×

หาก Fed ตรึงอัตราดอกเบี้ยนานเกินไป อาจเป็นสถานการณ์เชิงบวกต่อทองคำ

02.03.2024
  • LOADING...
ทองคำ

นับตั้งแต่เริ่มปี 2024 ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายรายการออกมาบ่งชี้ถึงแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่อาจแข็งแกร่งกว่าคาดการณ์ แม้ข้อมูลการขยายตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้นกว่าคาดการณ์นับว่าเป็นการเพิ่มมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกันก็มีนัยต่อการเพิ่มขึ้นของระดับเงินเฟ้อ หรือหนุนการค้างตัวในระดับสูงของเงินเฟ้อสหรัฐฯ 

 

ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลในลักษณะดังกล่าวถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการบรรลุเป้าหมายด้านเงินเฟ้อของ Fed สอดคล้องกับการให้ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ Fed ทุกราย รวมถึง เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ที่ชี้ว่า Fed ยังคงมีความจำเป็นต้องได้รับข้อมูลเพิ่มเติม สำหรับการยืนยันถึงแนวโน้มการปรับตัวลงของเงินเฟ้อสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อการนำเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% อย่างยั่งยืน 

 

จากทั้งข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการส่งสัญญาณของ Fed ถึงแนวโน้มการรักษาความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะเวลาราว 2 เดือนที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นของตลาดต่อคาดการณ์ที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรงในปี 2024 จึงถูกบั่นทอนลงเรื่อยมา จนกระทั่งในปัจจุบัน นักลงทุนมีการหันไปให้ความเป็นไปได้สูงสุดต่อคาดการณ์ที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 3 ครั้ง หรือ 0.75% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในปีนี้ อีกทั้งยังมีการเพิ่มน้ำหนักต่อการเริ่มปรับลดในเดือนกรกฎาคม จากเดิมที่เคยให้น้ำหนักต่อการปรับลดอย่างเร็วที่สุดในเดือนมีนาคมนี้ 

 

กระแสคาดการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวนั้น หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์มีการปรับตัวขึ้นไปเคลื่อนไหวบริเวณระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี สามารถปรับตัวขึ้นมาเคลื่อนไหวเหนือระดับ 4.20% นับตั้งแต่การเปิดเผยข้อมูล CPI ที่ออกมาเร่งตัวขึ้นกว่าคาดการณ์ดังที่กล่าวไปในข้างต้น 

 

ทิศทางการปรับตัวขึ้นของค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จากแนวโน้มที่ Fed อาจคงระดับอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง และนานกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ นับเป็นปัจจัยที่คอยกดดันให้การเคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้นของราคาทองคำเป็นไปอย่างจำกัด  

 

ทั้งนี้ การปรับคาดการณ์ของตลาดที่ลู่เข้าสู่คาดการณ์ของ Fed เป็นผลมาจากนักลงทุนเพิ่มความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการเกิดซอฟต์แลนดิ้งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยล่าสุดจากผลสำรวจประจำปีของ Bank of America (BofA) นั้นระบุว่า จากผู้เชี่ยวชาญที่ตอบแบบสำรวจ 240 คน มีเพียง 4% เท่านั้นที่คาดการณ์ถึงการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ลดลงจากระดับ 85% ของผลการสำรวจในปีก่อนหน้า ซึ่งไม่เพียงแต่บุคคลที่อยู่ในตลาดการเงินเท่านั้น แต่ครัวเรือนหรือผู้บริโภคโดยทั่วไปก็มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน สะท้อนผ่านการปรับตัวขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง 

 

อย่างไรก็ดี มุมมองเชิงบวกที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวนั้นได้รวมเอาสถานการณ์การปรับลดของเงินเฟ้อสหรัฐฯ อันนำไปสู่การยุติการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed เอาไว้ด้วย กล่าวคือ ทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนประเมินว่า เงินเฟ้อจะกลับตัวลงเข้าใกล้ระดับเป้าหมายเงินเฟ้อของ Fed และ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อลดภาวะตึงตัวของตลาดการเงินและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการนำเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย 

 

ขณะที่ในปัจจุบัน แม้หลายฝ่ายมีการซึมซับต่อแนวโน้มการยืดระยะการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed รวมถึงขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่อาจอยู่ที่เพียง 3-4 ครั้ง สอดคล้องกับคาดการณ์ของสภาทองคำโลก (WGC) ประเมินที่ว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดซอฟต์แลนดิ้ง Fed อาจลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 0.75-1.00% อย่างไรก็ดี การซึมซับแนวโน้มดังกล่าวมาพร้อมกับมุมมองเชิงลบของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้น 

 

ผู้เชี่ยวชาญหลายรายให้ความเห็นว่า การเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed นั้น ไม่ควรเลื่อนไปไกลกว่าช่วงการประชุมในรอบเดือนกรกฎาคม เนื่องด้วยยิ่ง Fed ตรึงอัตราดอกเบี้ยระดับดังกล่าวไว้นานเท่าใด ผู้บริโภคและธุรกิจสหรัฐฯ จะยิ่งลดมุมมองเชิงบวกลงจากปัจจุบันเป็นอย่างมาก ซึ่งการลดมุมมองเชิงบวกดังกล่าวจะนำไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การลดระดับการใช้จ่ายของผู้บริโภค หรือการปรับลดต้นทุนด้านค่าแรงผ่านการเลิกจ้างแรงงานของผู้ประกอบการ

 

ล่าสุด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์นั้นมีการปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ยิ่งไปกว่านั้น ดัชนีที่ชี้วัดถึงมุมมองต่อระดับรายได้และภาวะตลาดแรงงานปรับตัวลงสู่ระดับต่ำกว่า 79.8 ซึ่งปกติแล้ว ระดับที่ต่ำกว่า 80 มักเป็นสัญญาณที่ชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะถดถอยของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี แม้ประเด็นอัตราดอกเบี้ยของ Fed นั้นยังไม่ใช่ปัจจัยหลักที่กดดันดัชนีดังกล่าว แต่กระนั้น ระดับอัตราดอกเบี้ยและการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ไม่อาจแยกออกจากการประเมินภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้  

 

ดังนั้น หาก Fed เลือกตรึงระดับอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงนานเกินไปตามมุมมองของหลายฝ่าย เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะได้รับมุมมองเชิงลบที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นการลดความเชื่อมั่นต่อการเกิดซอฟต์แลนดิ้ง และอาจมีการหันไปเพิ่มความเป็นไปได้ต่อการเกิดภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ สถานการณ์เช่นนี้มีแนวโน้มหนุนราคาทองคำ จากทั้งแรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่เพิ่มมากขึ้น และการปรับตัวอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี แนะนำติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed เพื่อประเมินความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์และราคาทองคำอย่างใกล้ชิดต่อไป 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising