×

เลขา กกต. ชี้แจง 6 เหตุผล ทำไมยังไม่แจก ‘ใบเหลือง-แดง’ เลือกตั้งปี 66 มองสถิติร้องเรียนลดลงแบบมีนัย

โดย THE STANDARD TEAM
27.11.2023
  • LOADING...

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ก็ล่วงเลยมาจะเข้าเดือนที่ 6 หลังจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งปี 2566 เสร็จสิ้น โดยมี เศรษฐา ทวีสิน นั่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย 

 

หลังจาก กกต. จัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมเสร็จสิ้นลง ก็มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย เช่น ทำไมยังไม่มีใบเหลืองหรือใบแดงใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งการเลือกตั้งก็ได้ผ่านมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้วนั้น 

 

ยก 6 ข้อชี้แจง ‘ใบเหลือง-ใบแดง’ 

ล่าสุด แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงมาตรการและรูปแบบการควบคุมการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งปี 2566 

 

โดยระบุข้อความว่า มาตรการและรูปแบบการควบคุมการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งปี 2566 ทำไมยังไม่มีใบเหลือง/ใบแดง 

 

  1. กรอบแนวคิด การนำคดีเลือกตั้งไปสู่ศาลไม่อาจควบคุมให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามที่กฎหมายได้ออกแบบไว้อย่างที่ควรจะเป็น ต้องหามาตรการเสริม
  1. บทเรียนจากข้อกฎหมาย เรื่องมาตรฐานของการชั่งน้ำหนักพยานที่สูงขึ้นเทียบเท่าคดีอาญา คดีเลือกตั้ง เน้นรักษาผลประโยชน์ของรัฐ เพียงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า นั้นหมายความว่าหาก ‘สงสัย’ ก็เพียงพอที่จะเอาผู้เล่นออกจากสนามแล้ว แต่ในทางคดีอาญาคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน ต้องพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัยจึงจะลงโทษได้ นั้นหมายความว่าหาก ‘สงสัย’ ต้องปล่อยจำเลยไป เมื่อกฎหมายนำเรื่องคดีเลือกตั้งและคดีอาญามาอยู่ในการกระทำเดียวกัน ทุกคดีการเลือกตั้งต้องจบที่ศาล การชั่งน้ำหนักพยานจึงต้องพยายามใช้มาตรฐานคดีอาญาไปโดยปริยาย
  1. บทเรียนจากอดีต ในเชิงข้อเท็จจริงรูปแบบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะมีความสลับซับซ้อน เพราะเกี่ยวพันกับผู้ซึ่งจะมีอำนาจมากที่สุดเมื่อชนะการเลือกตั้ง สมประโยชน์ทั้งผู้ให้/ผู้รับ มีความรัก ความศรัทธาต่อพรรคการเมืองและผู้สมัครเป็นพื้นฐาน มีผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เกาะเกี่ยวผูกพันกัน ด้วยองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้น การดำเนินคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งจึงประสบผลสำเร็จได้ยาก เพราะทุกคดีต้องไปที่ศาล โจทก์ จำเลย พยาน ต้องไปเผชิญหน้ากันในศาล หลังเลือกตั้งถ้าพยานไม่เหมือนเดิมแล้ว ผลคดีก็จะเปลี่ยนไป
  1. มาตรการปี 2566 นำบทเรียนมาใช้ ด้วยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงตามที่กล่าวมาแล้ว กกต. และ สนง. จึงได้ดำเนินมาตรการเชิงใช้ ‘การป้อง/ป้องปราม’ ก่อนการเลือกตั้งมาเป็นหลัก ส่วนการดำเนินคดีหลังเลือกตั้งก็ดำเนินการเช่นเดิม

วิธีดำเนินการ เรามีศูนย์ข่าว บัญชีหัวคะแนน ของผู้สมัครและของพรรคการเมืองทุกพรรค จัดโซนพื้นที่ตามระดับการแข่งขัน เพื่อเป็นข้อมูลให้ชุดปฏิบัติการต่างๆ ในแต่ละเขตเลือกตั้ง เช่น ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ชุดปฏิบัติการข่าว ชุดเคลื่อนที่เร็ว และยังมีการบูรณาการร่วมกับฝ่ายปกครอง ตำรวจ ภาคประชาชน และ ศส.ปชต. ด้วย

 

ทั้งนี้ จะใช้วิธีป้องปราม กดดัน ลาดตระเวน สังเกตการณ์ สืบสวนหาข่าว แล้วแต่กรณีในแต่ละเขตเลือกตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิด หรือถ้าคิดหรือเตรียมการจะทำก็กระทำไม่สำเร็จ

 

  1. เป้าหมาย เพื่อควบคุมให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยการป้องกันมิให้มีการกระทำความผิด (ลดหรือไม่มีใบเหลือง-ใบแดง) อันเป็นเหตุให้มีการเลือกตั้งซ่อม และสิ้นเปลืองทรัพยากรอีกทางหนึ่งด้วย
  1. ผลการดำเนินการ การเลือกตั้งปี 2566 มีจำนวนเรื่องร้องเรียนในภาพรวมลดลงมากกว่าครึ่ง เฉพาะการร้องเรียนเกี่ยวกับการซื้อสิทธิขายเสียง 100 กว่าเรื่อง นอกนั้นก็เป็นเรื่องอื่นๆ เช่น การนับคะแนน การหลอกลวง กว่า 100 เรื่อง และเป็นเรื่องที่ชุดต่างๆ ไปปฏิบัติการได้ข้อมูลและเบาะแสมา เกือบ 100 เรื่อง รวมเป็นคำร้องทั้งหมด 365 เรื่อง จากที่ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งที่ผ่านมา จะมีคำร้องมากกว่านี้เป็นหลายเท่าก็มี จึงถือว่าสถิติคำร้องลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อนึ่ง สำนวนใดมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร กกต. มีมติในสำนวนนั้นว่าอย่างไร ดูได้จากคำวินิจฉัยของแต่ละสำนวน ซึ่งสามารถตรวจสอบคำวินิจฉัยได้จากเว็บไซต์ สำนักงาน กกต. 

 

การลงโทษสำหรับ ‘ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ใบดำ’ เป็นอย่างไร 

  • ใบเหลือง

คืออำนาจการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่พบชัดเจนว่ามีผู้ใดกระทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ

ช่วงแรก ก่อนหรือในวันเลือกตั้ง เมื่อ กกต. สืบสวนหรือไต่สวนแล้วหรือพบเห็นการกระทำที่มีเหตุอันควรสงสัย หรือ กกต. แต่ละคนพบเห็นการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำอันอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้ง มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปมิชอบด้วยกฎหมาย กกต. หรือกรรมการมีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการเลือกตั้ง และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้

ช่วงที่สอง เมื่อประกาศผลการเลือกตั้ง แล้วปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม แต่ไม่ได้ความชัดว่าเป็นการกระทำของผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณา ในกรณีที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่สำหรับเขตเลือกตั้งนั้น

  • ใบส้ม

เป็นการให้อำนาจ กกต. ดึงผู้สมัครที่ไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามออกจากการเลือกตั้งชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เข้ามายุ่งเหยิงกับการเลือกตั้งครั้งนั้น หรือการเลือกตั้งใหม่ที่จะจัดขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ

ช่วงแรก ก่อนวันเลือกตั้ง หาก กกต. ตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ถอนชื่อผู้นั้นออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร

ช่วงที่สอง ถ้า กกต. สืบสวนหรือไต่สวนแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้สมัครกระทำการหรือก่อให้บุคคลอื่นกระทำ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว หรือรู้ว่ามีการกระทำแล้วแต่ไม่ดำเนินการระงับการกระทำนั้น ให้ กกต. สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครนั้นเป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี และในกรณีที่ผู้สมัครนั้นได้คะแนนอยู่ในลำดับที่จะได้รับเลือกตั้ง ให้ กกต. สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่

  • ใบแดง

หลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น

หากกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาว่า บุคคลกระทำความผิดตามที่ถูกร้อง ศาลฎีกาจะสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นเวลา 10 ปี และหากการที่ต้องสั่งเช่นนั้นทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ศาลจะต้องสั่งให้ผู้นั้นต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้มีคำสั่งเช่นว่านั้นด้วย

  • ใบดำ

หลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้า กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้ใดกระทำการทุจริตเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นไม่มีกำหนด เสมือนกับโทษประหารชีวิตทางการเมือง ถ้าผู้สมัครคนไหนได้ใบดำ จะไม่มีสิทธิรับเลือกตั้ง หรือสมัครรับเลือกเป็น สส. และ สว. สมาชิกท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตลอดไป

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising