ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน และภาคการผลิตไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว สงครามการค้ารอบใหม่ การส่งออกและการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเติบโตช้าลง กระทั่ง เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่ไม่อาจคาดเดาได้ ทั้งหมดล้วนเป็น “ความเสี่ยง” และเป็นอีกบทพิสูจน์เศรษฐกิจไทยปีนี้อย่างมีนัยสำคัญ
ล่าสุด ภาคเอกชนโดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ เสนอรัฐสร้างมาตรฐานใหม่ 8 ข้อ เรียกความเชื่อมั่นประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งเบื้องต้น มูลค่าเชิงเศรษฐกิจที่จะหายไปนั้นอยู่ที่ 3,000-5,000 ล้านบาท
วันที่ 31 มี.ค. พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทยคนใหม่ กล่าวว่า ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ หอการค้าฯ ขอส่งกำลังใจไปยังทุกท่านและครอบครัวที่ประสบภัย รวมถึงเจ้าหน้าที่และบุคลากรทุกฝ่ายที่ปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลืออย่างไม่ลดละ และขอยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถเดินหน้าต่อได้ หากมีการบริหารจัดการร่วมกันอย่างเต็มที่จากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว โปร่งใส และการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง
หอการค้าไทยขอชื่นชมและเป็นกำลังใจต่อหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรวมถึงหน่วยงานความมั่นคงที่ระดมความช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.)ที่ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพร้อมระดมทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบและประเมินสภาพอาคารอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ
ทั้งนี้หอการค้าไทยขอให้ทางรัฐบาลช่วยประสานงานไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ให้มีหน่วยงานกลางที่ช่วยประสานงานเข้าแก้ปัญหาในรูปแบบเดียวกันกับกรุงเทพมหานครนอกจากนั้น ยังขอชื่นชมหน่วยงานต่างๆ ที่ได้จัดมาตรการที่เหมาะสมและรวดเร็ว มายังประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ อาทิ
- มาตรการ “พักหนี้-ลดดอกเบี้ย” ของ ธปท. รวมถึง 7 ธนาคารพาณิชย์ SME D Bank และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
- มาตรการด้านประกันภัย จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย ที่เร่งดำเนินการช่วยเหลือและจ่ายค่าสินไหมให้ผู้ถือกรมธรรม์ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ
ชงรัฐสร้างมาตรฐานใหม่ 8 ข้อ เรียกความเชื่อมั่นประชาชนและภาคธุรกิจ
- เร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในตึกอาคารอย่างรวดเร็วที่สุด โดยร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งดำเนินการสืบหาข้อเท็จจริงเพื่อเป็นแบบอย่างในการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต
- กำหนดให้มีตรวจสอบโครงสร้างอาคาร ทั้งสำนักงาน โรงงาน อาคารสูง และสิ่งปลูกสร้างในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย รวมถึงสอบหาข้อเท็จจริงถึงปัญหาที่เกิดเหตุขึ้น
- เร่งจัดทำระบบเตือนภัยพิบัติไปสู่ภาคประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีโดยด่วน และการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงและซักซ้อมแผนฉุกเฉิน ในกรณีภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั้งภาคประชาชน ภาคสังคม และภาคธุรกิจ พร้อมสนับสนุนระบบสื่อสารฉุกเฉิน และอบรมเจ้าหน้าที่ในสถานประกอบการ
4. การส่งเสริมมาตรฐานผู้ออกแบบ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ระบบควบคุมอาคารและการควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐาน ในทุกจังหวัด โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ เพื่อเสริมความเชื่อมั่นต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์
5. เร่งรัดมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประกอบการรายย่อย SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ รวมถึงการประสานผู้ประกอบการด้านก่อสร้างและวัสดุ เพื่อซ่อมแซมอาคารและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพ ราคาประหยัด อันจะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน
6. การสื่อสารเชิงรุก เชิงบวกและสร้างความเข้าใจร่วมกับภาคีเครือข่ายในทุกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนและนักลงทุนมั่นใจว่าไทยสามารถบริหารสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
7. รัฐบาลควรมีหน่วยงานกลางที่จะเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ เพื่อสื่อสารให้ทันเวลา โปร่งใส อย่างถูกต้องตามสถานการณ์ที่เป็นจริงให้กับสาธารณชนและต่างประเทศได้รับทราบ
8. หอการค้าไทยกำลังดำเนินการจัดตั้งศูนย์ช่วยแก้ไขปัญหาการช่วยเหลือ SMEs และสมาชิก อาทิ การช่วยเหลือซ่อมแซมอาคารที่ได้รับผลกระทบ หรือมาตรการสินเชื่อ เพื่อแก้ไขผลกระทบดังกล่าว
“แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ แต่ถ้าเราสร้างการรับมือ การสื่อสารได้ก็จะดีบทเรียนแผ่นดินไหวครั้งนี้ได้สร้างความตื่นตัวเรื่องภัยพิบัติให้คนไทยมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติอื่นต่อไป” พจน์ กล่าว
ส่วนผลกระทบด้านท่องเที่ยวไปจนถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ เชื่อว่ายังไม่ผลกระทบ“ทั้งหมดอยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่นของรัฐบาล” ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนมั่นใจ
จับตา 2 เม.ย.นี้ สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าอาจกระทบ ‘สินค้าเกษตร’
สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ วันนี้เกิดเหตุแผ่นดินไหวจึงอาจต้องไปแก้ปัญหานี้ก่อน ส่วนเศรษฐกิจจะโตที่ระดับ 3% ได้หรือไม่นั้น รัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ แก้ปัญหาหนี้ ส่วนด้านส่งออก เชื่อว่าเดือนมี.ค. นี้อาจโตต่อเนื่อง แต่อาจโตลดลงจากสองเดือนก่อนหน้าเหลือ 1 digit
“ที่ต้องจับตาคือ ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในวันที่ 2 เม.ย.นี้ จะมีผลต่อสินค้าใดบ้าง ซึ่งเบื้องต้น อาจกระทบสินค้าเกษตรและอาหารแต่ก็อาจเป็นโอกาสให้ไทยส่งออกสินค้าได้มากขึ้น”
ด้านธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลกระทบเหตุการณ์แผ่นดินไหว กับ “THE STANDARD WEALTH” ว่า แน่นอนว่ามิติแรกคือความเสียหายทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องซ่อมแซม ซ่อมบำรุง
อีกมิติเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในวันที่เกิดเหตุที่มีกิจกรรมอีเวนต์และสถานการณ์หลังจากนั้น หลายสถานที่ยังรอการตรวจสอบ ภาคธุรกิจ รัฐบาลหลายแห่งประกาศ Work from home จึงส่งผลโดยตรงต่อการชะลอการจับจ่ายของผู้บริโภค น้อยลง รวมถึงการทานอาหารนอกบ้าน น่าจะมีผลกระทบบ้าง ทั้งนี้ ภาพรวมการตรวจสอบต่างๆของไทยยังปกติ ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ
อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ที่น่าจะลากยาวกระทบท่องเที่ยว บรรยากาศในช่วงสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งหลายภาคส่วนกังวลว่าต่างชาติจะกล้าเดินทางมาเที่ยวหรือไม่
“กรณีนี้ประเมินว่าหากไม่มีเหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อกหรือผลกระทบตามมา ก็น่าจะผ่อนคลาย”
แผ่นดินไหวสะเทือนเศรษฐกิจ 3,000-5,000 ล้านบาท บทเรียนครั้งใหญ่ภาคอสังหา และประชาชน
เมื่อถามถึง ผลกระทบภาพรวมประเมินแล้ว มูลค่าความเสียหายน่าจะอยู่ที่ราวๆ 3,000-5,000 ล้านบาท เฉพาะเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจที่หายไประยะสั้น
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องประเมินระยะยาวที่คาดว่าน่าจะมีการ เติมเข้ามาในระบบไม่ว่าจะเป็นเงินประกัน การซ่อมแซม ภาคประชาชนกลับมาจับจ่ายเป็นปกติ
ทั้งนี้ กรณีความกังวลอาฟเตอร์ช็อกจะมีผลต่อการตัดสินใจมาเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากน้อยแค่ไหนนั้น ธนวรรธน์ มองว่า เบื้องต้นหากดูจากสถานการณ์เมียนมาถือว่ายังไม่มีอาฟเตอร์ช็อก และหากดูเหตุการณ์บันทึกสถิติเหตุการณ์ซ้ำก็ไม่มี สถานการณ์โดยรวม จึงมองว่านักท่องเที่ยวเข้าใจ ไม่น่าจะกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์
ส่วนผลกระทบภาคอสังหาริมทรัพย์ ในระยะสั้น คาดว่าจะมีการตรวจสอบจากบุคคลที่ 3 เอเจนต์ สำรวจอาคาร บริษัทอสังหาริมทรัพย์ นิติบุคคลดำเนินการ ตามขั้นตอน แม้คอนโดมิเนียมมีผลกระทบบ้าง แต่โดยรวมไม่มีตึกที่พังทลาย
“ดังนั้น บทเรียนในอนาคต วงการอสังหาริมทรัพย์ไทย น่าจะได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ ทั้งการออกแบบอาคาร โครงสร้างอาคาร ในอนาคตต้องมีการวางแผนเพื่อรับมือภัยพิบัติและแผ่นดินไหวมากขึ้น รวมถึงการสร้างการรับรู้ของประชาชน ให้ตระหนักถึงภัยธรรมชาติ เพื่อรับมืออย่างทันท่วงที”
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยยังโตได้ในกรอบ 2.5-3% และเหตุการณ์นี้น่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อ GDP ภาพรวม แต่บทเรียนครั้งนี้ ผมมองว่า รัฐบาลตอบสนองเร็ว เอกชน ทีมกู้ภัยทำงานเต็มที่ หลายอาคารก็รับมือได้ดีและตอบสนองเร็ว เช่นวันที่เกิดเหตุประชาชนทุกคนก็รับรู้เร็ว คนไทยสามารถรับมือได้ดี สิ่งเหล่านี้เราต้องเรียนรู้ร่วมกัน”