×

วัคซีนในฝัน vs. วัคซีนที่เรามี ประสิทธิภาพที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจฉีดก่อนหรือรอต่อไป

15.05.2021
  • LOADING...
ประสิทธิภาพวัคซีน

วันนี้ (15 พฤษภาคม) ในรายการพิเศษ THE STANDARD VACCINE FORUM ตอบทุกคำถามวัคซีนโควิด-19 ในหัวข้อ ‘วัคซีนในฝัน vs. วัคซีนที่มี ฉีดเลยหรือรอก่อน’ นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ อ.นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมพูดคุยตอบคำถามที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 และให้ข้อมูลรอบด้านก่อนที่ประชาชนจะตัดสินใจว่าจะฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่

 

นพ.ศุภโชค เริ่มต้นการพูดคุยด้วยคำถามที่ว่า “ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าเราฉีดวัคซีนไปทำไม” ก่อนจะแลกเปลี่ยนมุมมองว่า วัคซีนที่ดีในฐานะแพทย์ด่านหน้าคือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงพอ มีความปลอดภัยที่มากพอ และกระจายการฉีดวัคซีนได้ทั่วถึง

 

ผลลัพธ์ของวัคซีนที่เราต้องการมี 3 อย่าง

 

ขั้นแรก คือ ‘กันตาย’ 

เมื่อฉีดแล้วเกิดติดเชื้อ วัคซีนจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา กรณีโควิด-19 คือ เชื้อลงปอดน้อยลง หรือรับเชื้อมาแล้วอาการไม่หนัก ไม่ต้องเข้า ICU 

 

ขั้นที่ 2 คือ ‘กันติด’ 

เมื่อฉีดวัคซีนไปแล้วสามารถสร้างภูมิต้านทานได้มากพอที่จะไปในชุมชน ไปในที่ที่มีโอกาสที่จะรับเชื้อ แต่มีภูมิต้านทานสูงพอที่จะทำให้ไม่ติดเชื้อ

 

ขั้นที่ 3 คือ ‘กันหมู่’ 

นี่คือคุณสมบัติของวัคซีนในฝัน ซึ่งต้องมีประสิทธิภาพที่สูงพอ และสามารถฉีดกระจายในประชากรที่มากพอ การที่ทุกคนฉีดวัคซีนจะเหมือนมีโล่ป้องกันของตัวเอง เพื่อที่จะปกคลุมไปทั่วหรือที่เราเรียกว่า ‘การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่’ หมายความว่าถ้าเราฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในจำนวนที่มากพอ จะทำให้เราสามารถปกป้องคนอื่นที่ยังไม่ฉีดวัคซีนไม่ให้ติดเชื้อได้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุดและท้าทายที่สุด 

 

ข้อเท็จจริง คือไม่ใช่วัคซีนทุกชนิดที่จะสามารถทำได้ทั้ง 3 ผลลัพธ์ วัคซีนบางตัวอาจจะทำได้แค่กันติดและกันตายได้ แต่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ในฐานะแพทย์ สิ่งที่เราต้องการตอนนี้คือ บันไดขั้นแรกหรือกันตาย ส่วนขั้นต่อๆ ไปจะได้หรือไม่คือสิ่งที่เราจะต้องพิจารณาต่อไป

 

ติดตามชมย้อนหลังได้ที่ https://thestandard.co/the-standard-vaccine-forum-live/

 

อิสราเอลกับวัคซีน Pfizer ผลลัพธ์: กันติด กันตาย กันหมู่

 

นพ.ศุภโชค เปิดเผยข้อมูลในประเทศอิสราเอล ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบยอดผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ของอิสราเอลในช่วงปี 2020 จะพบว่า ยอดผู้ติดเชื้อของอิสราเอลค่อนข้างสูง บางช่วงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงถึง 5,000-6,000 คน บางช่วงขึ้นไปเกือบหมื่นคน สิ่งที่เขาทำคือการเริ่มแคมเปญฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มในวันที่ 20 ธันวาคม 2020 และวัคซีนส่วนใหญ่ของอิสราเอลคือ Pfizer เป็นหลัก 

 

สังเกตว่าหลังเริ่มฉีดวัคซีนในช่วงแรก ยอดผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มจำนวนสูงขึ้น แต่หลังจากนั้นยอดผู้ติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลง จนสุดท้ายผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเหลืออยู่ที่ 20-30 คนต่อวัน 

 

ปัจจุบันอิสราเอลมีผู้ฉีดวัคซีน 1 เข็มแล้วประมาณ 60% ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ประมาณ 56% ซึ่งช่วงแรกที่ฉีดวัคซีนครบ 50% ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อวัคซีนออกฤทธิ์ สร้างภูมิต้านทาน พบว่าการระดมฉีดวัคซีนช่วยลดเคสใหม่ได้จริง เช่นเดียวกับอัตราผู้เสียชีวิตที่ลดลงตามจำนวนผู้ติดเชื้อ จึงทำให้หลายคนคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่อิสราเอลจะเริ่มเกิด Herd Immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว เป็นเหตุผลให้อิสราเอลผ่อนคลายมาตรการการสวมหน้ากากอนามัยในบางสถานที่ และทยอยเปิดสถานที่ต่างๆ หลังการล็อกดาวน์ 

 

ที่น่าสนใจคือ สายพันธุ์โควิด-19 กลายพันธุ์ที่แพร่เชื้อในอิสราเอล คือสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ซึ่งเป็นการยืนยันได้ว่าวัคซีน Pfizer ลดการแพร่เชื้อได้แม้จะมีเชื้อกลายพันธุ์

 

ติดตามชมย้อนหลังได้ที่ https://thestandard.co/the-standard-vaccine-forum-live/

 

สหรัฐอเมริกากับวัคซีน Pfizer และ Moderna ผลลัพธ์: กันติด กันตาย กันหมู่

 

นพ.ศุภโชค กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาเคยเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกเมื่อปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ายอดสูงสุดของผู้ติดเชื้อรายใหม่คือเกือบ 250,000 รายต่อวัน ซึ่งสหรัฐฯ เริ่มระดมฉีดวัคซีนอย่างจริงจังในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา 

 

สิ่งที่เห็นได้ชัดหลังการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ คืบหน้าไปมาก จากยอดผู้ป่วยรายใหม่หลักแสนต่อวัน ลงมาเหลือประมาณหลักหมื่นต่อวัน ซึ่งลดลงเป็นสิบเท่า โดยวัคซีนหลักที่สหรัฐฯ ใช้คือ Pfizer และ Moderna ที่เป็นวัคซีน mRNA และอีกตัวคือ Johnson & Johnson ที่เป็นไวรัลเวกเตอร์ ซึ่งเทคโนโลยีคล้ายกับ AstraZeneca ปัจจุบันสหรัฐฯ ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วประมาณ 47% และฉีดครบ 2 โดสประมาณ 36% หมายความว่าการที่เริ่มฉีดวัคซีนคืบหน้าแม้จะยังไม่ครบตามเป้า แต่ถ้าวัคซีนมีประสิทธิภาพก็สามารถลดผู้ติดเชื้อรายวัน และลดการเสียชีวิตได้ จนกระทั่งตอนนี้ CDC ออกคำแนะนำใหม่ให้ประชาชนไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในบางกิจกรรม

 

ติดตามชมย้อนหลังได้ที่ https://thestandard.co/the-standard-vaccine-forum-live/

 

สหราชอาณาจักรกับวัคซีน AstraZeneca ผลลัพธ์: เพียงเข็มเดียว กันติด กันตาย กันหมู่

 

นพ.ศุภโชค ระบุว่า อังกฤษเคยผ่านช่วงที่นายกรัฐมนตรีเคยประกาศจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จากการที่ทำให้คนติดเชื้อมากๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นไปไม่ได้และมีผลเสียมากกว่าผลดี ทำให้อังกฤษในตอนนั้นมีผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงขึ้นวันละ 60,000-70,000 ราย หลังจากนั้นจึงมีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีน 

 

กรณีที่น่าสนใจของอังกฤษคือมีวัคซีนในมือ ได้แก่ Pfizer Moderna และ AstraZeneca มี 2 ทางเลือกระหว่างการกระจายฉีดวัคซีนให้ครบทุกคน คนละ 1 เข็ม หรือจะเก็บไปฉีดให้ประชาชนบางส่วน แต่ฉีดคนละ 2 เข็ม ซึ่งตอนนั้นเขาตัดสินใจปูพรมฉีดอย่างน้อยคนละ 1 เข็มไปก่อนประมาณ 50% สิ่งที่น่าสนใจคือสัดส่วนการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มของอังกฤษไม่ได้เยอะ แต่พบว่าการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มทำให้ยอดผู้ป่วยรายวันลดลงได้เหมือนกัน และลดลงจากหลักแสนจนเหลือหลักพัน 

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ มีผลวิจัยในอังกฤษที่ระบุว่า การฉีดวัคซีน Pfizer หรือ AstraZeneca อย่างน้อย 1 เข็มจะช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อให้คนในบ้านได้ประมาณ 50% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยผลลัพธ์นี้จะเห็นได้ชัดเจนหลังฉีดวัคซีนตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป เพราะฉะนั้นจึงเป็นการอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าทำไมยอดผู้ติดเชื้อในอังกฤษถึงลดลง ทั้งๆ ที่ฉีดแค่ 1 เข็มเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการเดินเกมที่ถูกต้อง

 

ติดตามชมย้อนหลังได้ที่ https://thestandard.co/the-standard-vaccine-forum-live/

 

ชิลีกับวัคซีน Sinovac ผลลัพธ์: กันตาย แต่ไม่กันติด

 

นพ.ศุภโชค ระบุว่า ก่อนอื่นต้องให้ข้อมูลก่อนว่า ที่ชิลีเริ่มฉีดวัคซีน Sinovac ประมาณปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา จะเห็นว่าส่วนใหญ่ประชากรได้รับวัคซีน 1 เข็ม ประมาณ 46% ขณะที่ผู้ได้รับวัคซีน 2 เข็ม อยู่ที่ประมาณ 39% 

 

ในชิลีช่วงที่มีการฉีดวัคซีน ยอดผู้ติดเชื้อช่วงแรกดูเหมือนว่าจะลดลง แต่สักพักก็เริ่มทะยานสูงขึ้น แต่เงื่อนไขของชิลีคือมีการระบาดของสายพันธุ์บราซิล P.1 และสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ด้วย ซึ่งผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส มีเพียง 6 ล้านคน แต่ Sinovac ภูมิคุ้มกันจะขึ้นได้ดีก็ต่อเมื่อฉีดครบ 2 เข็มไปแล้ว แต่นโยบายตอนนั้นของชิลีคือฉีดวัคซีนครบ 1 เข็ม แล้วลดการล็อกดาวน์ทันที ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น ขณะที่ช่วงหลังยอดผู้ติดเชื้อลดลงหลังมีการฉีดครบ 2 เข็ม ทำให้ตอบได้ยากว่าเกิดจากการล็อกดาวน์ซ้ำ หรือเพราะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มจนเกิดภูมิต้านทาน

 

“ถ้าถามตอนนี้ต้องบอกตามตรงว่า Sinovac ยังไม่สามารถแสดงสิ่งที่ AstraZeneca หรือ Pfizer ทำได้ คือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่”

 

นพ.มานพ ระบุเพิ่มเติมว่า “ข้อมูลทางวิชาการไม่หลอกใคร จากข้อมูลที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า mRNA วัคซีนเป็นวัคซีนกลุ่มที่มีประสิทธิภาพสูงมาก และสูงกว่าชนิดอื่นๆ ชัดเจน ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าช่วยทั้งลดป่วย ลดตาย ลดการติดเชื้อ และลดการแพร่เชื้อได้ ซึ่งเห็นผลตั้งแต่เข็มแรก รองลงมาคือวัคซีน AstraZeneca ที่มีประสิทธิภาพไล่เลี่ยกัน

 

“ปัญหาของวัคซีนเชื้อตายอย่าง Sinovac คือประสิทธิภาพอาจจะยังสู้ไม่ได้ และใช้เวลานานกว่าที่ประสิทธิภาพจะถึงระดับที่ป้องกันการติดโรคได้ โดยเฉพาะในชิลี ที่ฉีดไปเข็มเดียวแทบไม่เห็นผลอะไรเลย แสดงว่าประสิทธิภาพยังไม่เพียงพอ และต้องการการกระตุ้นเข็มที่ 2 เมื่อรวมกับการบริหารจัดการในประเทศชิลีที่ทำให้เกิดช่องโหว่ขึ้น เช่น การระดมฉีดเข็มที่ 1 ไปก่อน หรือการคลายล็อกดาวน์ ก็ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่ไทยจะสามารถนำบทเรียนนี้มาบริหารจัดการวัคซีนให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้”

 

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือวัคซีน Sinovac สามารถลดอัตราผู้เสียชีวิตและลดความรุนแรงของโรคได้จริง ถึงแม้จะมีผู้ป่วยรายวันที่เพิ่มอยู่ 

 

“ดังนั้นจะพูดว่าวัคซีน Sinovac ไม่มีประโยชน์เลยคงพูดไม่ได้ เพราะประโยชน์ก็มี อย่างน้อยบันไดขั้นแรกของวัคซีนก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่จะกันติดได้แค่ไหน ยังคงต้องติดตามผลกันต่อไปในตอนที่ฉีดครบ 2 เข็มไปแล้ว”

 

ติดตามชมย้อนหลังได้ที่ https://thestandard.co/the-standard-vaccine-forum-live/

 

ทางเลือกของไทยในวันที่มีเพียง Sinovac และ AstraZeneca จะฉีดก่อนหรือรอต่อไป?

 

นพ.ศุภโชค เปิดเผยข้อมูลการฉีดวัคซีนในประเทศไทยที่ขณะนี้ยังทำได้น้อย โดยประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกในเดือนมีนาคม 2021 ซึ่งขณะนั้นเราได้วัคซีน Sinovac และ AstraZeneca บางส่วน แต่หลังฉีดไปแล้วบางส่วนกลับพบคลัสเตอร์ทองหล่อที่แพร่ระบาด ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นประมาณวันละ 2,000 คน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นหลัก 20-30 คน 

 

มีข้อเสนอว่าหรือไทยจะระดมฉีด 1 เข็มให้ครอบคลุมเหมือนในอังกฤษได้หรือไม่ แต่จากประสบการณ์ นพ.ศุภโชค ระบุว่า มีคนไข้ที่ฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มประมาณ 2 สัปดาห์แล้ว แต่ก็ยังติดเชื้อเข้ามา ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ แต่พบว่าอาการของเขาไม่รุนแรง เอกซเรย์ก็ไม่พบว่ามีเชื้อลงปอด อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบเคสผู้ป่วยลักษณะนี้ที่มากพอจนจะสามารถบอกได้ว่าจะเป็นแบบนั้นเสมอไป แต่เมื่อดูจากชิลีจะเห็นว่าอัตราผู้เสียชีวิตไม่สูงนัก 

 

“ฉะนั้นความเห็นของผมคือ Sinovac ก็โอเคที่จะฉีดให้ครบ 2 เข็ม อย่างน้อยก็กันตายไว้ก่อน 

 

“บางคนบอกว่าอยากรอ mRNA แต่ผมไม่แน่ใจว่าถ้าเราตัดสินใจรอ แล้วเราจะโอเคไหมกับการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างได้ตลอด ถ้าคุณจะรอ คุณต้องมั่นใจว่าจะสามารถป้องกันตัวเองได้แน่ๆ 100% แต่ถ้าคุณอยู่ในที่ที่เสี่ยง ทำงานในพื้นที่แคบ หรือที่ที่มีคนพลุกพล่าน ถ้าตอนนี้เรามีวัคซีน และรู้แล้วว่าอย่างน้อยมันกันตายได้ ผมก็ยังแนะนำให้เขาฉีด”

 

นพ.ศุภโชค ระบุว่า ขณะนี้อัตราผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ของไทยจะใกล้ถึงจุดที่ ติด 100 คนแล้วตาย 1 คนแล้ว ขณะที่วัคซีนทุกตัวมีข้อดี ข้อด้อยแตกต่างกัน แม้แต่ Pfizer หรือ Moderna ที่คนชื่นชมก็มีข้อด้อยเรื่องการจัดเก็บและการขนส่งที่ต้องใช้ความเย็น -20 -70 ดังนั้นการกระจายวัคซีนจะยากกว่า 

 

ด้าน นพ.มานพ ระบุว่า “ถ้าคิดว่าจะรอดีหรือจะฉีดก่อน อยากให้คิดตรงนี้ว่า ‘เวลา’ มีต้นทุนเสมอ ทุกครั้งที่รอ เรายังคงเปิดโอกาสให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายเราได้อยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันจากวัคซีน

 

“ทุกคนมีคำถามไม่เหมือนกัน บางทีเราเข้าใจไปเองว่าเขากลัวเรื่องประสิทธิภาพหรือผลข้างเคียงของวัคซีน แต่จากประสบการณ์ผมพบว่า เกินครึ่งเขากังวลคำถามเฉพาะตัวของเขาเอง เช่น โรคประจำตัวหรือยาที่ใช้ประจำ ถ้าเราสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ จากประสบการณ์ที่เจอเกิน 90% เปลี่ยนใจหมด 

 

“ถ้าเราสื่อสารและตอบคำถามของเขาได้หมด ลงท้ายทุกคนจะฉีดหมด”

 

นพ.ศุภโชค ทิ้งท้ายว่า ในฐานะหมอ เราต้องอยู่ในจุดที่ไม่ได้ไปชื่นชมวัคซีน หรือไม่ไปด้อยค่าวัคซีนจนมันดูแย่กว่าที่มันเป็น เราต้องพูดกันตรงๆ ว่าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ หลายคนชอบพูดว่ามันเป็นหน้าที่ที่ต้องไปฉีดวัคซีน ถ้าไม่ฉีดเท่ากับไม่รับผิดชอบสังคม แต่จริงๆ มันเป็นสิทธิ์ของคนที่จะเอาอะไรเข้าไปในร่างกายของเขา เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะมีความสงสัย ความกังวล ความไม่มั่นใจ หน้าที่ของเราคือเราต้องทำให้เขารู้ว่าอะไรคืออะไร ตอบจนเขาคลายกังวล คลายข้อสงสัยที่เขาตั้งไว้ในใจ”

 

ติดตามชมย้อนหลังได้ที่ https://thestandard.co/the-standard-vaccine-forum-live/

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising