×

เสียงตอบรับ ‘อีอีซี’ คึกคัก นักลงทุนญี่ปุ่นกังวลเล็กน้อย ไทยโน้มหาจีนเป็นพิเศษ

14.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • การมาเยือนไทยของนักลงทุนญี่ปุ่นเกือบ 600 ราย ถือเป็นคณะนักลงทุนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา
  • รัฐมนตรีกระทรวงเมติและนักลงทุนญี่ปุ่น ให้การตอบรับกับโครงการอีอีซีค่อนข้างดี
  • นักลงทุนญี่ปุ่นมีความกังวลอยู่บ้างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของไทยที่ใกล้ชิดกับจีน

     ตลอด 3 วัน ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2560 คณะนักลงทุนญี่ปุ่นร่วม 600 ราย นำโดย ฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาที่ประเทศไทย จุดประสงค์หลักคือมารับฟังทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งถือเป็นโครงการต่อยอดจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่เริ่มไว้เมื่อ 35 ปีที่แล้ว

     THE STANDARD ติดตามการมาเยือนของคณะนักลงทุนญี่ปุ่นตั้งแต่วันแรกที่เข้าฟังนโยบายจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อด้วยการสัมมนาความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ก่อนจะปิดท้ายด้วยการลงพื้นที่อีอีซีจริงที่จังหวัดชลบุรี

 

 

ไทยฉายภาพชัด มั่นใจญี่ปุ่นขยายการลงทุน

     อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สรุปภาพรวมตลอด 3 วันว่า

     ถือเป็นโอกาสดีในการนำเสนอข้อมูลสื่อสารนโยบายสำคัญ ได้แก่ Thailand 4.0, ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซีให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นได้รับฟังด้วยตัวเอง ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้คือ รัฐมนตรีกระทรวงเมติของญี่ปุ่นจะไปสื่อสารกับรัฐบาลของตนว่า ประเทศไทยมีความจริงใจและเห็นความสำคัญในการร่วมกับญี่ปุ่นพัฒนาประเทศตามกรอบนโยบาย Thailand 4.0

     โดยรัฐมนตรีกระทรวงเมติของญี่ปุ่นสนใจร่วมมือกับไทยในหลายๆ ด้าน และพร้อมสนับสนุนแนวทาง Connect Industries คือการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าด้วยกันทั้งข้อมูล ห่วงโซ่การผลิต และบุคลากร ซึ่งทั้งหมดจะเชื่อมโยงโดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี

     นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังพร้อมร่วมมือกับไทยในการพัฒนาบุคลากรเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ ในเรื่องการศึกษานั้น ไทย-ญี่ปุ่นจะมีโครงการ Flexible Campus เกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี ญี่ปุ่นอยากให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาบุคลากรสำหรับภูมิภาคอาเซียนโดยเริ่มจาก CLMVT

     สุดท้ายรัฐมนตรีกระทรวงเมติเปิดเผยว่า การมาครั้งนี้เป็นการตอกย้ำว่าไทยจะเป็นประตูสำหรับญี่ปุ่นในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน พร้อมแสดงความมั่นใจว่าบริษัทญี่ปุ่นจะลงทุนเพิ่มเติมในไทยทั้งในพื้นที่อีอีซีและที่อื่นๆ

 

 

ทำยุทธศาสตร์ร่วมไทย-ญี่ปุ่น ก่อนลงมือทำโครงการ

     รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมบอกว่า หลังจากนี้เป็นช่วงเวลาที่ทางเราต้องติดตามและพัฒนากิจกรรมที่จะเกิดขึ้นร่วมกัน โดยจะเน้นการทำยุทธศาสตร์เป็นเรื่องๆ คือจะไม่กระโดดลงไปทำโครงการย่อยๆ ทันที แต่จะทำให้มีความชัดเจนก่อนว่าไทย-ญี่ปุ่นจะเดินหน้าเรื่องนั้นๆ อย่างไร ผ่านการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันเป็นเรื่องๆ

     ยกตัวอย่าง ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยกับญี่ปุ่นมีความสนใจร่วมกันในหลายอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ การแพทย์ และไบโออีโคโนมี ซึ่งจะกำหนดแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันว่าในแต่ละเรื่องจะเดินหน้าอย่างไร จากนั้นจึงนำไปสู่การเลือกทำโครงการว่าอันไหนทำก่อน-หลัง และใครเป็นคนทำ

     โดยเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้มอบให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งประสานกับทางบีโอไอ และสำนักงานอีอีซี รวบรวมข้อมูลว่าบริษัทญี่ปุ่นที่มาครั้งนี้สนใจเรื่องอะไร ได้พูดคุยกับภาคเอกชนรายใดบ้าง เพื่อทำแผนว่าจะขับเคลื่อนกันอย่างไร

 

ดึงไจก้าทำข้อมูล ชี้แจงประโยชน์ของอีอีซี

     คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า สำนักงานอีอีซีได้ลงนามเอ็มโอยู (MOU) กับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือไจก้า โดยตกลงกันทำวิจัยและข้อมูล 3 เรื่อง ได้แก่ 1. วิจัยว่าอีอีซีเป็นประโยชน์อย่างไรต่อนักลงทุนญี่ปุ่นบ้าง 2. นักลงทุนญี่ปุ่นอยากได้อะไร และ 3. ไทยจะพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีให้สอดรับกับญี่ปุ่นได้อย่างไร

 

 

ฟีดแบ็ก ‘นักลงทุนญี่ปุ่น’ กังวลไทยโน้มหาจีนเป็นพิเศษ

     จากการติดตามการมาเยือนของนักลงทุนญี่ปุ่นครั้งนี้ เราพบว่าสื่อมวลชนญี่ปุ่นที่ติดตามคณะมาด้วยให้ความสนใจกับประเด็นที่รัฐบาลไทยมีแนวโน้มความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนเป็นพิเศษกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยระหว่างการแถลงข่าว สื่อมวลชน ญี่ปุ่นได้ถามเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายครั้ง

     คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ THE STANDARD ยอมรับว่านักลงทุนญี่ปุ่นกังวลในประเด็นนี้บ้าง พร้อมชี้แจงว่าอีอีซีเป็นพื้นที่เปิด เรารับนักลงทุนทุกชาติ แต่เนื่องจากนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นกลุ่มสำคัญมาตั้งแต่อดีต การลงทุนที่เข้ามาประเทศไทยส่วนใหญ่กว่า 60% เป็นการลงทุนจากญี่ปุ่น เราจึงดูแลเป็นพิเศษ เพราะถ้าเขาขยายการลงทุน เขาก็เป็นเจ้าใหญ่ในพื้นที่อีอีซีอยู่ดี

     “การมาของนักลงทุนเกือบ 600 คนครั้งนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดเท่าที่เราเคยรับมา ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็ไม่เคยไปที่ไหนมากขนาดนี้ เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์อันนี้เป็นความสัมพันธ์พิเศษ ส่วนประเทศอื่นจะเป็นอย่างไรก็ค่อยว่ากัน” เลขาฯ อีอีซีกล่าว

 

อมตะ กรุ๊ป เตรียมพื้นที่หมื่นไร่ รับการลงทุนครั้งใหม่

     วิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี เปิดเผยว่า ผลจากการพัฒนาโครงการอีอีซี มีนักลงทุนญี่ปุ่นที่ตั้งโรงงานอยู่ในเครือ อมตะ คอร์ปอเรชัน ตัดสินใจขยายการลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ กลุ่มเกษตรการแปรรูปชั้นสูง ล่าสุดมีการพูดคุยแล้วร่วม10 ราย มูลค่าการลงทุนยังเปิดเผยไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนประเทศอื่นสนใจอีก แต่ยังขออุบไว้ก่อน

     ขณะที่เครืออมตะเตรียมพื้นที่ไว้รองรับอุตสาหกรรมที่จะมาลงทุนเพิ่มรวมประมาณ 10,000 ไร่ แบ่งเป็นที่อมตะนครประมาณ 7,000 ไร่ และอมตะ ซิตี้ ประมาณ 3,000 ไร่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising