่อยๆ แต่แน่นอนมันยังมีปัญหาอีกเยอะที่เราจะต้องฝ่าฟันกันต่อไป

 

 

เคยถูกเลือกปฏิบัติหรือมีประสบการณ์ที่ไม่ดีที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์หรือรสนิยมทางเพศบ้างไหม 

 

ป๊อป สุไพรพล: ที่ผ่านมาก็มีการกีดกันจากผู้ใหญ่บ้าง เขาอาจจะแยกประเภทไปเลยว่าเราไม่ใช่เพศชายและเพศหญิงตามกรอบที่สังคมไทยยอมรับ

 

เอก จักรภพ: ตลกดี พอเรามีบทบาททางสังคม ทางการเมือง คนจะไม่ค่อยกล้าเลือกปฏิบัติกับเรามาก แต่มันจะซ่อนอยู่อีกแบบหนึ่ง ยกตัวอย่าง ผมอยู่กับค่ายการเมืองหนึ่งทุกวันนี้ เวลามีคนอธิบายเกี่ยวกับตัวผม จะพิจารณาขึ้นตำแหน่งต่างๆ เขามักจะพูดว่า “ไม่ดีมั้ง จักรภพเขา Emotional” เป็นวิธีการว่าแบบอ้อม แบบเหมารวม ว่าเพราะเขาเป็นเกย์ ถึงได้ Emotional หรือใช้อารมณ์มาก เพราะฉะนั้นไม่ควรจะให้เขาขึ้น มันมาในรูปแบบนี้ แต่พอเรามีอำนาจต่อรองเขาก็อาจจะไม่ได้ว่าเราโดยตรง ดังนั้น LGBTQIA+ ที่ประสบความสำเร็จ อย่านึกว่าตัวเองไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ผมคิดว่าหน้าที่หลักของ LGBTQIA+ ในช่วงบุกเบิกคือการช่วยกันมองหาการเลือกปฏิบัติรูปแบบต่างๆ เพื่อจะฉายไฟลงไปให้สังคมมองเห็นถึงปัญหานี้

 

คนที่เขาเลือกปฏิบัติหรือดูถูกเหยียดหยามเรา บางทีเขาไม่รู้ตัว เขานึกว่าเขาทำสิ่งที่ถูกต้อง หรือเหมือนกับกลุ่มเพื่อนที่ชอบเอาเพื่อนคนหนึ่งเป็นเป้าของการบูลลี่ คนนี้อ้วน คนนี้กินเยอะ คนนี้มาช้า บูลลี่ๆๆ เพื่อให้ตัวเขาเองรู้สึกดีขึ้น บางทีเขาไม่ได้ตั้งใจ แต่เขาไม่รู้ว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นอาจกลายเป็นตราบาปหรือเป็นแผลเป็น สำหรับคนคนหนึ่งไปชั่วชีวิต เหมือนกับที่ผมโตมา ผมย้อนกลับไปคิดถึงเพื่อนบางคนที่ผมอาจเคยล้อเขาไว้ เขาเป็นโรคอย่างหนึ่งซึ่งทำให้ขามีจุด กลายเป็นจุดลาย เราก็ล้อๆ จนวันหนึ่งเขาหายไปเลย เรามารู้ทีหลังว่าเขาตัดสินใจย้ายโรงเรียนไป เพราะว่าเขาทนตรงนี้ไม่ได้ แต่ต่อหน้าเราเขาไม่เคยต่อว่า เขาไม่เคยสู้กลับ เราไม่เคยรับรู้หรือตระหนักถึงผลการกระทำของเรา จนกระทั่งพอโตขึ้น ผมต้องตามไปหาเขา เชื่อไหมว่าพอไปบอกเขาว่า เรามาเพื่อจะบอกขอโทษเรื่องนี้ ตอนแรกเขาหัวเราะ แต่พอจะขึ้นรถกลับ เขาโผมากอดเรา เขาบอกว่าเขาดีใจที่เราเข้าใจความรู้สึกของเขาในที่สุด

 

 

อนาคตของ LGBTQIA+ ในแวดวงการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร เราจะไปถึงจุดที่มีนายกรัฐมนตรีไทยเป็น LGBTQIA+ ได้หรือไม่ 

 

เอก จักรภพ: เป้าหมายไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เป้าหมายควรจะเป็น LGBTQIA+ ไม่ต่างจากคนอื่น จะเป็นอะไรก็เป็นได้ทุกอย่าง เป้าหมายสำคัญไม่ควรที่จะมุ่งเรื่อง Career Path หรืออนาคตของ LGBTQIA+ แต่เพียงอย่างเดียว เพราะอาจจะกลายเป็นเรื่องโควตา กลายเป็นว่าเราโปรโมตกันเอง ช่วยเพราะมีอัตลักษณ์หรือรสนิยมทางเพศเหมือนกัน ก็อาจจะไม่แฟร์ต่อคนอื่นที่ไม่เป็น LGBTQIA+ สิ่งนี้เรียกว่า ‘การเลือกปฏิบัติแบบทางกลับ’ (Reverse Discrimination) เป้าหมายควรจะเป็นว่า เราทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน

 

ผมเชื่อในระบบเสรีนิยม แต่ไม่เชื่อในเสรีนิยมที่ไม่ช่วยเหลือให้คนซึ่งถูกกดขี่ได้มีโอกาสที่เท่ากัน ไม่อยากให้ตั้งธงว่า LGBTQIA+ จะเป็นผู้นำการเมืองได้ไหม จะรวยขนาดนั้นได้ไหม จะกลายเป็นผู้นำทางสังคมได้หรือไม่ ถ้าเป็นก็เป็น ไม่เป็นก็คือไม่เป็น สิทธิในการเลือกเส้นทางชีวิตเป็นของทุกคน

 

 

‘ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของ LGBTQIA+’ คิดเห็นอย่างไรกับประโยคนี้

 

ป๊อป สุไพรพล: น่าจะเป็นสวรรค์ในด้านของแหล่งท่องเที่ยว แต่ว่าในด้านของการยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐานในครอบครัว หรือแม้แต่ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ไปจนถึงสถานที่ทำงานก็ยังมีปัญหาอยู่

 

เอก จักรภพ: ผมเจอมาจากข่าวในสหรัฐอเมริกาเมื่อนานมากแล้ว มันมีคำว่า ‘Don’t ask, don’t tell’ คือจะเป็นเกย์ก็เป็นไป จะเป็น LGBTQIA+ ก็เป็นไป แต่ไม่ต้องมาบอกฉัน ฉันก็ไม่อยากรู้ แล้วเราก็จะเสแสร้งว่าเราเหมือนกัน ทำให้ผมเข้าใจว่า การปฏิเสธตนเองและผู้อื่น หรืออ้างเพื่อจะหา Common Ground หาจุดร่วมกัน เป็นวิธีการที่ทำให้ปัญหายืดเยื้อต่อไป ไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา

 

ปัญหาของสังคมไทย เราใช้คำว่าเกย์ กะเทย ตุ๊ด ในทางลบมาโดยตลอด พออยู่ในกลุ่มเพื่อน หลายคนก็คาดหวังว่า LGBTQIA+ ต้องเป็นตัวตลก เป็นตัวฮาในกลุ่มเพื่อน ต้องกล้าแสดงออก แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่ LGBTQIA+ ทุกคนจะเหมือนกัน บางคนก็ชอบอ่านหนังสือ ชอบอยู่เงียบๆ ชอบสันโดษ สนุกกับการไปไหนคนเดียว บางคนก็ชอบไปกับกลุ่มเพื่อน การไม่ยอมรับกันและกันตรงนี้ นำไปสู่ธรรมเนียม ‘การเหมารวม’ ว่าคนกลุ่มนี้ต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ทำให้ปัญหายืดยาวออกไป

 

นอกจากนี้ผมคิดว่าสังคมไทยควรที่จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับเพศศึกษามากกว่านี้ คำอธิบายคือสิ่งที่เราควรจะต้องให้กับลูกหลานของเรา ไม่ใช่การสั่งห้ามแต่เพียงอย่างเดียว

 

 

คิดเห็นอย่างไรกับประโยคที่ว่า ‘สังคมไทยจะยอมรับเฉพาะ LGBTQIA+ ที่เก่งและมีความสามารถเท่านั้น’

 

ป๊อป สุไพรพล: คิดว่าส่วนใหญ่ก็จะเป็นเช่นนั้น เพราะว่าคนที่ดูเหมือนฉลาดน้อยกว่า หรือว่าไม่กล้าแสดงออก อาจกลายเป็นคนที่เก็บกด ถูกผลักให้กลายเป็นคนที่แปลกแยกทางสังคม หรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้

 

เอก จักรภพ: ผมเองก็คิดว่าน่าจะจริง เรื่องเก่งหรือเรื่องมีการศึกษาประเมินยากว่าเก่งอย่างไร แต่ประเด็นก็คือคนที่มีอำนาจต่อรองทางสังคมน้อยจะกลายเป็น LGBTQIA+ ที่หดหู่ ถูกกดทับ ซึ่งสุดท้ายก็เป็นเรื่องชนชั้นทางเศรษฐกิจ เป็นประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่า คงไม่ใช่ว่าเกย์ที่เก่งหรือมีการศึกษาจะได้รับการยอมรับ เกย์ที่มีอำนาจต่อรองสูงจะได้การยอมรับสูง แต่ในขณะเดียวกัน เกย์บางส่วนที่มาจากครอบครัวร่ำรวย นามสกุลใหญ่ มีบริษัทรองรับให้บริหาร บางครั้งเขาก็แสดงตัวหรือเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตนเองไม่ได้ เนื่องจากความกดดันภายในครอบครัว

 

ผมกับป๊อปเราคุยกันตลอดว่าเราอยากให้คนมีความสุข เพราะเราคิดว่าถ้าคนมีความสุข สังคมก็จะดีตามไปด้วย

 

 

‘สมรสเท่าเทียม’ จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปอย่างไรบ้าง

 

ป๊อป สุไพรพล: น่าจะเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการให้สังคมไทยปรับเข้าหากัน การที่จะต้องแก้กฎหมายต่างๆ ที่ยังอยู่ในระยะเวลา 120 วัน เพื่อที่จะให้ LGBTQIA+ กลายเป็นคนที่มีตัวตนในสังคมมากยิ่งขึ้น

 

เอก จักรภพ: สิ่งที่จะเกิดขึ้น ผมคิดว่า ‘ได้มากกว่าเสีย’

สมรสเท่าเทียมเป็นการสื่อสารทางสังคมที่เริ่มบอกว่าคนเราไม่ต่างกัน

ประเด็นแรก ผมคิดว่าเราได้คนกลับมารับใช้ส่วนรวมมากขึ้น มีพื้นที่ให้กับกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น

 

สอง ผมอาจพูดในเชิงพยากรณ์ และอาจมองดูในแง่ร้ายเล็กน้อย หลังจากเห็นบทเรียนในหลายประเทศ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในขั้นต้นอาจทำให้พวกเราในชุมชน LGBTQIA+ ของเราเองบางส่วนโอ้อวดเกินไป เธอต้องยอมรับฉัน ฉันต้องได้ตรงนี้ ต้องได้ตรงนั้น ทำให้สถานการณ์สุดโต่ง และอาจทำให้คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกชุมชน LGBTQIA+ สู้กลับ ซึ่งการสู้กลับตรงนี้จะทำให้เกิดสมดุลใหม่ในสังคมไทย

 

สาม กฎหมายฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่า ‘LGBTQIA+ Economy’ การมีตัวตนของ LGBTQIA+ จะนำไปสู่การเกิดปฏิสัมพันธ์ เกิดการรวมกลุ่มกัน เกิดการสร้างกิจกรรมทางสังคม และกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจเป็นคอมมูนิตี้ใหม่ๆ ขึ้นมา และผมคิดว่าน่าจะเป็นคอมมูนิตี้ที่แข็งแรง  

 

ไทยผ่านสมรสเท่าเทียมแล้ว แพลนต่อไปของทั้งคู่คืออะไร

 

ป๊อป สุไพรพล: ก็คงจดทะเบียนสมรสตามที่ได้สิทธิความเท่าเทียมนี้

 

เอก จักรภพ: หากว่าผ่าน 120 วันเรียบร้อยก็จะไปจดทะเบียนกัน เราแยกเป็นสองเรื่อง จดทะเบียนกับฉลอง จดทะเบียนเราก็ว่าไปตามกฎหมาย แต่ฉลองกำลังคิดว่าเราอายุขนาดนี้แล้ว ไม่รู้จะจัดเป็นงานฉลองหรือไปทำบุญ หรือไปทำประโยชน์เพื่อสังคมด้วยกัน

 

 

เส้นทางชีวิตทางการเมืองต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร หลังคดีความสิ้นสุด

 

ป๊อป สุไพรพล: สนใจในส่วนที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนในการที่จะไปช่วยภาคประชาชนแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส เด็กที่มีปัญหาครอบครัวและได้รับผลกระทบจากการเป็น LGBTQIA+ ก็อยากช่วยเหลือทางด้านนั้นด้วย

 

เอก จักรภพ: ป๊อปเป็นหนึ่งในคนที่ผ่านความยากลำบากอย่างมากในชีวิต ผลจากการได้อะไรมายากทำให้เกิดผลสองอย่างคือ เขาจะเห็นคุณค่าในของที่เขาได้มา และเขาเริ่มย้อนกลับไปเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเขา พอเขาโตขึ้นและก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ได้ ปรากฏว่าเขากลายเป็นคนที่อดทนที่สุด ถ้าไม่ใช่เพราะป๊อปผ่านประสบการณ์เหล่านี้ เขาอาจทนอยู่ในสนามต่อสู้ทางการเมืองไม่ได้นานถึง 10 กว่าปี 

 

ผมอยู่ในแวดวงการเมือง แล้วก็ภูมิใจในการเป็นนักการเมือง คนจำนวนไม่น้อยมักมองว่าสังคมนักการเมืองคือสังคมคนชั่ว คนโกง ไม่มีใครคิดถึงประชาชน แต่ผมมองว่านั่นคือความท้าทายในชีวิตเรา เราสามารถจะเป็นความแตกต่างได้ การเมืองเป็นเรื่องของครรลอง เป็นเรื่องของวิถีชีวิต ผมมีพลังที่จะทำงานให้กับสังคม ผมต้องการเวทีขนาดการเมืองที่จะมารองรับ ผมก็จะอยู่ในการเมืองต่อไปจนกว่าจะอยู่ไม่ได้ LGBTQIA+ จะเป็นเรื่องที่ผมไม่ปฏิเสธ แต่ผมก็จะไม่เอาประเด็นนี้ไปโยนใส่หน้าใคร

เมื่อไรก็ตามที่จะถกเถียงเรื่อง LGBTQIA+ เพียงแค่บอกมา ผมจะไปร่วมโต้วาทีด้วยทุกเวที เพื่อเน้นย้ำว่า ‘การเป็น LGBTQIA+ ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ’

 

 

3 คำที่สะท้อนถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ของทั้งคู่มีคำว่าอะไรบ้าง เพราะอะไร

 

ป๊อป สุไพรพล: คำแรกน่าจะเป็นคำว่า ‘ห่วงใย’ การที่เราจะมาผูกพันกันได้ ความห่วงใยน่าจะเป็นหลักสำคัญ เป็นข้อผูกมัดอย่างหนึ่งที่ทำให้เรามีจิตใจที่สัมพันธ์กัน

 

เอก จักรภพ: คำที่สอง ผมคิดว่าคือ ‘ความอดทน’ สิ่งนี้เป็นเรื่องยาก เพราะว่าคนที่อดทนกันไม่ได้ส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะความอดทนเขาน้อย แต่เป็นเพราะเขารู้สึกว่าไม่เห็นต้องอดทนเลย ความอดทนทำให้เราก้าวข้ามเส้นบางอย่าง เข้าใกล้กับสัจจะของการอยู่ร่วมกัน เข้าใจเขา เข้าใจเรามากขึ้น

 

อีกคำคือคำว่า ‘ความนับถือ’ การจะอยู่ด้วยกันต้องยอมรับตัวตนที่เขาเป็น พอเรายอมรับในสิ่งที่เขาเป็นแล้ว ไม่มีมุมไหนที่จะรู้สึกผิดหวังกันอีกต่อไป เหลือเพียงแค่ว่า วันนี้ทะเลาะกันมากหน่อย หรือวันนี้สนุกกันมากๆ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตและความสัมพันธ์

 

 

ข้อความที่อยากจะส่งต่อ โดยเฉพาะในมิติของการใช้ชีวิตคู่ 

 

ป๊อป สุไพรพล: อยากให้เราทุกคนเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และไม่ต้องกังวลว่า สมรสเท่าเทียมจะทำให้ LGBTQIA+ มีอำนาจเหนือกว่าคนอื่นๆ เพราะเป้าหมายสำคัญคือ การทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันโดยไม่เหยียดเพศหรือถูกเลือกปฏิบัติ

 

เอก จักรภพ:

ผมอยากให้ทุกคนสนุกกับการเดินทางเท่าๆ กับเป้าหมายที่จะไป อย่ารอสนุกตอนไปถึงจุดหมายปลายทางเพียงอย่างเดียว แต่ให้สนุกกับระหว่างทางที่ไปด้วย

 

มีเพียงความตายเท่านั้นที่เป็น ‘สิ่งที่แน่นอน’ (Absolute) ผมเคยติดคุกการเมืองมา ผมเคยลี้ภัยมา 15 ปี สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ Absolute การที่ผมทั้งสองคนอยู่ด้วยกันก็ไม่ใช่ Absolute แต่มันเป็นการเดินทางที่เราทั้งคู่สนุกที่จะเดินทางไป ไม่รู้จะไปจบลงตรงไหน อย่างไร ป๊อปกับผมเราจะแข็งแรงไปได้แค่ไหน หรือจะมีเหตุการณ์ทางการเมืองอะไรเกิดขึ้นอีก เราไม่รู้ เรารู้เพียงแค่ว่า วันนี้เราสนุกกับการที่เราได้ทำอะไรด้วยกัน ได้อยู่ด้วยกัน ได้แชร์ความทุกข์ความสุขกัน

 

ท้ายที่สุด ผมอยากจะบอกว่า

คุณไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว สังคมกำลังค่อยๆ รวบรวมความมั่นใจออกเป็นกฎหมาย วางเป็นบรรทัดฐานทางสังคม เพื่อให้เราทั้งหลายในยุคต่างๆ ทุกๆ เจนได้มีความมั่นใจที่จะก้าวออกมามากขึ้น

ใจเย็นๆ อดทน ไม่ต้องปฏิเสธตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็มีความเมตตาต่อสังคมรอบข้าง โดยเฉพาะคนที่เขายังไม่เข้าใจเรา อาจจะต้องให้เวลาพวกเขา

 

ป๊อป สุไพรพล: สมรสเท่าเทียมของไทยที่ผ่านมาได้ถึงทุกวันนี้  ต้องขอบคุณทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน และทุกพรรคการเมืองที่ช่วยให้กฎหมายประวัติศาสตร์นี้เกิดขึ้น เพื่อปูทางไปสู่สังคมที่โอบรับความแตกต่างหลากหลายได้มากยิ่งขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising