×

EGCO บุกต่างประเทศ ทุ่ม 3 หมื่นล้านบาท เน้นผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด

13.02.2024
  • LOADING...

ปี 2567 ปีแห่งโอกาสลงทุนพลังงานสะอาดของ EGCO Group! ทุ่มงบลงทุน 30,000 ล้านบาท ลุยผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 1,000 เมกะวัตต์ เผยจากนี้จะมุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน พร้อมตั้งเป้าภายใน 2030 เพิ่มสัดส่วนเป็น 30% ยึดกลยุทธ์แสวงหาโอกาส จับมือพาร์ตเนอร์ขยายลงทุนตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้ลงทุน 8 ประเทศ  มองภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอเป็นทั้งโอกาส รวมทั้งความท้าทายการลงทุนและการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

 

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO กล่าวว่า EGCO Group วางงบลงทุนปี 2567 ประมาณ 30,000 ล้านบาท ในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ผ่านการซื้อกิจการโรงไฟฟ้า (M&A) จากกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นปัจจุบัน 6,996 เมกะวัตต์ (รวมโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) โดยเบื้องต้นคาดว่าภายในปีนี้จะปิดดีลได้ไม่ต่ำกว่า 3 ดีล

 

จากสัดส่วนกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,440 เมกะวัตต์ (คิดเป็นสัดส่วน 21% ของกำลังผลิตทั้งหมด) ไม่ว่าจะเป็นชีวมวล พลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมทั้งบนบกและในทะเล ไฮโดรเจน เซลล์เชื้อเพลิง และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ รวมถึงลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากมองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพและเศรษฐกิจโดยเฉพาะพลังงาน ปิโตรเคมี และเหล็ก ที่เติบโตต่อเนื่อง

 

โดยจะใช้โอกาสขยายการลงทุนจากที่บริษัทได้เข้าไปลงทุนรวม 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ยึดกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน บุกตลาดต่างประเทศ

 

“อย่างที่ทราบกันว่าเราไม่มีแผนการเพิ่มสัดส่วนถ่านหิน และแนวทางที่จะไปคือพยายามเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาดให้ได้มากที่สุด ซึ่งเรามีสภาพคล่องและกระแสเงินสดในมือ 20,000-30,000 ล้านบาท”

 

โดยบริษัทยังคงใช้กลยุทธ์มุ่งเน้นการขยายการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม (Conventional) และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable) โดยเน้นร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์เดิม

 

ทั้งโครงการพลังงานลมในช่องแคบไต้หวัน (หยุนหลิน) ขนาดกำลังการผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ครบจำนวน 80 ต้นได้ภายในปีนี้ หลังจากที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวก่อสร้างล่าช้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันสามารถติดตั้งได้แล้วจำนวน 45 ต้น และมีการซื้อขาย COD แล้ว 33 ต้น

 

 

เทพรัตน์กล่าวอีกว่า ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (RISEC) ประเทศสหรัฐฯ ขนาดกำลังการผลิตรวม 609 เมกะวัตต์ สามารถปิดดีลซื้อหุ้นในสัดส่วน 49% ไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา

 

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)

 

นอกจากนี้ได้เข้าถือหุ้นสัดส่วน 50% ในพอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ (Compass Portfolio) ซึ่งเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (CCGT) จำนวน 3 แห่งในสหรัฐอเมริกา กำลังการผลิต 1,304 เมกะวัตต์

 

ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมมาร์คัส ฮุก ขนาด 912 เมกะวัตต์ ในรัฐเพนซิลเวเนีย โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมมิลฟอร์ด ขนาด 205 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมไดตัน ขนาด 187 เมกะวัตต์ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งโรงไฟฟ้าเหล่านี้มีสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว และส่วนไฟฟ้าที่เหลือก็ขายในตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าพีเจเอ็ม (PJM) และนิวอิงแลนด์ (ISO-NE)

 

ตลาดสหรัฐฯ โต ตั้งเป้าปี 2040 เพิ่มพอร์ตพลังงานหมุนเวียน 30%

 

ปีนี้จึงคาดว่าจะยังคงเติบโต โดยจะทยอยเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดเข้าสู่ระบบ และตั้งเป้าปี 2030 จะมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% จากปัจจุบัน 21% เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ Conventional 70% จากการแสวงหาโอกาสในการลงทุน โดยเฉพาะในต่างประเทศ จะยังมุ่งเน้นโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม เนื่องจากยังมีความจำเป็นต่อระบบไฟฟ้าเพื่อรักษาเสถียรภาพ

 

ขณะเดียวกันยังมีแผนขยายโครงการพลังงานหมุนเวียนของบริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง (APEX) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ที่ EGCO Group ถือหุ้นอยู่ 17.46% โดยรับรู้รายได้ตามสัดส่วนการถือหุ้น 2 โรงไฟฟ้าของ APEX กำลังผลิตรวม 294 เมกะวัตต์ ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและมีโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 7 โครงการ

 

ดังนั้นด้วยกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ เติบโตได้ดีมากกว่า 60,000 เมกะวัตต์ บริษัทจึงเห็นถึงโอกาสที่จะเพิ่มสัดส่วนนี้ให้มากขึ้น

 

ปีนี้ 2567 เริ่มรับรู้รายได้ 8 ประเทศ

 

ปีนี้จะเป็นปีที่เริ่มรับรู้รายได้ทั้ง 8 ประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้น ตลาดสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและเติบโต ความต้องการใช้ไฟฟ้าจึงเพิ่มขึ้นตาม ดังนั้นเราจะจับมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อหาโอกาส

 

ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอจะมีผลต่อการลงทุนหรือไม่นั้น บางเรื่องไม่อาจคาดเดาได้ โดยเฉพาะภาวะสงคราม ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน ซึ่งยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

 

“ส่วนภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยมองว่า ตามแผนพัฒนาไฟฟ้าประเทศ (PDP) แม้ปัจจุบันกำลังการผลิตในระบบจะมากเกินไป แต่หากมองไป 2-3 ปีนี้ก็อาจจะไม่เพียงพอ หากเศรษฐกิจมีการเติบโต รวมถึงอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นเปลี่ยนจากการใช้เครื่องยนต์มาเป็นมอเตอร์ ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าก้าวกระโดดในทุกอุตสาหกรรม ทำให้ดีมานด์ไฟฟ้ามากขึ้น มาร์จิ้นอาจจะลดลง รวมถึงนโยบายพลังงานสะอาด ยานยนต์ EV หรืออย่างไฮโดรเจน เป็นพลังงานทางเลือกที่มีศักยภาพมาก ก็ทำให้เราเห็นถึงโอกาสในการลงทุนมากขึ้นเช่นกัน”

 

ลุ้นนำเข้า LNG

 

ส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นั้น EGCO ยังคงสนใจนำเข้า LNG เพื่อมาใช้กับโรงไฟฟ้าเอ็กโก โคเจนเนอเรชั่น แต่เนื่องจากปริมาณการนำเข้าคาดว่าจะไม่มาก ดังนั้น EGCO พร้อมเจรจากับผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซ

 

เทพรัตน์ระบุอีกว่า นโยบายลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ผ่านมายังไม่กระทบ เนื่องจากราคาค่าเชื้อเพลิงปรับลดลง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลมุ่งเน้นการดูแลค่าไฟฟ้าไม่ให้ปรับสูงเกินไปอยู่แล้ว เพื่อดึงดูดการลงทุนในประเทศไทย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising