×

นักเศรษฐศาสตร์แนะรัฐบาลขยายเกณฑ์ตัด ‘คนรวย’ ชี้ควรพิจารณาสินทรัพย์อื่นๆ ด้วย เช่น หุ้น กองทุน ที่ดิน

26.10.2023
  • LOADING...
เศรษฐา ทวีสิน

ผู้เชี่ยวชาญแนะรัฐบาลควรขยายเกณฑ์ตัดคนรวยให้กว้างกว่าเงินเดือนและเงินฝาก โดยควรพิจารณาสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ตราสารหนี้ หุ้น กองทุน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย ชี้ควรขยายฐานภาษีกว้างขึ้นเพื่อสร้างความเป็นธรรม ห่วงใช้งบผูกพันจะกระทบค่าของเงิน

 

รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH เกี่ยวกับข้อเสนอการตัดสิทธิ ‘คนรวย’ ออกจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยมองว่ามีความสมเหตุสมผล เนื่องจาก 2 เหตุผลหลัก ได้แก่ จะทำให้ต้นทุนลดลง และเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ

 

“โครงการนี้เดิมทีใช้งบประมาณค่อนข้างเยอะ ดังนั้น การคัด (Screen) ผู้ที่มีรายได้สูงออกไป ก็จะทำให้การใช้งบประมาณน้อยลง และประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็น่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเงินไปอยู่ที่ผู้มีสภาพคล่องต่ำ ตัวคูณทางการคลังจะเยอะกว่า”

 

ขณะที่ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ ย้ำอีกว่า โดยหลักการแล้ว การทำนโยบายแบบเฉพาะกลุ่ม (Targeted) ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้น ความจำเป็นของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ‘มีน้อย แต่ยังมี’ เพราะฉะนั้น การทำนโยบายที่ตรงกลุ่มมีความสำคัญ พร้อมให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรเจาะไปที่คน 3 กลุ่มเป็นพิเศษ ได้แก่

 

  1. กลุ่มที่มีแนวโน้มใช้จ่ายได้เยอะและหมดเร็ว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจยิ่งหมุนไปได้เยอะ
  2. กลุ่มคนที่ใช้จ่ายไปกับสินค้าในประเทศสูง ซึ่งจะทำให้ประโยชน์เกิดกับผู้คนและผู้ประกอบการในประเทศมากขึ้น
  3. กลุ่มคนที่มีความจำเป็นหรือต้องการเงิน 10,000 บาท 

 

เกณฑ์ตัด ‘คนรวย’ เป็นธรรมหรือไม่?

 

สำหรับประเด็นเรื่องความเป็นธรรมที่ชาวไทยหลายคนท้วงติงว่า หลักเกณฑ์ตัดคนรวยที่คณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตเสนอมาดูไม่เป็นธรรม เนื่องจากเหมือนเอาเงินภาษีซึ่งมีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ไปอุ้มแต่ผู้ยากไร้ ดร.อธิภัทร มองว่า ต้องแยกเป็น 2 โจทย์

 

โดยโจทย์แรก ถ้ารัฐบาลต้องการเอาเม็ดเงินเข้าไปกระตุ้นธุรกิจให้เกิดผลต่อ GDP ได้มากที่สุด ดังนั้น ควรต้องจ่ายให้คนที่มีแนวโน้มจะใช้จ่ายมาก หรือผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 

 

แต่หากโจทย์คือ ห่วงว่าทำไมเราเอาเงินภาษีของคนที่จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ซึ่งมีแค่ 10% ของกำลังแรงงาน (Labor Force) ไปจ่ายให้คนทั่วประเทศ เราควรกลับไปตั้งคำถามว่า รัฐควรทำอย่างไรให้ระบบภาษีเป็นธรรมมากขึ้น และทำอย่างไรให้ฐานภาษีของประเทศไทยกว้างขึ้น

 

ทำไมตัดคนเงินเดือน 25,000 บาท ยังใช้งบประมาณกว่า 4 แสนล้าน

 

ตามการแถลงของ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า หากตัดกลุ่มที่ได้รับเงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาท หรือมีเงินฝากรวมกันมากกว่า 1 แสนบาทออก โดยจะทำให้ผู้ได้รับสิทธิเหลือ 43 ล้านคน ใช้วงเงินงบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท ซึ่งยังคิดเป็น 2.7% ของ GDP ไทย ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ทำไมต้นทุนงบประมาณดูไม่ลดลงเท่าที่ควร

 

โดย ดร.อธิภัทร อธิบายว่า ที่รัฐบาลคัดกรอง (Screen) คนออกไปได้น้อย เนื่องจากรัฐรู้รายได้ของผู้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และผู้ที่ถูกจ้างงานในระบบเท่านั้น

 

ดังนั้น จึงทำให้ตัดคนออกไปได้ไม่เยอะ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีผู้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแค่ประมาณ 4 ล้านคนเท่านั้น จากกำลังแรงงาน (Labour Force) ทั้งหมด 40 ล้านคน หรือคิดเป็น 10% 

 

“สมมติถ้าเป็นฟรีแลนซ์รัฐก็ไม่รู้ครับ จึงคัดออกไปได้น้อยมาก นี่เป็นปัญหาเดิมของเราตั้งแต่ตอนทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว คือรัฐบาลไม่สามารถรู้ได้ว่าคนที่อยู่นอกระบบหรือฟรีแลนซ์แท้จริงมีรายได้เท่าไร โดยรัฐจะรู้เงินเดือนของแรงงานที่ทำฟรีแลนซ์ได้เพียงคนที่ส่ง ภ.ง.ด. 90/91 ซึ่งจะรู้ไม่กี่คนเท่านั้น”

 

แนะขยายเกณฑ์คัด ‘คนรวย’

 

ดร.อธิภัทร แนะอีกว่า รัฐบาลควรขยายเกณฑ์การวัด ‘คนรวย’ ให้กว้างกว่าเกณฑ์เงินฝากกับเงินเดือน โดยอาจออกเกณฑ์เพิ่มเติมให้โยงกับสินทรัพย์ (Asset) อื่นๆ เช่น ตราสารหนี้ หุ้น กองทุน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 

 

“หลักเกณฑ์นี้พูดถึงแค่เงินเดือนและเงินฝาก ซึ่งไม่ทั่วถึง เนื่องจากปัจจุบันรัฐมีข้อมูลมากกว่านั้นเยอะ อยากให้รัฐบาลใช้เวลาแล้วลองมาดูว่า เครื่องมืออะไรที่ทำให้เราสามารถเลือกคนที่เราอยากให้เขาจริงๆ ได้มากกว่า”

 

ห่วงใช้งบผูกพันกระทบมูลค่าของเงิน

 

สำหรับแนวทางการใช้งบผูกพันเป็นแหล่งเงินสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ดร.อธิภัทร มองว่า เป็นสิ่งที่น่าห่วง เนื่องจากหากรัฐบาลไม่มีเงินที่จะมาการันตีได้ว่าถ้าร้านขึ้นเงินแล้วจะได้เลย แต่กลับหวังว่าร้านจะค่อยๆ ทยอยขึ้นเงิน สิ่งนี้อาจจะส่งผลต่อมูลค่าของเงินในดิจิทัลวอลเล็ตได้ เช่น ถ้าซื้อของแล้วจ่ายผ่านดิจิทัลวอลเล็ตอาจต้องจ่ายอีกราคาหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม ดร.อธิภัทร มองว่า แนวทางดังกล่าวยังดีกว่าการใช้มาตรการกึ่งการคลังอย่างการใช้มาตรา 28 เนื่องจากวิธีดังกล่าวคล้ายกับ Buy Now Pay Later หรือให้ออมสินออกไปก่อนแล้วค่อยตั้งงบคืนทีหลัง ซึ่งวิธีแบบนี้ไม่โปร่งใส โครงสร้างการคืนเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ หนี้สาธารณะก็ไม่รับรู้อีก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising