×

ประเทศไทยไปทางไหน-ทำไมต้องมาลงทุน ‘อีอีซี’ สมคิดร่ายเหตุผล แจงนักลงทุนญี่ปุ่นร่วม 600 ราย

12.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มาลงทุนในไทยมากที่สุด และเป็นคู่ค้าอันดับสองรองจากจีน
  • อีอีซีเป็นโครงการพัฒนาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ต่อยอดจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งไทยคาดหวังให้ญี่ปุ่นมาลงทุนใหญ่ในอีอีซีอีกครั้ง
  • รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจย้ำถึงความพร้อมและความสำคัญของไทยในการเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน

     วันที่สองในการมาเยือนประเทศไทยของกลุ่มนักธุรกิจญี่ปุ่นกว่า 570 รายที่จะมารับฟังแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (Eastern Economic Corridor) โดยวันนี้เป็นการประชุมสัมมนาความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ภายใต้หัวข้อ Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries

     โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนญี่ปุ่นจนเรียกเสียงปรบมือดังก้องห้องประชุมโรงแรม แบงค็อก แมริออท ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพ

     และนี่คือบางส่วนของปาฐกถาดังกล่าวที่อาจชี้ให้เห็นถึงประเทศไทยในอนาคต

     สมคิดเปิดเผยว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นยังคงเป็นชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 40% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 2 รองจากจีน โดยในช่วงครึ่งปีแรก ญี่ปุ่นมีเงินลงทุนโดยตรงไปแล้วกว่า 4.73 หมื่นล้านบาท มีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอส่งเสริมสูงที่สุด คิดเป็นอีก 55% ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศยังต้องมีการพึ่งพาซึ่งกันและกันอีกมาก

คนของเรายังไม่พร้อม แต่คนไทยเรียนรู้เร็ว ไม่มีประเทศไหนจะโง่เง่าไม่พัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล

 

ตอบคำถามสำคัญ ทำไมต้องมาลงทุนในไทย

     ในช่วงเวลาผ่านไปไม่ถึงปี ประเทศในเอเชียเริ่มหาทางว่าเราจะอยู่อย่างไรในความเปลี่ยนแปลงบนโลกที่ไม่แน่นอน

     แต่หัวใจที่แท้จริงของเอเชียอยู่ที่ห่วงโซ่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคืออาเซียน และ GMS Economic Corridors รวมถึงเอเชียใต้

     ในเอเชียนั้น ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนจากทำเลที่ตั้ง ยิ่งโครงการ one belt one road จากจีนนั้น ไม่มีทางไหนที่ไม่ผ่านไทย

     ถ้าญี่ปุ่นเชื่อผมสักนิด ยอมพัฒนา ASEAN Corridor ซึ่งหากมองออกไปในอนาคตข้างหน้า เอเชียจะไม่เหมือนอดีต การเชื่อมโยงจากเหนือมาใต้ จากตะวันออกไปตะวันตกเร็วมาก คล้ายกับนั่งรถไฟรถไฟชินคันเซ็นที่ญี่ปุ่น

     ลองคิดดูว่าความเจริญมันจะมีแค่ไหน แล้วศูนย์กลางอยู่ตรงไหน เราไม่ได้บอกว่าเราดีกว่าประเทศอื่น แต่เรามีสิ่งที่ประเทศอื่นไม่มี

     นอกจากนี้อีอีซีไม่ได้เริ่มจากศูนย์ มีบริษัทญี่ปุ่นแล้วกว่า 8,000 บริษัท มีโครงสร้างพื้นฐานที่เรา (ไทย-ญี่ปุ่น) ร่วมสร้างกันไว้ แต่แค่นั้นไม่พอ เพราะเรารู้ว่าโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นเป็นเรื่องอดีต รู้ว่าดิจิทัลเรายังไม่ดีพอ แต่เราเริ่มต้นได้เร็วมาก ในไม่ช้าเราจะไม่แพ้ชาติอื่นแน่นอน

     คนของเรายังไม่พร้อม แต่คนไทยเรียนรู้เร็ว ไม่มีประเทศไหนจะโง่เง่าไม่พัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล

‘เราจะดูแลท่าน’ พิสูจน์แล้วว่า 40-50 ปีที่ผ่านมา ถ้าเราไม่ดูแลท่าน มีหรือท่านจะทนอยู่

 

ไม่มีที่ไหนเหมาะกับคนญี่ปุ่นเท่าเมืองไทย

     เรามีฮาร์ดแฟกเตอร์ที่ดีที่สุด ผมมั่นใจว่าเรามีระดับการพัฒนาที่เหนือกว่าทุกประเทศในย่านนี้ และยิ่งประเทศเพื่อนบ้านเราโตเท่าไร ประเทศไทยเรายิ่งมีเสน่ห์มากเท่านั้น เพราะเราเป็นศูนย์กลางให้ท่านกระจายไปอยู่ที่อื่นได้อย่างไร้ขอบเขต

     เราไม่ได้มีแค่ฮาร์ดแฟกเตอร์ แต่เรามีซอฟต์แฟกเตอร์ กาลเวลาพิสูจน์แล้วว่าธุรกิจญี่ปุ่นมาปักหลักในไทยอย่างเป็นสุข เช่น อายิโนะโมะโต๊ะ และโตโยต้า

     แม้ไทยจะไม่เพียบพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยวัฒนธรรม ความเป็นมิตร อยู่แล้วสบายใจเหมือนอยู่ประเทศตัวเอง อันนี้เรียกว่าซอฟต์แฟกเตอร์

     นอกจากนี้ รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาจุดอ่อนและอุปสรรคอย่างรวดเร็วที่สุด ขอให้ดูการจัดลำดับด้านต่างๆ ที่ธนาคารโลกจะประกาศเร็วๆ นี้ จะมีอย่างน้อย 4 เรื่องที่ไทยจะมีอันดับดีขึ้น ยืนยันว่าเราไม่ได้แพ้ชาติอื่น

     คำว่า ‘เราจะดูแลท่าน’ พิสูจน์แล้วว่า 40-50 ปีที่ผ่านมา ถ้าเราไม่ดูแลท่าน มีหรือท่านจะทนอยู่

 

แจงเหตุผล ทำไมนักธุรกิจไทยไปลงทุนนอกประเทศ

     การที่ประเทศไทยต้องมีการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปประเทศอื่น อันนี้เป็นเรื่องปกติของธุรกิจที่ต้องอาศัยแรงงานราคาถูก ถ้านักธุรกิจไทยที่อาศัยแรงงานราคาถูกไม่สามารถไปลงทุนในลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา แปลว่านักธุรกิจไทยไร้ความสามารถ เราต้องหนุนให้เขากระจายออกไปต่างประเทศให้มากที่สุด

     แต่ในขณะเดียวกัน เราก็จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เรามั่นใจว่าจะสร้างขึ้นมาได้

     แน่นอน ข้อที่หนึ่งต้องอิงกับการเกษตร เป็นพื้นฐานที่สำคัญมากๆ สอง อุตสาหกรรมที่ท่านมีอยู่ เราไม่ทิ้ง แต่จะต่อยอดเชิงนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า สาม อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งมั่นใจว่าเราทำได้

     “นี่คือเหตุผลทั้งหมดว่าทำไมท่านต้องมาลงทุนในประเทศไทย” สมคิดกล่าวเสียงหนักแน่น

 

ตอบคำถาม ‘ประเทศไทย’ กำลังเดินไปทางไหน

     เมืองไทยมีทิศทางที่ชัดเจนมาก แม้ในอดีตจีดีพีเราเติบโต 10-12% แต่เป็นการเติบโตที่ขาดดุลยภาพ ท่านนายกฯ พูดแล้วว่าเราต้องเติบโตจากภายนอกที่เน้นการส่งออก ควบคู่กับการเติบโตจากภายในที่เน้นส่งเสริมกิจการในประเทศและการท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการเติบโตอย่างสมดุล ในขณะเดียวกัน เราต้องการปรับโครงสร้างการผลิตที่เน้นการสร้างมูลค่าและนวัตกรรม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของง่าย เราจึงต้องการความร่วมมือจากมิตรประเทศของเรา

     เราไม่ต้องการระบบเศรษฐกิจที่มีแต่รายใหญ่ แต่เราต้องการมีส่วนผสมของรายใหญ่และผลักดันไปสู่ระดับโลก และรายเล็ก รายกลาง เสมือนต้นไม้ในป่าใหญ่ เราจึงต้องการสร้างสตาร์ทอัพ เป็นระบบเศรษฐกิจบนฐานของผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ ซึ่งเราเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากญี่ปุ่น

     ดังนั้นทิศทางในการเดินของเราชัดเจนมาก แต่เราไม่ได้เดินไปคนเดียว เราต้องการเดินไปพร้อมกับมิตรข้างประเทศ เพราะยิ่งเขาดีเท่าไร เรายิ่งดีด้วย

     อาเซียนจะไม่มีความหมาย CLMVT จะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าแยกกันเดิน

ความในใจของผมนั้น ความสัมพันธ์ของไทย-ญี่ปุ่นไม่ได้มีแค่เศรษฐกิจ แต่มันเป็นหุ้นส่วนชีวิตของทั้งสองประเทศในระยะยาวข้างหน้า อุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ เราแก้กันไป นี่แหละคือหนทางยุทธศาสตร์แห่งอนาคต

 

ญี่ปุ่นจะทำอะไรให้ไทยได้บ้าง

     ในโลกข้างหน้านี้ ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ทุกรัฐบาลต้องคิดถึง Geopolitics และ Geoeconomics ซึ่งจะเดินคู่ขนานกันตลอดเวลา ดังนั้นกิจกรรมใดก็ตามที่จะทำ มันต้องเชื่อมโยงกันระหว่างความคิดของภาครัฐและเอกชน

     สิ่งที่ผมต้องการเวลาไปคุยกับผู้นำระดับสูงของญี่ปุ่นก็คือ ยุทธศาสตร์ร่วมของไทยกับญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไร จะมีอะไรเกื้อกูลสนับสนุนกัน แล้วภาคเอกชนจะเดินตามอย่างไร

     ดังนั้นผมต้องการให้รัฐกับเอกชนเดินไปข้างหน้าร่วมกัน ยิ่งโลกมีความไม่แน่นอนเท่าไร ยิ่งจำเป็นเท่านั้น

 

ถึงเวลาไทย-ญี่ปุ่นร่วมมือครั้งใหญ่อีกครั้ง

     สิ่งสำคัญที่สุดคือจังหวะเวลา เวลานี้มองไปที่ญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ สามารถเรียกความมั่นใจด้านเศรษฐกิจจากคนในประเทศได้ และกำลังเพิ่มบทบาทของตนในเวทีโลก ก่อตั้งเขตเสรีทางการค้าใหม่ๆ นายกฯ อาเบะกำลังชูธงนำสร้าง Society 5.0 ที่เทคโนโลยีอยู่ในทุกอณูของสังคม รวมถึงกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สนับสนุน

     ในภาวะแบบนี้ เมื่อมามองดูไทย จังหวะเวลานี้สำคัญมาก เราไม่เคยลืมว่าครั้งหนึ่งเราเป็นประเทศเกษตรกรรม แล้วเราไม่เคยลืมว่าเรามาสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบนี้ได้เพราะใคร

     ญี่ปุ่นคือผู้มีบทบาทสูงสุดในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย แต่ขณะนี้ไทยมาถึงอีกจุดแล้ว 10 ปีที่ผ่านมา เราเสียเวลามาพอแล้ว ตอนนี้และวันข้างหน้า ท่านนายกฯ กำลังปฏิรูปประเทศเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอนาคตให้ได้

 

 

ชวนญี่ปุ่นร่วมมือสร้างคนรองรับอนาคต

     คำถามคือแล้วเราจะร่วมมืออะไรกันได้บ้าง สิ่งที่เห็นชัดในเวลานี้คือถ้าเรายังขาดแคลนบุคลากร ญี่ปุ่นกับไทยจะร่วมกันเพิ่มบุคลากรให้เรา รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร

     ทำอย่างไรที่จะให้ อาเซป หรือ อาเซียน +6 เป็นเขตการค้าเสรีที่ยิ่งใหญ่และเป็นรูปธรรม ถ้าเราใช้เวลาส่วนใหญ่ในการวางรากฐานทิศทางยุทธศาสตร์ แล้วชี้นำให้ภาคเอกชนเดินตาม อะไรที่เป็นอุปสรรคร่วมกัน เร่งขจัดออกมา เมื่อนั้นผมเชื่อว่าญี่ปุ่นกับไทยจะเป็นพันธมิตรที่สำคัญอย่างยิ่ง

 

     “ความในใจของผมนั้น ความสัมพันธ์ของไทย-ญี่ปุ่นไม่ได้มีแค่เศรษฐกิจ แต่มันเป็นหุ้นส่วนชีวิตของทั้งสองประเทศในระยะยาวข้างหน้า อุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ เราแก้กันไป นี่แหละคือหนทางยุทธศาสตร์แห่งอนาคต

     “ท่านพิสูจน์มาแล้ว ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ในยามฟ้าสดใส ท่านก็อยู่กับเรา ยามที่เกิดเมฆหมอก มองหาแสงสว่างไม่เจอ ท่านก็ไม่เคยทิ้งเรา อันนี้คนไทยจำได้ แต่ในอนาคตข้างหน้า ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงจะเป็นอย่างไร ความไม่แน่นอนจะมีแค่ไหน แต่ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นนั้นอยู่เหนือกาลเวลา และอยู่เหนือความขัดแย้งของโลก ขอขอบคุณท่านด้วยความจริงใจ” สมคิดกล่าวปิดท้าย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising