วันนี้ (5 เม.ย.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารชี้แจงการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ โดยระบุว่า
ตามที่มีข่าวทางสื่อต่างๆ เกี่ยวกับข้อสงสัยในการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะมีวิธีการคำนวณอย่างไร เป็นไปตามที่มีผู้เสนอวิธีคำนวณต่างๆ หลากหลายวิธีหรือไม่ อย่างไรนั้น
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งขอชี้แจงว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้นำวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวิธีที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128-129 ประกอบกับเจตนารมณ์ของระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทุกคนมาเป็นแนวทางในการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในครั้งนี้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ปรึกษาหารือและนำเรียนกรรมการการเลือกตั้งแต่ละท่านทราบเป็นเบื้องต้นแล้ว โดยตลอดมากรรมการการเลือกตั้งแต่ละท่านมีข้อคิดเห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
ผลจากการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ โดยใช้ข้อมูลจากการประกาศผลการนับคะแนนของทุกเขตเลือกตั้งมาคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในเบื้องต้น มีพรรค การเมืองที่ได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 25 พรรคการเมือง
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งขอเรียนว่าเป็นเพียงการคำนวณโดยใช้ผลคะแนนรายเขตเลือกตั้งที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้แถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 หลังจากนี้หากผลจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้สั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ หรือสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่เสร็จสิ้นแล้ว ผลคะแนนรวมของพรรคการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไป จะต้องนำคะแนนที่ได้รับมาใหม่ดังกล่าวมาคำนวณด้วยวิธีการเดิมอีกครั้งหนึ่ง โดยการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจะดำเนินการได้เสร็จสมบูรณ์ครั้งแรกก็ต่อเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 95
จึงประชาสัมพันธ์มาให้ทราบโดยทั่วกัน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า