ถ้าให้นึกถึงอุปกรณ์จัดแต่งทรงผมที่ล้ำสมัยและตอบโจทย์การใช้งานที่ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ ชื่อแรกๆ ที่นึกถึงคงหนีไม่พ้นแบรนด์ Dyson ซึ่งทางบริษัทและทีมวิศวกรก็ได้ปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างไม่หยุดนิ่งเช่นกัน ล่าสุดเพิ่งเปิดตัว Dyson Airwrap Multi-Styler รุ่นใหม่อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของ Dyson ถูกกล่าวถึงมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าคนที่เป็นแฟนตัวยงของแบรนด์คงได้เห็นรีวิวที่แสดงคุณสมบัติของฟังก์ชันล้ำๆ กันไปแล้ว และนำมาซึ่งความอยากได้อยากมี แต่หลายคนก็ยังคิดหนัก เพราะราคาของ Dyson Airwrap Multi-Styler นั้นไม่ใช่หลักพัน แต่เป็นหลักหมื่น (ราคาปัจจุบัน 19,900 บาท) นำมาสู่คำถามต่อไปว่า ‘ทำไมถึงมีราคาแพง?’ แพงอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ กว่าจะมาเป็น Dyson Airwrap Multi-Styler ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ซึ่ง THE STANDARD POP จะมา Cracked ให้ทุกคนได้รู้ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของการพัฒนา Dyson ไปพร้อมๆ กัน และเมื่ออ่านจบแล้ว คุณอาจจะให้คำตอบตัวเองได้ว่าความแพงของ Dyson นั้น คู่ควรแก่การครอบครองเป็นเจ้าของหรือไม่
Dyson คืออะไร?
- Dyson คือบริษัทด้านการวิจัยและเทคโนโลยีระดับโลก ด้วยงานด้านวิศวกรรม วิจัย พัฒนา ผลิต และทดสอบการปฏิบัติการในสิงคโปร์ สหราชอาณาจักร มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เริ่มต้นจากโรงรถในสหราชอาณาจักร Dyson เติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1993 ปัจจุบัน Dyson มีสำนักงานเทคโนโลยี 2 แห่งในสหราชอาณาจักร ภายใต้พื้นที่กว่า 800 เอเคอร์ ในมาล์มสบิวรีและฮัลลาวิงตัน และสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์ Dyson ได้ลงทุนในสำนักงานที่วิลต์เชอร์และห้องทดลองไปกว่า 1 พันล้านปอนด์ เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของ Dyson ในอนาคต
- Dyson มีพนักงานกว่า 13,000 คนทั่วโลก รวมถึงวิศวกรกว่า 5,000 คน ในการทำงานค้นคว้า วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีที่มุ่งเปลี่ยนแปลงโลก โดย Dyson สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใน 84 ประเทศทั่วโลก มีร้าน Dyson Demo Store กว่า 318 แห่ง โดยเปิดร้านใหม่ในปี 2021 จำนวน 50 ร้านทั่วโลก รวมถึงร้าน Dyson Virtual Reality Demo Store ด้วย
- Dyson จะควักเงินลงทุนเป็นมูลค่า 2.75 พันล้านปอนด์ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงโลก โดยภายในปี 2022 นี้ทาง Dyson จะลงทุนอีก 600 ล้านปอนด์ในด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์ และห้องทดลอง Dyson มีทีมวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วโลกที่ร่วมพัฒนาแบตเตอรี่แบบโซลิดสเตต ดิจิทัลมอเตอร์ความเร็วสูง ระบบเซ็นเซอร์และวิชั่นหุ่นยนต์ เทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่อง และปัญญาประดิษฐ์ ตั้งแต่ประดิษฐ์เครื่องดูดฝุ่นแบบไร้ถุงเครื่องแรกในปี 1993 Dyson ได้สร้างเทคโนโลยีที่สามารถแก้ปัญหาในหลากหลายแขนง ตั้งแต่การดูแลเส้นผม การกรองอากาศ หุ่นยนต์ โคมไฟ และเครื่องเป่ามือ
ไทม์ไลน์เปิดตัวผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมของ Dyson ที่ผ่านมามีอะไรบ้าง?
- 2006 เปิดตัวไดร์เป่าผม Dyson Supersonic™ Hair Dryer
- 2018 เปิดตัว Dyson Airwrap™ Dryer
- 2019 เปิดตัว New Attachment for Dyson Supersonic™ Hair Dryer
- 2020 เปิดตัว Dyson Corrale™ Straightener
- 2022 เปิดตัว Dyson Airwrap Multi-Styler
ข้อมูลและตัวเลขที่น่าสนใจของ Dyson มีอะไรบ้าง?
- เทคโนโลยีล่าสุดของ Dyson สำหรับการสร้างบ้านที่มีสุขภาพดี เช่น Dyson V15 Detect™ Vacuums และ Dyson Purifier Cool Formaldehyde เป็นผลมาจากการลงทุนมูลค่า 130 ล้านปอนด์ และ Dyson จะลงทุนเพิ่มอีก 2.75 พันล้านปอนด์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
- ในปี 2020 Dyson ผลิตสินค้าทุกๆ 1.26 วินาที
- Dyson ได้ศึกษาเกี่ยวกับคุณภาพอากาศเป็นวงกว้างในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ซึ่งทำการวัดด้วยกระเป๋า Dyson Air Quality Backpack ใน 14 เมืองทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย และรวมถึงข้อมูลจากเครื่องกรองอากาศ Dyson จากครัวเรือนทั่วโลก
- สืบเนื่องจากการระบาดของโควิด Dyson ได้เปิดตัวงานวิจัย Dyson Global Dust Study เป็นครั้งแรกในปี 2020 เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการทำความสะอาดและการตระหนักรู้เกี่ยวกับฝุ่นของผู้คน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการสำรวจครั้งนี้จำนวน 10,754 คนจากทั่วโลก
- Dyson ได้ทำการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยในศาสตร์ของการจัดแต่งทรงมานานกว่าทศวรรษ โดยเทคโนโลยีล่าสุดอย่างเครื่องหนีบผม Dyson Corrale™ ใช้เวลาในการสร้างถึง 7 ปี และลงทุนในการค้นคว้าและพัฒนาไปกว่า 25 ล้านยูโร รวมถึงผ่านการทดลองใช้งานโดยผู้ใช้จริงใน 5 ประเทศ จำนวนกว่า 800 คน เป็นเวลากว่า 600 ชั่วโมงเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์
- กว่า 3 ปีของการวิจัย พัฒนา และทดลองขึ้นผลิตภัณฑ์ตัวอย่างกว่า 700 ชิ้น เครื่องเป่ามือ Dyson Airblade™ 9kJ คือเครื่องเป่ามือที่มาพร้อมแผ่นกรองอากาศ HEPA ที่แห้งเร็วที่สุดและประหยัดพลังงานมากที่สุด นอกจากนี้ยังผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่ากระดาษเช็ดมือถึง 85% และมีค่าใช้จ่ายลดลง 99% เมื่อใช้โหมดประหยัดพลังงาน มีการประมาณการไว้ว่า เทคโนโลยี Dyson Airblade จะช่วยเป่ามือผู้คนจากทั่วโลกให้แห้งได้มากกว่า 150 ล้านคู่ต่อวัน
- ในปี 2020 รางวัล James Dyson Award สามารถบรรลุเป้าหมายในการสนับสนุนด้านการเงินแก่นักประดิษฐ์รุ่นใหม่กว่า 200 คน โดย 65% ของผู้ชนะในระดับสากลประสบความสำเร็จกับการสานต่อโครงการของพวกเขาในเชิงพาณิชย์ ในขณะที่สตาร์ทอัพถึง 90% ต้องประสบกับความล้มเหลว ซึ่งโจทย์ของรางวัลนี้คือ “ออกแบบอะไรสักอย่างที่แก้ไขปัญหาอย่างหนึ่งได้” โจทย์นี้เป็นเพียงแนวทางอย่างกว้างๆ ที่บริษัท Dyson กำลังมองหานักออกแบบที่คิดต่าง เพื่อให้สร้างผลิตภัณฑ์ที่ทำงานได้ดีขึ้น
สรุป
- จะเห็นว่า Dyson เป็นแบรนด์ที่ทุ่มเทในการลงทุนวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีผ่านเม็ดเงินที่สูงมาก และใช้ทีมวิศวกรสูงถึงกว่า 5,000 คน ในการวิจัย พัฒนา และสร้างอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปข้างหน้า
- กว่าจะอนุมัติให้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมออกมาวางจำหน่ายได้ต้องผ่านการสร้างถึง 7 ปี (เช่นในรุ่นเครื่องหนีบผม) และลงทุนด้วยเงินจำนวนมากในการค้นคว้าและพัฒนา รวมถึงการทดลองใช้งาน ผ่านระยะเวลาในการตรวจสอบกว่า 600 ชั่วโมง ในผู้ใช้จริง 5 ประเทศ รวม 800 คน จึงมั่นใจได้ว่าใช้แล้วตอบโจทย์ความต้องการและมีความปลอดภัยอย่างแน่นอน
- มีสถาบันวิศวกรรมและเทคโนโลยี Dyson เป็นของตัวเอง เพื่อศึกษาด้านวิศวกรรม เพื่อสร้างคนสร้างอาชีพให้ต่อยอดในวงการวิศวกรรมที่จะเป็นประโยชน์และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้
“การสร้างสรรค์ไอเดียเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า และทำให้มันเกิดขึ้นจริงถึงแม้ว่ามันจะดูแทบเป็นไปไม่ได้ นี่คือความฝันของผมจนถึงทุกวันนี้” / James Dyson
ภาพ: Courtesy of Dyson