×

ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย 2020 ผ่านมุมมอง วีรพงษ์ รามางกูร ชี้ต้องเผชิญภาวะซบเซาไปอีก 5 ปี

03.03.2020
  • LOADING...

วันนี้ (3 มีนาคม) ที่พรรคเพื่อไทย มีการจัดงานสัมมนาเปิดตัวโครงการระดมความคิดเพื่อพัฒนาชุดนโยบายสาธารณะ โดย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวเปิดงานสัมมนาว่า ปัญหาที่ไทยต้องเผชิญอยู่ขณะนี้มี 3 อย่าง คือ ปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ และความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งปัญหา 3 อย่างนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะนำไปสู่วิกฤตการณ์อย่างใหญ่หลวง ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดขึ้น 

 

สมพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องเศรษฐกิจประสบปัญหามาโดยตลอด และเมื่อเกิดความไม่เป็นธรรม ทำให้มีกระแสที่ต่อต้านจากประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ทำให้นักศึกษาต้องออกมาเคลื่อนไหว ดังนั้น เวลานี้จึงจำเป็นที่จะต้องไตร่ตรองและคิดว่าบ้านเมืองขณะนี้จะต้องเดินไปในทิศทางใด

 

ด้าน ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเรื่อง ‘ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย 2020’ ระบุว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้เป็นวิกฤตทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย จนส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างที่เรียกได้ว่า เป็นมหาวิกฤต ผนวกกับคำพูดของรองนายกรัฐมนตรีที่บอกว่า การส่งออกไม่สำคัญกับเศรษฐกิจ เป็นคำพูดที่แสดงถึงความโง่เขลา ไม่รู้เรื่อง หลอกทหารได้ แต่หลอกคนที่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจไม่ได้ ซึ่งหากไม่มีรายได้อื่นมาทดแทนการส่งออกที่หายไป จะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวจะเหลือเพียงส่วนคิดเป็น 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก

 

ขณะที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ได้พูดถึงค่าเงินบาทว่า ไม่มีผลกับราคาสินค้าและบริการที่ส่งออก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ หากตนเองเป็นรัฐบาล ก็จะปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ

 

ดร.วีรพงษ์ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาแบบก้าวหน้า แต่จากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ทำให้การพัฒนาต้องหยุดชะงัก ประชาคมโลกมองว่า ไทยมีการปกครองแบบเผด็จการทหาร เป็นที่รังเกียจของประชาคมโลก ส่วนในเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ผู้นำของเราก็ไม่สามารถเดินหน้าได้ เพราะบนโต๊ะการเจรจายังเห็นว่า เป็นประเทศเดียวที่ผู้นำมียศนายพลนำหน้า ส่งผลให้ผู้นำของเราไม่สามารถเจรจาการค้าแบบทวิภาคีระหว่างประเทศต่างๆ ได้ ถือเป็นตัวถ่วงไม่ให้ประเทศเดินหน้า ภาวะเศรษฐกิจถดถอย การส่งออกประสบปัญหา ขณะที่รัฐบาลไม่เข้าใจบทบาทของอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น จากการที่ไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ต่อจากฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ แต่จากการปฏิวัติ ทำให้ทุกอย่างชะงักงันและล้าหลัง พร้อมทั้งอยากเสนอให้ยกเลิกสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. เพราะมาจากรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการ ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทยกำลังประสบปัญหา ภาคการท่องเที่ยวจึงควรเป็นตลาดที่สามารถสร้างรายได้ทดแทนการส่งออกที่หายไป แต่รัฐบาลก็ยังซ้ำเติมการท่องเที่ยว เช่น เมื่อครั้งที่นักท่องเที่ยวชาวจีนประสบอุบัติเหตุที่จังหวัดภูเก็ต ก็มีคำพูดที่ทำให้เกิดความกระทบกระทั่งกัน หากรัฐบาลไม่มีความเข้าใจในภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย ไม่เข้าใจภาวะของโลก อีกทั้งมีทัศนะแปลกๆ แล้วจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างไร

 

ทั้งนี้ ดร.วีรพงษ์ มองว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาขณะนี้ เป็นลักษณะที่แปลกกว่าครั้งที่ผ่านมา ซึ่งจะนำไปสู่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน โดยเป็นภาวะเศรษฐกิจที่มีการส่งออกซบเซา ขณะที่การนำเข้าหดตัวลงมากกว่าการส่งออก ทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ขาดทุนมาก แต่แทนที่เงินบาทจะอ่อนค่าลงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่กลับเกิดปัญหาเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้เกิดการเก็งกําไรค่าเงิน โดยกองทุนของ จอร์จ โซรอส นักลงทุนระดับโลก ทำให้เงินไหลเข้าประเทศไทย แต่ไม่ได้เข้าไปในตลาดหุ้น เป็นการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล ทำให้พันธบัตรรัฐบาลมีราคาสูงขึ้น ผลตอบแทนต่ำลง โดยหากพิจารณาดอกเบี้ยระยะยาวที่ต่ำลงขณะนี้ ทำให้คาดว่า ภาวะเศรษฐกิจซบเซาจะยังอยู่ไปอีกนาน

 

ทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนมองว่า เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ โดยค่าเงินบาทของไทยที่อ่อนตัวลงขณะนี้ไม่ได้เป็นผลงานของรัฐบาล แต่เป็นผลมาจากโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวจีนลดลง ค่าเงินบาทจึงอ่อนตัวลง ตนเองเป็นห่วงความไม่รู้เรื่องของทางการ เห็นได้จากจากคำพูดของฝ่ายบริหาร ขณะเดียวกัน ความรังเกียจรัฐบาลทหารของประชาคมโลกจะรุนแรงขึ้น ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง หลายประเทศจะปกป้องตัวเองโดยใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้น มองว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยปีกลายเผาหลอก ต้นปีนี้เผาจริง ปลายปีนี้เก็บกระดูก หากพิจารณาตามวัฏจักรของการขึ้นลงทางเศรษฐกิจ เราจะอยู่กับปัญหานี้ไปอีกเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งผ่านมาแล้ว 5 ปี ขณะนี้เหลืออีก 5 ปี โดยสัญญาณการฟื้นตัวต้องมาจากต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากมองว่า เศรษฐกิจของอเมริกากำลังจะดีขึ้น แต่กลับเป็นการคาดการณ์ที่ผิด เพราะเศรษฐกิจอเมริกาไม่ได้ดีขึ้นจริง แต่กำลังจะดิ่งหัวลง

 

ดร.วีรพงษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ เนื่องจากเราต้องแข่งขันกับต่างประเทศ ขณะที่มาตรการที่จะลดมูลค่าทรัพย์สิน ถือเป็นมาตรการทางลบที่ลงโทษผู้ผลิต ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันของไทยกับต่างประเทศลดลง โดยมองว่า ในการแก้ปัญหาไม่จำเป็นต้องลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องของรายได้และทรัพย์สิน ไม่ควรที่จะลดการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า แต่ควรลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิต เพราะคนที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าคือ คนเก่งที่มีรายได้และทรัพย์สิน ซึ่งไม่สมควรถูกลงโทษ ขณะที่ผู้บริโภคเป็นผู้ที่ใช้ผลผลิตจำนวนมาก ดังนั้น ทั่วโลกจึงหันมาเก็บภาษีจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ด้วยการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

ส่วนมาตรการแจกเงิน ก็ต้องพิจารณาถึงกลุ่มคนชั้นกลางที่มีรายได้มากกว่ากลุ่มคนระดับล่างเพียงเล็กน้อย แต่ไม่เข้าข่ายได้รับแจกเงิน ซึ่งก็ประสบปัญหาเช่นกัน จึงควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการแจกเงินและลดภาษี แต่ต้องไม่ให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ได้ประโยชน์ซ้ำซ้อนกัน ขณะที่มองว่า มาตรการชิมช้อปใช้เป็นปาหี่เอาไว้หลอกคนในเมือง

 

อย่างไรก็ตาม ดร.วีรพงษ์ มองว่า มีสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำถูก โดยไม่ประกันราคา แต่ใช้การประกันรายได้ เพราะการประกันราคาถือเป็นการหลอกกัน ทำให้ราคาสินค้าไม่เป็นไปตามกลไกตลาด

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising