×

Downward & Upward Comparison: ทฤษฎีว่าด้วยการยกตนข่มท่านให้ตัวเองดูสูงส่ง และยกย่องผู้อื่นเกินไปจนตัวเองรู้สึกด้อยคุณค่า

27.02.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • Social Comparison Theory หรือทฤษฎีการเปรียบเทียบทางสังคม ถูกนำเสนอครั้งแรกโดยนักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกันชื่อ Leon Festinger เมื่อปี 1954 ซึ่งแบ่งเป็นสองประเภท คือการมองขึ้นบน (Upward Comparison) และการมองลงล่าง (Downward Comparison)
  • การเปรียบเทียบแบบมองขึ้นบนคือการที่เราเปรียบเทียบตนเองกับผู้ที่เราเชื่อว่าอยู่สูงกว่าเรา การเปรียบเทียบนี้นำไปสู่การโฟกัสที่จะพัฒนาตัวเอง เพิ่มความทะเยอทะยาน หรือพิจารณาว่าสิ่งใดที่ตัวเองขาด เพื่อที่จะไปสู่จุดนั้นหรือการประสบความสำเร็จในระดับเดียวกัน และทำสิ่งใดก็ตามเพื่อที่จะเท่าเทียมหรือเหนือกว่า
  • การมองลงล่างคือขั้วตรงข้ามของ Upward ที่จะเปรียบเทียบตัวเองกับผู้ที่ด้อยกว่าหรือมองเทียบให้ผู้นั้นด้อยกว่า ไปจนถึงด้อยค่าเพื่อให้ตัวเองรู้สึกอยู่ในตำแหน่งแห่งที่และสถานะที่สูงกว่า ส่งผลให้เรารู้สึกดีขึ้นเนื่องจากเป็นการมองที่จะเพิ่ม Self-Esteem กับลดความวิตกกังวล ซึ่งจะต่างกับแบบแรกตรงที่ครอบคลุมตั้งแต่เลเวลที่คนคนนั้นอยู่สูงจริง ไปจนถึงอยู่ต่ำกว่าแต่ทำให้ตัวเองสูง
  • นักจิตวิทยาชี้ว่าการเปรียบเทียบทั้งสองแบบคือสิ่งที่เซอร์เรียล เป็นสิ่งที่คนคิดกันไปว่าจริงและปล่อยให้มันมีอิทธิพลกับตัวเอง ถึงแม้ว่าการเปรียบเทียบทั้งสองรูปแบบในบางครั้งจะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นมาได้หรือมีข้อดีอยู่บ้าง แต่แรงสะท้อนจากการนำคุณค่าตัวเองไปพาดพิงผู้อื่นหลายๆ ครั้งก็ส่งผลลบที่ร้ายแรงอย่างที่ไม่คาดคิด ตั้งแต่สูญเสียความมั่นใจไปจนถึงสูญเสียตัวตนจนเกิดคำถามว่า ‘ไม่รู้อีกแล้วว่าเราเป็นใคร?’ ในโลกใบนี้

Social Comparison Theory หรือทฤษฎีการเปรียบเทียบทางสังคม ถูกนำเสนอครั้งแรกโดยนักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกันชื่อ Leon Festinger เมื่อปี 1954 ซึ่งสอดคล้องกับงานเขียนของ Herbert Hiram Hyman นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันเมื่อปี 1942 เช่นเดียวกัน

 

ทฤษฎีนี้ว่าด้วยเรื่องแรงขับของคนคนหนึ่ง การระบุตัวตน อารมณ์ คุณค่า ความสำเร็จ การตัดสินประเมินตัวเอง (Self-Evaluation) หรือการเคารพนับถือในตนเอง (Self-Esteem) ของแต่ละคนขึ้นอยู่กับอิทธิพลของสื่อที่เสพ กลุ่มสังคมรอบตัวที่คนเหล่านั้นอาศัยอยู่ สถานภาพทางสังคม และการเปรียบเทียบประเภทต่างๆ หรือกล่าวถึงความสูง-ต่ำทางความรู้สึกเมื่อใครสักคนนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น

 

โดยแบ่งเป็นสองประเภท คือการมองขึ้นบน (Upward Comparison) และการมองลงล่าง (Downward Comparison) กับผู้คนรอบตัวหรือคนที่จัดอยู่ในกลุ่มประเภทเดียวกันในสังคม ที่จะนำไปสู่สถานะ คุณสมบัติ ทัศนคติ ขีดความสามารถ จนถึงตัวตนของผู้มองเอง

 


บทความที่เกี่ยวข้อง:


 

ซึ่งการเปรียบเทียบทั้งสองแบบสามารถเกิดขึ้นได้แทบจะตลอดเวลาตั้งแต่รายละเอียดยิบย่อยใน 1 วันที่เราได้พบเห็นระหว่างช่วงตื่นนอนจนเข้านอน อย่างการเข้าร้านสะดวกซื้อแล้วเห็นว่าคนที่อยู่ข้างๆ หรือด้านหน้าเราซื้ออะไร ผลการเรียนเพื่อนในห้อง รถที่จอดข้างๆ หรือคนหุ่นดีรูปร่างเพอร์เฟกต์ในยิมเดียวกัน ไปจนถึงระดับที่ใหญ่กว่าอย่างเป้าหมายชีวิตและสิ่งที่กำลังทำอยู่อย่างหน้าที่การงาน ความสำเร็จ ชื่อเสียง และรายได้

 

Upward Comparison

การเปรียบเทียบแบบมองขึ้นบนคือการที่เราเปรียบเทียบตนเองกับผู้ที่เราเชื่อว่าอยู่สูงกว่าเรา การเปรียบเทียบนี้นำไปสู่การโฟกัสที่จะพัฒนาตัวเอง เพิ่มความทะเยอทะยาน หรือพิจารณาว่าสิ่งใดที่ตัวเองขาดเพื่อที่จะไปสู่จุดนั้นหรือการประสบความสำเร็จในระดับเดียวกัน และทำสิ่งใดก็ตามเพื่อที่จะเท่าเทียมหรือเหนือกว่า

 

ข้อดีของ Upward Comparison คือการทำให้คนคนหนึ่งถ่อมตัวหรือมีไฟที่จะไปต่อ และมีเป้าหมายชัดเจน เป็นรูปเป็นร่าง เพราะแทนที่จะตั้งใจว่า ‘เราจะต้องทำสิ่งนี้ให้ได้’ สิ่งที่มีคือเป้าหมายที่ต้องการไปถึงหรือข้ามผ่านที่เป็นรูปธรรม มีหน้าตา จับต้องได้ มองเขม็งด้วยความรู้สึกมุ่งมั่นได้ ในแง่หนึ่งมันจึงเป็นแรงดีด

 

แต่ในอีกแง่ก็มีข้อเสียตรงที่คนคนนั้นอาจเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่สูงไป (หรือทำให้ดูสูง) จนตัวเองรู้สึกด้อยคุณค่า ไม่เก่ง มีอาการ Imposter Syndrome (อาการคิดไปเองว่าตัวเองไม่เก่งจริง รอดมาถึงตรงนี้ได้เพราะโชคดี และวันหนึ่งจะโดนเปิดโปง) ไปจนถึงตั้งคำถามกับตัวเองและสงสัยว่าตัวเองยังค้นหาตัวเองไม่เจอหรือไม่ใช่ตัวจริง ซึ่งทำให้การมองบนกลายเป็นแรงกดตัวเองโดยไม่รู้ตัว

 

ยกตัวอย่างเช่น หากนาย ก. ต้องการจะรู้ว่าตัวเองมีขีดความสามารถระดับไหนในการแข่งขันคาราเต้ นอกจากสายที่คาดเอวกับจำนวนเหรียญแล้ว การเปรียบเทียบสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ Performance ของเพื่อนร่วมชั้นที่มีทั้งอายุน้อยกว่า เท่ากัน และมากกว่า ไปจนถึงเพื่อนโรงเรียนอื่น เพื่อนร่วมลีก และนักแข่งคาราเต้ระดับโลก การขีดเส้นนี้จะแบ่งให้นาย ก. เจอตำแหน่งของตัวเองในแนวตั้ง ซึ่งตำแหน่งนั้นจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับมุมมองที่นาย ก. มองผู้อื่น

 

ในการมองแบบ Upward Comparison นาย ก. ที่สายเขียว มองนาย ข. ที่สายดำ เป็นตัวท็อปของคลาส และมีความตั้งใจว่าจะเก่งให้เท่า เอาชนะให้ได้

 

วันหนึ่งนาย ก. สายดำเท่านาย ข. แต่นาย ก. ยังไม่เก่งเท่า ทางแยกเกิดเป็นสองทางคือนาย ก. มุ่งมั่นจะเอาชนะให้ได้ กับนาย ก. ไม่มั่นใจในฝีมือตัวเองเพราะถึงแม้จะระดับเดียวกัน แต่นาย ก. ยังด้อยกว่านาย ข. โดยหารู้ไม่ว่าทางด้านนาย ข. โฟกัสอยู่ที่การเอาชนะนาย ค. ที่เป็นคู่แข่งโรงเรียนอื่น และนาย ค. ก็มุ่งจะเอาชนะนาย ง. ที่เป็นแชมป์ระดับประเทศอีกที

 

 

Downward Comparison

การมองลงล่างคือขั้วตรงข้ามของ Upward ที่จะเปรียบเทียบตัวเองกับผู้ที่ด้อยกว่าหรือมองเทียบให้ผู้นั้นด้อยกว่า ไปจนถึงด้อยค่าเพื่อให้ตัวเองรู้สึกอยู่ในตำแหน่งแห่งที่และสถานะที่สูงกว่า ส่งผลให้เรารู้สึกดีขึ้นเนื่องจากเป็นการมองที่จะเพิ่ม Self-Esteem กับลดความวิตกกังวล ซึ่งจะต่างกับแบบแรกตรงที่ครอบคลุมตั้งแต่เลเวลที่คนคนนั้นอยู่สูงจริง ไปจนถึงอยู่ต่ำกว่าแต่ทำให้ตัวเองสูง

 

สำหรับเคสคาราเต้ นาย ก. อาจรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งก็จริง แต่เมื่อเขามองไปที่นาย A. เพื่อนร่วมคลาสสายเดียวกันที่อ่อนด้อยกว่าเขาถึงแม้จะอยู่มานานกว่า กับมองที่นาย B. ที่อายุเท่ากันแต่สีของสายคาดเอวบ่งบอกระดับต่ำกว่า นั่นทำให้สถานะของนาย ก. ถูกยกสูงขึ้นมา แต่หากเขามองไปที่เด็กหญิงและเด็กชาย C. กับ D. ที่เป็นพี่น้องวัยเด็กกว่าและสายน้อยกว่า นาย ก. อาจไม่ได้รู้สึกดีนักเมื่อตัวเองต้องเปรียบเทียบกับเด็ก (หรือก็เป็นไปได้เช่นกันที่เขาจะรู้สึกดี)

 

ตัวอย่างการเปรียบเทียบประเภทนี้ที่เคยได้ยินในชีวิตจริงจากผู้ให้กำลังใจสู่ผู้กำลังท้อใจในโชคชะตาหรือฐานะ หรือผู้ที่เคยพูดออกมาด้วยตัวเองคือ “อย่าเสียใจไปเลย อย่างน้อยเราก็มีข้าวกิน ดูเด็กแอฟริกาที่อดอยากสิ แล้วลองมองดูว่าตัวเองโชคดีที่มีแค่ไหน” “นายอาจบอกตัวเองไม่เก่ง แต่รุ่นพี่คนนั้นอายุเท่าไรแล้วยังได้แค่นี้เอง” หรือ “ถึงจะเกิดมาหน้าตาไม่ดี แต่อย่างน้อยฉันก็หน้าตาดีกว่าคนนั้น”

 

ตัวอย่างเหล่านี้คือการเปรียบเทียบที่ทำงานในระดับจิตใต้สำนึกว่าคนที่ถูกเปรียบเทียบหรือคิดเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นรู้สึกอยู่ในระดับสูงกว่าในแนวตั้ง ส่งผลให้เจ้าตัวรู้สึกดีขึ้นมาได้ อาจไม่ใช่ความรู้สึกลอยตัว แต่ก็ช่วยดีดกลับจากความรู้สึกดาวน์ได้ในระดับหนึ่ง รวมไปถึงคนที่มองให้ผู้ที่อยู่สูงกว่าตนเองมีมลทินและมีข้อด้อยด้วยเช่นกัน การที่ได้รู้ว่าคนคนหนึ่งที่อาจเป็นดนดัง คนเก่ง คนหน้าตาดี มีข้อเสียที่ชวนให้หัวเราะหรือสะใจ ทำให้ผู้มองลดความอิจฉาในใจไปได้

 

Social Media Comparison ยกระดับการเปรียบเทียบด้วยการมาของโซเชียลมีเดีย

ทฤษฎีต่างๆ โดยเฉพาะทฤษฎีจิตวิทยาและจิตวิเคราะห์ล้วนแล้วแต่ต้องการการอัปเดตตามกาลเวลา เพราะโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง และการมาของโซเชียลมีเดียได้ทำให้เกิดทฤษฎีใหม่ นั่นก็คือ ‘Social Media Comparison’ หรือการเปรียบเทียบที่เกิดจากเนื้อหาในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้การเปรียบเทียบสองรูปแบบนี้รุนแรงหรือมีผลกับใจได้ง่ายกว่าเดิมและมีผลได้มากขึ้นไปอีก

 

 

ลำพังการเปรียบเทียบสามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริงอยู่แล้ว แต่การมาของ Facebook, Twitter, Instagram, TikTok และ YouTube ที่เป็นเสมือนโลกอีกใบที่ซ้อนทับกัน เปรียบเสมือนพาหนะที่ลำเลียง ‘เคสเปรียบเทียบ’ ให้ได้เห็นกันแบบจะๆ โต้งๆ ด้วยความถี่มหาศาลและทุกวี่วัน ซึ่งถึงแม้เราไม่อาจรู้ได้ว่าสิ่งที่คนอื่นโพสต์และเราได้เห็นนั้นเป็นจริงแค่ไหน หรือผ่านการตัดแต่ง คัดเลือกมาอย่างไร แต่ในมุมมองของเรามันคือของจริง และผลลัพธ์การเปรียบเทียบเกิดขึ้นจริง

 

ในชีวิตคนคนหนึ่งจะมีทั้งโมเมนต์ที่แย่ ปกติ จนถึงดี โมเมนต์ใดก็ตามที่เป็นโมเมนต์พิเศษระดับไฮไลต์หรือเป็นความดูดี (บางกรณีก็ดูแย่) บ่อยครั้งมักจะถูกคัดเลือกมาลงตามแพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงค่านิยมและแนวคิดบางอย่างที่มักจะมาพร้อมกับตัวอย่างด้วยเช่นกัน

 

ยกตัวอย่างเช่น ค่านิยมเรื่องการออกกำลังกายเพื่อให้หุ่นดี หน้าตาสวยหล่อ มีเงินซื้อของใช้แบรนด์เนม เทรดหุ้น เล่นคริปโตแล้วรวย ไปจนถึงการโพสต์ว่ามีกิจการแฟรนไชส์กี่สาขาในช่วงอายุเท่านี้ หรืออายุเท่านี้จะต้องมีบ้าน มีรถ ประสบความสำเร็จ ค้นหาตัวเองเจอแล้ว เมื่อได้เห็นตัวอย่างที่ยกมาผู้รับสารจะเกิดการพิจารณาตัวเองและเกิดการเปรียบเทียบทันที ทั้งกับคนอื่นและบรรทัดฐานที่สร้างกันมา

 

ทำให้เกิดได้ทั้งแรงบันดาลใจราวกับไฟลุกโชน และไฟที่มีน้อยอยู่แล้วยิ่งมอดดับราวกับถูกพ่นด้วยถังดับเพลิง รวมถึงสถานภาพหรือระดับของเราที่เปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ ส่งผลให้ Self-Esteem แกว่งไปมาอยู่ตลอดเวลาอย่างรวดเร็วและผกผันกับสิ่งที่ได้พบเจอ จนทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าได้

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่ทุกคนที่รู้สึกเช่นนี้ บางคนไม่ได้รู้สึกอะไรไปกับการเปรียบเทียบตนเองให้อยู่สูงกว่าหรือตำ่กว่าผู้อื่นก็มี หรือบางคนไม่แม้แต่จะนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร

 

Gratitude (ความซาบซึ้งเห็นคุณค่า) คือสิ่งที่ดีที่สุด

“หยุดเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น และเลือกที่จะมีความสุขกับชีวิตตัวเอง” Roy T. Bennett กล่าวในหนังสือ The Light in the Heart

 

นักจิตวิทยาชี้ว่าการเปรียบเทียบทั้งสองแบบคือสิ่งที่เซอร์เรียล เป็นสิ่งที่คนคิดกันไปว่าจริงและปล่อยให้มันมีอิทธิพลกับตัวเอง ถึงแม้ว่าการเปรียบเทียบทั้งสองรูปแบบในบางครั้งจะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นมาได้หรือมีข้อดีอยู่บ้าง แต่แรงสะท้อนจากการนำคุณค่าตัวเองไปพาดพิงผู้อื่นหลายๆ ครั้งก็ส่งผลลบที่ร้ายแรงอย่างที่ไม่คาดคิด ตั้งแต่สูญเสียความมั่นใจไปจนถึงสูญเสียตัวตนจนเกิดคำถามว่า ‘ไม่รู้อีกแล้วว่าเราเป็นใคร?’ ในโลกใบนี้

 

จึงเป็นเรื่องดีที่สุดที่เราจะไม่เปรียบเทียบตัวเองกับใคร และสิ่งที่ช่วยได้คือการ ‘ซาบซึ้งเห็นคุณค่า’ เพราะการซาบซึ้งเห็นคุณค่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกเดินทางสายกลาง ซึ่งเมื่อเราโฟกัสที่ตัวเราว่าเรามีดีอะไร อยากทำอะไร ทำได้ดีแค่ไหน และพัฒนาตัวเองหรือต้องทำอะไรบ้างเพื่อบรรลุเป้าหมาย เราจะ ‘เป็นตัวเอง’ ที่ไม่มองอะไรเป็นบวกหรือลบเกินไป พอใจในสิ่งที่มี และที่เรา (สามารถ) ทำได้ หรือไม่เกิดการด้อยค่าตัวเองและผู้อื่น

 

กล่าวคือความคิดเชิงบวกและโฟกัสที่ตัวเองดีที่สุด นอกจากจะเพิ่มพฤติกรรมที่ดีและ Attitude ที่ดีต่อตัวเองแล้ว ยังลด Attitude ลบๆ ความอิจฉา และลดพฤติกรรม Toxic ที่เรามีต่อผู้อื่นอันเกิดจากการเปรียบเทียบได้ด้วยเช่นกัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X