×
SCB Omnibus Fund 2024

EIC เตือน ศก.โลก อาจโตได้เพียง 1.4% หากเกิดสงครามจีน-ไต้หวัน ชี้การค้าโลกเสี่ยงแบ่งขั้วชัดเจน เร่งให้เกิดกระแส Reshoring

18.08.2022
  • LOADING...
EIC

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center: EIC ) ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์นัยต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวัน หลังการเดินทางเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งนำไปสู่ปฏิบัติการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดของจีนเท่าที่เคยมีมารอบเกาะไต้หวัน โดยประเมินว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในระยะข้างหน้าอาจเกิดได้ 3 กรณี ดังนี้

 

กรณีที่ 1 (มีความเป็นไปได้มากสุด) คือ จีนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อไต้หวันในเชิงสัญลักษณ์ และเพิ่มการซ้อมรบแค่ชั่วคราว ขณะที่สหรัฐฯ ยังไม่คว่ำบาตรจีนโดยตรง สถานการณ์จึงยังไม่ยกระดับความรุนแรง ด้านสหรัฐฯ ยังคงใช้นโยบายความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์ (Strategic Ambiguity) เพื่อลดความเสี่ยงการเผชิญหน้ากับจีน ด้วยการสนับสนุนนโยบาย One China ของจีนอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกันก็ให้การสนับสนุนไต้หวันทางเศรษฐกิจและยุทโธปกรณ์ ขณะที่จีนยังคงอ้างอธิปไตยเหนือไต้หวัน แต่ไม่ต้องการยกระดับความรุนแรงเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจจีนยังซบเซาและกำลังจะมีการจัดประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ในปีนี้ 

 

อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดและข้อพิพาทประเด็นการเมืองระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้น (เป็น New Normal) และเร่งให้การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling) เกิดเร็วขึ้น ในกรณีนี้ EIC ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกจะมีจำกัด เศรษฐกิจโลกยังสามารถขยายตัวได้ที่ 3.2% และการค้าโลกขยายตัวได้ที่ 4.1% ในปีนี้

 

กรณีที่ 2 ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันส่งผลกระทบต่อการเดินเรือผ่านช่องแคบไต้หวันและน่านน้ำใกล้เคียง ห่วงโซ่อุปทานโลก และเศรษฐกิจภูมิภาค ในกรณีที่จีนใช้มาตรการปิดน่านน้ำไต้หวันและระงับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ของไต้หวัน แต่ยังไม่ถึงขั้นเกิดสงคราม ห่วงโซ่อุปทานโลกจะได้รับผลกระทบมากขึ้นกว่าในกรณีฐาน โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ที่ไต้หวันเป็นผู้ผลิตสำคัญที่สุดของโลก 

 

ขณะที่สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อจีน ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกสูงกว่าการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย เนื่องจากจีนมีความสำคัญและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากกว่า ในกรณีนี้ EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้เพียง 2.4% ในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไต้หวันอาจถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนชะลอลงมากขึ้น 

 

กรณีที่ 3 ในกรณีที่เกิดสงครามระหว่างจีนและไต้หวัน คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง โดยเศรษฐกิจไต้หวัน จีน และสหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรทั้งสองฝ่ายจะเข้าสู่ภาวะถดถอย การค้าโลกจะแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน ทำให้การค้าระหว่างประเทศหยุดชะงักในหลายพื้นที่ ในกรณีนี้ EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้เพียง 1.4% เท่านั้นในปีนี้

 

นอกจากนี้ EIC ยังประเมินว่า ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้การแบ่งขั้วระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เร่งตัวรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี โดยทั้งสองประเทศมีแนวโน้มพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ โดยสหรัฐฯ ได้ผ่านร่าง CHIPS and Science Act เพื่อกระตุ้นการลงทุนผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ และห้ามบริษัทต่างๆ ส่งเทคโนโลยีสำคัญไปให้จีน ขณะที่จีนก็มีนโยบายกระตุ้นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศเช่นกัน 

 

EIC จึงประเมินว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศภูมิภาค รวมถึงไทยผ่าน 4 ช่องทาง คือ 

 

  1. การค้าระหว่างประเทศ การนำเข้าและส่งออกของไต้หวันและกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ทำได้ลำบากขึ้น แต่ในบางกลุ่มสินค้าอาจได้ประโยชน์จากการนำเข้าและส่งออกสินค้าทดแทน (Product Substitution) 

 

  1. การลงทุนระหว่างประเทศ บริษัทข้ามชาติอาจหันมาลงทุนในประเทศหรือภูมิภาคใกล้เคียง (Reshoring) เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่สูงขึ้น 

 

  1. อัตราเงินเฟ้อ ห่วงโซ่อุปทานสำคัญของสหรัฐฯ และจีนได้รับผลกระทบ จึงต้องหันมาพึ่งพาการผลิตในประเทศหรือภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นกว่าเดิม อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น 

 

  1. ความผันผวนในตลาดการเงินสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนอาจกังวลความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกและปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และค่าเงินภูมิภาครวมถึงเงินบาทอ่อนค่าลง

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising