×

บุหรี่ไฟฟ้า – บุหรี่เลิกได้ ง่ายนิดเดียว จริงหรือ?

29.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การเสพนิโคตินเข้าไปในร่างกายนั้น จะส่งผลโดยการไปกระตุ้นสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า โดพามีน (Dopamine) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สบายใจ
  • การขาดสารนิโคตินในคนที่ติดอาจจะทำให้มีอาการหงุดหงิด เพราะเคยชินกับการที่เสพนิโคตินและทำให้มีความสุข
  • จากการศึกษาในต่างประเทศ แม้ใช้ทุกกระบวนการแล้ว ผลสำเร็จของการรักษาอาการติดบุหรี่ก็ยังอยู่ที่ราว 50-60% เท่านั้น

     คำกล่าวอ้างสำคัญของฝ่ายที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าคือ การเป็นอุปกรณ์ทดแทนความต้องการนิโคตินที่มีความปลอดภัยมากกว่าบุหรี่มวน รวมไปถึงใช้ในการช่วยเลิกสูบบุหรี่มวน ในทางตรงกันข้าม ผู้ต่อต้านก็เห็นว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยในการเลิกบุหรี่จริง ซ้ำยังเป็นอุปกรณ์ที่นำเยาวชนไปสู่การเสพติดนิโคติน ซึ่งเกิดเป็นการถกเถียงจากต่างมุมมองที่มีประเด็นน่าสนใจ ทั้งในทางการแพทย์ กฎหมาย และเศรษฐศาสตร์

 

 

     ทว่าในกรณีการรักษาอาการติดนิโคตินจากบุหรี่มวนนั้น บุหรี่ไฟฟ้าทำได้จริงหรือไม่ แตกต่างจากบุหรี่มวนอย่างไร แล้วทำไมจึงต้องใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการช่วยเลิกบุหรี่ ลองไปหาคำตอบจากข้อมูลต่อไปนี้

 

 

บุหรี่เลิกง่าย เลิกได้ตั้งหลายครั้ง

     นายวีรพัฒน์ พนักงานบริษัทซึ่งยังคงสูบบุหรี่มวนอยู่เป็นประจำกล่าวอย่างติดตลกว่า “บุหรี่เลิกง่าย เลิกได้ตั้งหลายครั้ง” โดยเล่าว่าเขาเลิกบุหรี่มาราว 2-3 ครั้ง แต่ไม่สามารถเลิกได้ เพราะอยากสูบอยู่เรื่อยๆ เขาสูบบุหรี่ครั้งแรกตอนอายุ 15 ปี

     “แรกๆ ลองดูเฉยๆ สูบแล้วมันรู้สึกสบายดี มึนๆ แล้วก็หยุดไปหลายปี มาสูบจริงจังอีกครั้งตอนอายุ 18”

     เขาอธิบายว่าการเลิกบุหรี่ในแต่ละครั้งค่อนข้างยากลำบาก ในช่วงแรกจะรู้สึกเหงาปาก อยากกิน อยากเคี้ยวตลอดเวลา จากนั้นจะมีอาการเจ็บคอและไอ

     “เลิกด้วยใจน่ะได้ แต่มันต้องมีแรงบันดาลใจพอสมควรนะ เช่น มีลูก เป็นมะเร็ง มีภาวะเสี่ยงต่อโรคอะไรบางอย่าง แต่ถ้ามีอุปกรณ์หรือวิธีการช่วยมันจะง่ายกว่า”

     เขาเล่าต่อว่า แรงจูงใจในการสูบบุหรี่ของเขาคือ อยากผ่อนคลายจากงาน อยากแก้เครียด ซึ่งบุหรี่เองก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง

     ส่วนนายพี (นามสมมติ) นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการทดแทนความอยากบุหรี่มวนเป็นครั้งคราว ได้อธิบายถึงความแตกต่างในการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับบุหรี่มวนจากประสบการณ์ของตัวเองว่า

     “สำหรับผมนะ บุหรี่ไฟฟ้ามันดูแลยากกว่า มันมีเรื่องจุกจิกของการบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่มีราคาสูง แต่บุหรี่มวนนี่เดินเข้าร้านสะดวกซื้อ ซื้อคู่กับไฟแช็ก จุดแล้วก็สูบได้เลย ถ้าถามว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วช่วยให้หายอยากบุหรี่มวนไหม ก็ช่วยในระดับหนึ่งนะครับ ที่สำคัญเลยคือความรู้สึกตอนที่มาสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียวมันต่างจากบุหรี่มวนมาก ผมไม่ค่อยมีเสมหะเหมือนตอนที่สูบบุหรี่มวน ร่างกายก็อึดขึ้นหน่อย ออกกำลังกายและใช้แรงได้นานขึ้น”

 

 

     ด้านนายคมศักดิ์ เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งซึ่งใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการช่วยเลิกบุหรี่มวนได้เล่าว่า เขาพยายามเลิกจริงจังแบบหักดิบมา 4 ครั้ง ครั้งแรกเลิกได้ 2 เดือน แต่ก็กลับมาสูบใหม่เพราะมีกลุ่มเพื่อนที่ชวนเที่ยวกลางคืนบ่อย ทำให้มีความอยากสูบบุหรี่ จึงกลับมาติดบุหรี่อีกครั้ง ครั้งที่ 2 เลิกได้เดือนเดียว พอบวชพระแล้วมีเวลาว่างมากเกินไปจึงหาบุหรี่มาสูบ พอสึกแล้วกลับติดหนักกว่าเดิม และในครั้งที่ 3 พยายามเลิกแบบหักดิบตอนช่วงปีใหม่ เลิกได้ 3 วัน แต่รู้สึกว่าร่างกายอ่อนเพลีย เข้าใจว่าร่างกายปรับสภาพไม่ทันจึงเลิกไม่ได้ ครั้งสุดท้ายจึงตัดสินใจเลิกบุหรี่ด้วยบุหรี่ไฟฟ้า

     นายคมศักดิ์อธิบายว่า ตอนที่เขาเลิกบุหรี่แบบหักดิบใน 3 ครั้งแรกนั้น เขารู้สึก อ่อนเพลีย นอนหลับไม่สนิท ชอบฝันว่าสูบบุหรี่ หรือพยายามสูบบุหรี่ จากนั้นก็ละเมอตื่นขึ้นมากลางดึก โดยเขาคิดว่าบุหรี่สามารถเลิกได้ด้วยใจล้วนๆ แต่มันต้องมีตัวช่วยด้วย

     ส่วนประสบการณ์ในการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่มวนนั้น เขาบอกว่า

     “วันแรกที่ผมเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าจริงจัง ด้วยกลิ่นน้ำหวาน ผลไม้ ความเย็น และควันที่เยอะเหมือนกำลังย่างไก่ ทำให้ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอของผมรู้สึกถึงกลิ่นและรสชาติที่ดีกว่า พอกลับไปลองสูบบุหรี่จริงเพียงมวนเดียวในวันนั้น ผมรู้สึกถึงความเหม็นที่แท้จริงของควันบุหรี่ ผมอาเจียนออกมาเพราะได้กลิ่นสาบจากลำคอ ลมหายใจ นิ้วมือ และตามเสื้อผ้า แล้วก็ไม่อยากสูบบุหรี่มวนอีกเลย”

     เขาเล่าต่อว่า เขาใช้เวลาในการเลิกบุหรี่ไฟฟ้าในเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น

     “ช่วงแรกใช้น้ำยาที่มีกลิ่นหรือรสชาติที่ชอบ หอม หวาน และมีความเย็น เพื่อให้ร่างกายตัวเองต้านการสูบบุหรี่จริง พกติดตัวไปไหนตลอดเวลา พอมาช่วงหลังใช้น้ำยาที่ไม่ค่อยชอบกลิ่นมาสูบบ้าง เราเลยเริ่มเบื่อในรสชาติของบุหรี่ไฟฟ้า และเริ่มไม่พกติดตัวตลอดเวลา ปิดท้ายด้วยการไปเที่ยวต่างประเทศหลายๆ วัน เพราะการนำบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นเครื่องไป-กลับมีความเสี่ยงอย่างมาก ผมจึงทิ้งมันไว้ห้อง พอกลับมาแล้วไม่ได้สูบบุหรี่หลายวันก็เลยเลิกได้ แถมเงินที่มีอยู่ก็หมดจากการไปเที่ยว เลยขายบุหรี่ไฟฟ้าไป และไม่แตะต้องนิโคตินอีกเลย”

 

 

สายด่วนเลิกบุหรี่แนะ บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยเลิกบุหรี่

     ด้าน 1600 สายด่วนเลิกบุหรี่ หรือศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลว่า ศูนย์จะให้ปรับพฤติกรรมไม่ให้ใช้เครื่องมือช่วยใดๆ โดยมีการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญราว 20 นาที เริ่มจากการประเมินพฤติกรรม และจะให้คำแนะนำ รวมถึงให้กำลังใจ โดยคำแนะนำจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของผู้โทรไปปรึกษา เช่น หากสูบหลังอาหารก็จะมีวิธีการปฏิบัติตัวในแบบต่างๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น การอมน้ำ การไม่นั่งแช่หลังรับประทานอาหารเสร็จ ส่วนคำแนะนำทางพฤติกรรมอื่นๆ ก็มีเช่น การหลีกเลี่ยงวงเหล้า การตื่นนอนแล้วดื่มน้ำ 2 แก้วช้าๆ การย้ำบอกตัวเองว่าจะเลิกบุหรี่ การรับประทานผลไม้สดที่มีวิตามินให้สดชื่น ฟื้นตัวเร็ว รวมไปถึงการใช้ตัวช่วยแก้อยากบุหรี่อย่างการอมมะนาว ซึ่งทางสายด่วนเลิกบุหรี่แนะนำให้หั่นทั้งเปลือกขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย อมให้หมดรสเปรี้ยว เคี้ยว และกลืนลงไป อมน้ำเวลาที่อยากสูบ โดยค่อยๆ กลืนช้าๆ นอกเหนือจากนี้สายด่วนเลิกบุหรี่ยังมีการติดตามผลจากผู้ที่โทรเข้ามาปรึกษาผ่านการโทรศัพท์ไปให้กำลังใจและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

     ในประเด็นสำหรับบุหรี่ไฟฟ้า ทางสายด่วนเลิกบุหรี่กล่าวว่า ไม่ได้ช่วยในการเลิกบุหรี่ และเป็นพิษภัยมากกว่าบุหรี่มวน 10-15 เท่า วิธีการเลิกบุหรี่ที่แนะนำคือการหักดิบ และไม่กลับไปเกี่ยวข้องกับบุหรี่อีก

 

 

แพทย์ชี้ การเลิกบุหรี่ทำได้ยาก แต่ทำได้ ถ้ามีความตั้งใจ

     ผู้ดูแลเพจอายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว ซึ่งเป็นนายแพทย์ท่านหนึ่ง ได้อธิบายว่า การใช้ใจในการเลิกบุหรี่เพียงอย่างเดียวนั้นทำได้จริง โดยมีการเปรียบเทียบการใช้ยาช่วยกับใช้ใจเพียงอย่างเดียว พบว่ามีคนกลุ่มหนึ่งสามารถเลิกได้โดยใช้ใจเพียงอย่างเดียว แต่ในรายละเอียดแล้ว การเสพติดนิโคตินในบุหรี่มวนมีความซับซ้อนกว่านั้น ทั้งติดทางกาย ติดทางสังคม ตลอดจนทางสิ่งแวดล้อม โดยอ้างอิงจากการศึกษาในต่างประเทศแล้ว แม้คลินิกจะใช้ทุกกระบวนการในการเลิกบุหรี่ นับตั้งแต่การติดตาม การใช้ยา ไปจนถึงการใช้สารชดเชย แต่ผลสำเร็จก็ยังอยู่ที่ราว 50-60% เท่านั้น ระดับการรักษาก็ยังเป็นเรื่องยาก

     ทั้งนี้การเลิกบุหรี่คือการเลิกการเสพติดนิโคติน เพราะนิโคตินจะไปกระตุ้นสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า โดพามีน (Dopamine) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สบายใจ ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่านิโคตินมีผลต่ออารมณ์ ในทางกลับกัน อารมณ์ก็มีผลต่อการเลิกสูบบุหรี่ เพราะการขาดสารนิโคตินในคนที่ติดอาจจะทำให้มีอาการหงุดหงิด เพราะเคยชินกับการเสพนิโคตินและทำให้มีความสุข อาการเหล่านี้คือการลงแดงบุหรี่ หรือที่เรียกกันว่า Nicotine Craving ซึ่งเป็นอาการธรรมดาของการขาดสารเสพติด ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ เหล้า เฮโรอีน หรือแม้แต่กาเฟอีนในกาแฟก็อยู่ใต้หลักการนี้ คือเสพแล้วเสพอีก เมื่อหยุดเสพก็จะทุกข์ทรมาน

 

 

     ดังนั้นในหลายกรณีจึงมีการใช้สารชดเชยนิโคตินลดความทรมานจากการขาดนิโคติน แต่ก็จำเป็นต้องใช้ความตั้งใจและการควบคุมทางการแพทย์ควบคู่ไปด้วย และหากเปรียบเทียบสารชดเชยนิโคตินอื่นๆ เช่น แผ่นแปะนิโคตินกับบุหรี่ไฟฟ้า สิ่งที่แตกต่างคือบุหรี่ไฟฟ้าทดแทนบุหรี่มวนได้มาก เนื่องจากแผ่นแปะมีนิโคตินไม่สูง รวมถึงไม่เข้าสู่สมองเร็ว ส่วนบุหรี่ไฟฟ้านั้น แม้จะสามารถเลือกระดับนิโคตินได้ แต่การส่งสารนิโคตินเข้าสู่สมองเร็วไม่แพ้บุหรี่ธรรมดา ทำให้ตอบสนองต่ออารมณ์และความเคยชินได้มากกว่า

     อาจกล่าวโดยสรุปแบบอนุมานได้ว่า ในขั้นตอนการเลิกบุหรี่ด้วยบุหรี่ไฟฟ้านั้น เป็นไปได้ในลักษณะการได้รับนิโคตินในปริมาณที่น้อยลง และปลอดภัยขึ้นจากการที่ไม่ใช้วิธีการเผาไหม้เพื่อลดอาการทุกข์ทรมาน หงุดหงิดง่าย ปวดศีรษะจากการขาดนิโคติน ซึ่งหากเทียบกับสารทดแทนอื่นๆ อย่างยา หรือแผ่นแปะนิโคติน บุหรี่ไฟฟ้ายังตอบสนองด้านพฤติกรรมที่มีลักษณะคล้ายบุหรี่มวนด้วยการใช้งานแบบสูบเข้า และมีการขึ้นลงของปริมาณนิโคตินในร่างกาย

     ทว่าจะเป็นเช่นไรนั้น สำคัญที่ว่านักสูบจะใช้เพียงเพื่อเป็น ‘ทางผ่าน’ สำหรับการเลิกบุหรี่ หรือเพียงเปลี่ยนวิธีนำเข้านิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดเข้าสู่ร่างกาย ต้องถามใจตัวเองดู

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising